วันนี้ (9 ต.ค.2567) นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า เพื่อตอกย้ำศักยภาพของไทยในการเป็นฐานการผลิตยางรถยนต์ที่มีคุณภาพและมาตรฐานสูงระดับโลก ทั้งด้านความปลอด ภัย และสิ่งแวดล้อม ตามกติกาใหม่ของโลก
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
เช่น EUDR ต้องตรวจสอบย้อนกลับไปถึงการทำสวนยางที่ไม่ทำลายป่า เพื่อก้าวสู่วิถีเกษตรยั่งยืน ซึ่งไทยมีความพร้อมในเรื่องดังกล่่าว การขยายฐานผลิตยางรถยนต์ในครั้งนี้ นอกจากจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบยางธรรมชาติ และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยแล้ว ยังจะช่วยเสริมซัพพลายเชนอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยให้มั่นคงและแข็งแกร่งมากขึ้นด้วย
ล่าสุดคณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการ ได้อนุมัติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนโครงการผลิตยางล้อสำหรับรถยนต์และยานพาหนะอื่น ๆ (Radial Tires) ของบริษัท คอนติเนนทอล ไทร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ในการเพิ่มมูลค่าลงทุนอีก 13,411 ล้านบาท โดยจะก่อสร้างอาคารโรงงานใหม่และส่วนต่อขยายของโรงงานเดิม ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 จ.ระยอง
เพื่อขยายกำลังการผลิตยางล้อสำหรับยานพาหนะจากเดิม 4.8 ล้านเส้น เพิ่มอีกปีละ 3 ล้านเส้น รวมเป็นทั้งหมด 7.8 ล้านเส้นต่อปี และจะจ้างงานในพื้นที่เพิ่มเติมกว่า 600 คน เมื่อรวมกับการจ้างงานเดิม 900 คน จะเป็นทั้งหมดกว่า 1,500 คน โดยจะใช้วัตถุดิบหลักจากในประเทศทั้งสิ้น ได้แก่ ยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ ปีละกว่า 1,700 ตัน
สำหรับคอนติเนนทอลกรุ๊ป ประเทศเยอรมนี เป็นผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่อันดับ 4 ของโลก ในปี 2566 กลุ่มธุรกิจยางรถยนต์ของบริษัท สามารถสร้างรายได้กว่า 14,000 ล้านยูโร หรือกว่า 5 แสนล้านบาท มีโรงงานผลิตยางรถยนต์ 20 แห่งใน 16 ประเทศทั่วโลก ได้เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยเป็นเวลา 15 ปี และได้จัดตั้งโรงงานที่จังหวัดระยอง หนึ่งในโรงงานขนาดใหญ่ในเครือคอนติเนนทัล
และเป็นโรงงานที่สามารถบรรลุมาตรฐานประสิทธิภาพการใช้พลังงานในระดับสูงที่สุด โดยใช้เครื่องจักรสมัยใหม่ที่ประหยัดพลังงาน มีการใช้ระบบอัตโนมัติในการขนย้ายวัตถุดิบและสินค้า อีกทั้งได้ติดตั้งแผงโซลาร์ขนาด 6.7 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนถึงร้อยละ 13 ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดในโรงงาน
เลขาธิการบีโอไอ กล่าวอีกว่าการขยายลงทุนครั้งใหญ่ของคอนติเนนทอล เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์และรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยโรงงานใน จ.ระยอง จะเป็นฐานการผลิตสำคัญ เพื่อจำหน่ายยางล้อให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์และผู้ใช้งานทั่วไป
ทั้งกลุ่มรถยนต์นั่ง รถบรรทุกขนาดเล็ก รถจักรยานยนต์ รวมถึงกลุ่มยางรถยนต์เกรดพรีเมียม เช่น รุ่น MaxContact MC7 และยางสมรรถนะสูงสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าจะมีความต้องการยางล้อสมรรถนะสูงและมีความทนทานเป็นพิเศษ เพื่อรองรับระบบส่งกำลังและอัตราเร่งที่แตกต่างจากรถยนต์สันดาปภายใน โดยราคายางรถยนต์ไฟฟ้าจะสูงกว่ายางรถยนต์ทั่วไปถึง 2 - 3 เท่า
ทั้งนี้อุตสาหกรรมยางรถยนต์ เป็นองค์ประกอบสำคัญในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยานยนต์ ปัจจุบันประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกยางรถยนต์อันดับ 2 ของโลก รองจากจีน ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2563 – 2567) มีผู้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนผลิตยางรถยนต์ จำนวน 41 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 112,000 ล้านบาท
โดยมีผู้ผลิตระดับโลกที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยแล้ว เช่น มิชลิน (ฝรั่งเศส), บริดจสโตน (ญี่ปุ่น), กู๊ดเยียร์ (สหรัฐอเมริกา), คอนติเนนทัล (เยอรมนี), ซูมิโตโม รับเบอร์ (ญี่ปุ่น), โยโกฮามา ไทร์ (ญี่ปุ่น), จงเช่อ รับเบอร์ (จีน), ปริงซ์ เฉิงซาน ไทร์ (จีน), หลิงหลง (จีน), เซนจูรี่ ไทร์ (จีน), แม็กซิส (ไต้หวัน) เป็นต้น ถือว่าเป็นการตอกย้ำไทยฐานการผลิตยางรถยนต์อันดับ 2 ของโลกของไทย
อ่านข่าว:
ส่องข้อห้าม "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ" หลังเลื่อนเคาะชื่อไม่มีกำหนด
"กรุงศรี" ชี้ ศก.ไทยโต 2.4% คาดกนง.ไม่ลดดอกเบี้ยปีนี้
ก.อุตฯเล็งใช้ยาแรง สั่ง สมอ. เร่งปราบสินค้านำเข้ามาตรฐานต่ำ