“เศรษฐกิจสูงวัย” ยังไม่ตอบโจทย์ ตลาดเศรษฐกิจโลก ?

เศรษฐกิจ
15 ต.ค. 67
11:11
54
Logo Thai PBS
“เศรษฐกิจสูงวัย” ยังไม่ตอบโจทย์ ตลาดเศรษฐกิจโลก ?

ปัจจุบัน โลกกำลังเข้าสู่สภาวะ "สังคมสูงวัย (Aging Society)" อย่างเต็มรูปแบบ มีการคาดการณ์ว่า ในคริสต์ศตวรรษที่ 21 มนุษยชาติจะมีอายุขัยเฉลี่ยที่ 71 ปี เพิ่มจากศตวรรษที่ 20 ประมาณ 2.22 เท่า

ขณะที่องค์การอนามัยโลก ชี้ว่า ภายในปี 2030 ประชากรโลกจะมีอายุอยู่ช่วงอายุ 60 ปี มากกว่า 1 ใน 6 มีจำนวนมากถึง 1,400 ล้านคนในปี 2050 และประชากรในช่วงอายุ 80 ปีขึ้นไปจะมีจำนวนมากถึง 426 ล้านคน

 

อัตราผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับจำนวนการเกิดของประชากรโลกที่ลดลง ข้อมูลของ The Lancet ระบุว่า ร้อยละ 76 ของทุกประเทศในโลกจะมีอัตราการเกิดที่ต่ำลงภายในปี 2050 เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีจะลดลงจาก 681 ล้านคนในปี 2017 เหลือ 401 ล้านคนในปี 2100

โดยธนาคารโลกพบว่า อัตราการมีบุตรของผู้หญิงลดลงจากนับจากปี 1960 เป็นต้นมา จากเดิมผู้หญิง1คน มีถึงบุตร 5 คน เปลี่ยนเป็นผู้หญิง 1 คน มีบุตร 1.5 คน ตั้งแต่ปี 2018 หรือลดลงกว่า 3.33 เท่าในช่วงเวลา 60 ปี กล่าวคือ ผู้สูงอายุจะกลายเป็น “ประชากรส่วนใหญ่” ของโลกภายในระยะเวลา 20-30 ปีนี้

ผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาทางด้านประชากรศาสตร์ การพัฒนาสังคม หรือสังคมวิทยาเพียงเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงต่อระบบตลาดและการบริโภคด้วย เมื่อสูงอายุเป็นประชากรส่วนใหญ่ของโลก ก็จะทำให้ธุรกิจและตลาดการบริโภคเปลี่ยนแปลงไปด้วย

เนื่องจากคนกลุ่มนี้ จะอายุยืนยาวเพิ่มขึ้น และมีเงินสะสม เงินบำนาญ ที่สามารถใช้จ่ายเพื่อซื้อความสะดวกสบายให้ชีวิต และถือเป็นโอกาสทองของกลุ่มนักธุรกิจ นักลงทุน รวมทั้งผู้ประกอบที่ลงทุนกับกลุ่มที่เรียกว่า Silver Economy หรือ เศรษฐกิจสูงวัย โดยทำธุรกิจที่เอื้อประโยชน์แก่ผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น

“ผู้สูงวัย” กับการเปลี่ยนแปลงตลาดการบริโภค

ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในหลายประเทศกำลังเผชิญ คือมีกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ เข้าไปแชร์ส่วนแบ่งตลาดในหลายๆ ประเภท เช่น ธุรกิจบ้านพักคนชรา (Nursing Home) ในสหรัฐอเมริกาเติบโตจาก 108,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2013 สู่ 203,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2024 หรือเติบโตกว่าร้อยละ 53.2 หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ ศูนย์พักพิง (Hospice) ศูนย์โอบอุ้ม (Assisted Living Facility) และการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่บ้าน (Home Healthcare) ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตไปในทิศทางเดียวกันที่ร้อยละ 6.7 ในแต่ละปี

ศูนย์ยุทธศาสตร์ดูแลสุขภาพแห่งชาติ ( National Center of Health Statistics) ระบุว่า ในสหรัฐฯบ้านพักคนชราของเอกชนมีมากถึงร้อยละ 70.3 และคาดว่า ธุรกืจดังกล่าวสามารถทำกำไรได้แตกต่างจากในอดตที่บ้านพักคนชรามักจะอยู่ภายใต้กำกับดูแลของรัฐ หรือเป็นสวัสดิการจากรัฐ ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายน้อยหรือไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ

โดยศูนย์ฯ ดังกล่าว สามารถรองรับผู้พักอาศัยทั้งหมดที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานรัฐบาล จำนวน 1.6 ล้านคน ขณะที่จำนวนผู้พักอาศัยจริงมีจำนวน 1.3 ล้านคน คิดเป็นอัตราส่วน 1:1.23 และบรรดาผู้ใช้บริการเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะรับบริการ “ในระยะยาว” เพิ่มขึ้น และผู้สูงวัยอายุ 65 ปีขึ้นไปต้องการที่จะได้รับการดูแลและให้บริการไปจนกว่าจะสิ้นอายุขัยถึงร้อยละ 70 จากจำนวนผู้สูงอายุวัย 65 ทั้งหมดในสหรัฐฯ

คนกลุ่มนี้ยอมจ่ายไม่อั้นเพื่อที่จะได้รับการดูแลมีอย่างต่อเนื่องขณะที่ช่วงอายุขัยยืนยาวขึ้น ภายในปี 2024 ผู้สูงวัยที่มีอายุระหว่าง 65-75 ปี จะมีกว่าร้อยละ 30.2 ของประชากรทั้งหมดในสหรัฐฯ ที่ทำเช่นนี้ได้ เพราะอัตราส่วนของการถือเงินเก็บและสินทรัพย์ในประเทศ พวกเขามีอัตราที่มากกว่าช่วงอายุอื่น ๆ

ทั้งนี้ พบว่า ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปมีเงินเก็บรวมทั้งเงินบำนาญเฉลี่ยประมาณ 400,000 ดอลลาร์/คน ไม่ต่างจากกลุ่มคนอายุ 55-64 ปี และมากกว่าวัยทำงานที่ช่วงอายุ 35-44 ปี และ 45-54 ปี มากกว่า 2-3 เท่า ถือว่า มีกำลังซื้อในระดับมหาศาลมากกว่าวัยที่สามารถหารายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่องเสียอีก

ในขณะที่อัตราการเกิดของประชากรที่ลดลง ตลาดแรงงานขาดแคลนแรงงานวัยหนุ่มสาว จึงทำให้ต้องยืดเวลาเกษียณ ของผู้สูงอายุออกไป โดยผู้สูงอายุสหรัฐฯ ต้องการที่จะทำงานต่อไปแม้จะเกษียณแล้ว และต้องการหางานประเภท Part-time ทำ เหตุผลหลัก คือ มีพร้อมทุกอย่างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเงินเก็บ หรือทรัพย์สินอื่นๆ ไม่ต้องคิดถึงความมั่นคงเหมือนสมัยหนุ่มสาว เมื่อพ้นวัยทำงาน จึงอยากทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ และทำให้มีรายได้เข้ามาด้วย

สิ่งดังกล่าว ทำให้พวกเขากลายเป็น “แรงงานและผู้บริโภค” ในเวลาเดียวกัน จากเดิมที่ใช้จ่ายเงินเก็บในปริมาณจำกัด แต่เมื่อยังคงมีรายได้ประกอบกับเงินเก็บที่อุดหนุน ทำให้การบริโภคไม่ได้สะดุด โดยการบริโภคของผู้สูงอายุจะยืนยาวอัตราไปถึงปี 2030

“Soft Power” เศรษฐกิจของกลุ่มสูงวัย”เกาหลีใต้”

มีแนวโน้มสูงว่า ผู้สูงอายุอาจมีมีอิทธิพลต่อตลาดเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง แต่ยังคงสถานะในตลาดแรงงานไว้อย่างต่อเนื่อง ไม่ต่างจากสหรัฐฯ คือ เกาหลีใต้

เมื่อเร็ว ๆ นี้ การประกวด Miss Universe Korea 2024 ไดสร้างความตกตะลึงอย่างมาก หลัง “ชเว ซุน ฮวา” วัย 81 ปี ได้เข้าร่วม ถือเป็นผู้เข้าประกวดอายุมากที่สุด นับตั้งแต่จัดมา สาเหตุเพราะคณะกรรมการฯไม่ได้จำกัดอายุผู้สมัคร จากที่กำหนดไว้ เดิม 18-28 ปี โดยชเวกล่าวว่า

ที่มา: 연합

ที่มา: 연합

ที่มา: 연합

นางแบบแฟชั่นคือความฝันของดิฉัน ดิฉันมีความฝันนี้ตั้งแต่เด็ก ๆ แต่คิดว่าคงเป็นไปไม่ได้ บางคนคงจะปล่อยให้เป็นไปตามชีวิตลิขิต แต่ดิฉันไม่อาจหยุดยั้งอีโก้ของตนเองได้

ชเวเป็นอดีตผู้ใช้แรงงาน ทำหน้าที่ภรรยาและคุณแม่ลูก 2 และเป็นยายของหลาน ๆ อีก 3 คน กระทั่งอายุ 72 ปี ตอนที่เธอทำงานเป็นผู้บริบาล (Caregiver) ในสถานพยาบาล มีผู้ป่วยทักว่า เธอควรไปเป็นนางแบบ เธอจึงฝึกเดินแบบตอนกลางคืนหลังเลิกงาน และเข้าคัดเลือกโมเดลลิ่ง จนมีผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการนี้เห็นแวว จึงได้เป็นนางแบบถ่ายปกนิตยสาร และเดินแฟชั่นโชว์มากมาย

ที่มา: 연합

ที่มา: 연합

ที่มา: 연합

ชีวิตดิฉันยิงประตูได้ในครึ่งหลังของการแข่งขัน ครึ่งแรกดิฉันวิ่งพล่านไม่มีจุดหมาย แต่ครึ่งหลังทำประตูได้และได้รับชัยชนะ … หวังว่าเรื่องราวของดิฉันจะทำให้ผู้สูงอายุทุกคนได้รับแรงบันดาลใจนะคะ

เกาหลีใต้ ถือเป็นประเทศที่มีความผ่อนปรนและเปืดพื้นที่ให้ผู้สูงอายุ คิม ยอง ซอน ผู้อำนวยการสถาบัน AgeTech & Silver Economy มหาวิทยาลัยคยองฮี เปิดเผยว่า แม้ตอนนี้ภาคธุรกิจเกาหลีใต้จะหันมาจับกลุ่มตลาดผู้สูงอายุไม่มากนัก หากเปรียบเมืเทียบจำนวนและเม็ดเงินกับจีน แต่เกาหลีใต้เป็นประเทศที่ตลาดผู้สูงอายุโตเร็วที่สุดในเอเชีย หากเทียบกับจำนวนประชากร คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2030 หรือมีอัตราการเติบโตถึง 10 เท่าจากปี 2010

ที่มา: soonhwa01

ที่มา: soonhwa01

ที่มา: soonhwa01

โดยกระบวนการวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่ก้าวหน้าของเกาหลีใต้ จากงบประมาณกว่าร้อยละ 5 ของจีดีพีในแต่ละปีจะ สัมพันธ์กับการเติบโตของเทคโนโลยีและองค์ความรู้ทางการผลิตที่เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 5.1 ในแต่ละปี จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะเบนเข็มมาให้ความสำคัญต่อตลาดผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้น

ธุรกิจเกี่ยวกับกิจกรรมพักร้อนยามว่าง อาทิ การท่องเที่ยว หรือการพักผ่อนและฝึกอาชีพไปในตัว ตลอดจนที่ปรึกษาทางการเงินและกฎหมาย เหมาะกับผู้สูงอายุอย่างมาก จะทำให้เข้าใกล้ความได้เปรียบในเศรษฐกิจสูงวัยยิ่งขึ้น

ขณะที่ ยาง ซอน มุก ผู้จัดการในแวดวงธุรกิจสูงวัย เสนอว่า ผลิตภัณฑ์ความงาม วัฒนธรรมสมัยนิยม หรืออาหาร ก็ควรที่จะให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจสูงวัยเป็นหลัก เพราะการที่ผู้สูงอายุมีเพิ่มมากขึ้น ขณะที่เด็กเกิดน้อยลง แทนที่จะเป็นวิกฤต แต่สิ่งนี้คือ “ชีวิตภาคสอง” ของพวกเขาที่ในวัยหนุ่มสาวต้องผจญกับปัญหาปากท้องในช่วงที่ประเทศเกิดสงครามเกาหลีและยังติดกับดักความยากจน

ที่มา: soonhwa01

ที่มา: soonhwa01

ที่มา: soonhwa01

ผู้สูงอายุไทย ยังไม่มีงานทำ

สำหรับประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่เริ่มเข้าสู่สังคมวัยชราเช่นกัน ปี 2022 ผู้สูงอายุในประเทศ อยู่ที่ร้อยละ 19.46 จากจำนวนประชากรทั้งหมด หรือมีจำนวน 13.6 ล้านคน จากประชากร 71.7 ล้านคน

มีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2040 ผู้สูงอายุในไทยจะมีอัตราร้อยละ 31.37 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 1.62 ภายในระยะเวลาไม่ถึง 20 ปี

กรมกิจการผู้สูงอายุ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน มีผู้สูงอายุถึงร้อยละ 10.32 ที่ต้องอยู่ตามลำพัง และร้อยละ 4.67 ที่ต้องดูแลตนเอง ส่วน โดยในในปี 2021 ไทยมีผู้สูงอายุนอกกำลังแรงงานมากถึงร้อยละ 8.31 และส่วนใหญ่ผู้สูงอายุประเภทนี้อาศัยอยู่ในเขตเมือง ข้อมูลพบว่า จากอัตราการมีงานทำของผู้สูงอายุในกรุงเทพที่มีเพียงร้อยละ 22.4 เท่านั้น หรือ ในประเทศไทยส่วนใหญ่แล้วผู้สูงอายุ “ไม่ทำงานหรือไม่มีงานทำ” และยังช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ส่วนที่ทำงานได้นั้น อยู่ในภาคการเกษตรที่มีการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจต่ำ (Low Value-added Sector)

นอกจากนี้ รายได้และเงินเดือนเฉลี่ยของผู้สูงอายุที่อยู่ในภาคแรงงานยังมีแนวโน้มลดลง ในไตรมาส 3 ปี 2021 รายได้เฉลี่ยของผู้สูงอายุในภาคส่วนนี้อยู่ที่ 11,906 บาทต่อปี และแหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุที่ไม่ได้อยู่ในภาคแรงงาน อาทิ การพึ่งพารายได้จากบุตร-ธิดา ยังมีอัตราสูงถึงร้อยละ 34.7 จากรายได้ทั้งหมด

ดังนั้น ประเทศไทยจึงอาจยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากการเข้าสู่สังคมสูงอายุ แม้ขณะนี้ ผู้ประกอบหลายกลุ่มมีการลงทุน เพื่อดึงส่วนแบ่งการตลาดในการทำธุรกิจด้านสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อดึงเม็ดเงินจากกลุ่มผู้สูงวัยแล้วก็ตาม แต่อีกด้านหนึ่งการกระตุ้นการจ้างงาน การบริโภค และเงินของผู้สูงอายุไทยไม่ได้มีมากมายจากการหามาได้ด้วยตนเองเพื่อให้พอเลี้ยงชีพตนเอง

ที่มา: Our World in Data, World Health Organization, The Lancet, World Bank, Market.us Media, National Center of Health Statistics, Department of Health and Human Services, Here’s What Retirement Looks Like in America in Six Charts, How Long Do Unemployed Older Workers Search for a Job, Reuters, Nikkei Asia, กรมกิจการผู้สูงอายุ

อ่านข่าว

"สามารถ" ยืนยันไม่ใช่เสียงตัวเอง คลิป "บอสพอล" คุยนักการเมือง

"ผมยอมแพ้" บอสพอลเปิดใจ ลั่นจะชดใช้จนกว่าจะตาย

"หนุ่ม-กรรชัย" พาผู้เสียหายบุก CIB ร้อง "ดิไอคอน"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง