ผู้ส่งออกห่วง "ข้าวไทย" ราคาร่วง อินเดียยกเลิกแบนส่งออก

เศรษฐกิจ
4 ต.ค. 67
18:23
144
Logo Thai PBS
ผู้ส่งออกห่วง "ข้าวไทย" ราคาร่วง อินเดียยกเลิกแบนส่งออก
ส.ผู้ส่งออกข้าวไทย เผย ไตรมาส 2 ปริมาณข้าวเพิ่ม ห่วงราคาข้าวร่วงแข่งขันรุนแรง หลังอินเดียยกเลิกแบนส่งออกข้าวขาว-ลดภาษีข้าวนึ่งเหลือ 10 % ทำผู้ซื้อหันสนใจข้าวจากอินเดียอีกครั้ง

วันนี้ (4 ต.ค.2567) นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า คาดว่าในช่วงไตรมาส 4 ตลาดจะกลับไปเป็นของผู้ซื้ออีกครั้งจากการที่คาดว่าอุปทานข้าวในตลาดโลกจะเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคามีแนวโน้มอ่อนตัวลง หลังจากที่รัฐบาลอินเดียได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการส่งออกโดยการปรับลดภาษีส่งออกข้าวบางชนิดรวมถึงข้าวนึ่งลงเหลือ 10% และยกเลิกคำสั่งห้ามส่งออกข้าวขาว และไม่มีภาษีส่งออก ทำให้ผู้ซื้อบางส่วนหันไปให้ความสนใจข้าวจากอินเดียอีกครั้ง และทำให้การแข่งขันในตลาดรุนแรงขึ้น

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ราคาข้าวไทยในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2567 มีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากการที่มีการแข่งขันด้านราคาในตลาดส่งออก ที่รุนแรงขึ้นหลังจากที่อินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาวได้อีกครั้ง แม้ว่าค่าเงินบาทจะยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในระดับที่แข็งค่าจากช่วงต้นปี ซึ่งทำให้ราคาข้าวของไทยในช่วงก่อนหน้านี้แพงกว่าประเทศอื่นๆที่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

ข้อมูลกรมศุลกากรการส่งออกข้าวช่วง 8 เดือนแรกของปี (ม.ค.-ส.ค.) มีปริมาณ 6,570,230 ตัน มูลค่า 152,556 ล้านบาท (4,264.7 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยปริมาณเพิ่มขึ้น 24.1% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 51.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2566 ที่ส่งออกปริมาณ 5,295,840 ตัน มูลค่า 100,717 ล้านบาท (2,959.8 ล้านเหรียญสหรัฐ)

การส่งออกข้าวในเดือนสิงหาคม 2567 มีปริมาณ 885,387 ตัน มูลค่า 20,160 ล้านบาท โดยปริมาณเพิ่มขึ้น 46.4% และมูลค่า เพิ่มขึ้น 38.5% เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2567 ที่มีปริมาณ 604,580 ตัน มูลค่า 14,560 ล้านบาท เนื่องจากในเดือนสิงหาคม 2567 การส่งออกในกลุ่มของข้าวขาว ข้าวนึ่ง ข้าวหอมมะลิ รวมทั้งปลายข้าว มีปริมาณเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน

โดยเฉพาะการส่งออกข้าวขาวไปยังตลาดหลักมีปริมาณเพิ่มขึ้น เช่น อิรัก เบนิน แคเมอรูน ฟิลิปปินส์ โมซัมบิก โกตดิวัวร์ แองโกล่า ญี่ปุ่น ส่งผลให้การส่งออกข้าวขาว มีปริมาณรวม 537,446 ตัน เพิ่มขึ้นถึง 43% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ขณะที่การส่งออกนึ่งมีปริมาณ 151,648 ตัน เพิ่มขึ้นถึง 272% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน

โดยส่งไปยังตลาดหลัก เช่น แอฟริกาใต้ เยเมน เป็นต้น ส่วนการส่งออกข้าวหอมมะลิ (ต้นข้าว) มีปริมาณ 110,554 ตัน เพิ่มขึ้น 1.4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยยังคงส่งไปยังตลาดหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง แคนาดา จีน สิงคโปร์ ฝรั่งเศส เป็นต้น

สมาคมฯคาดว่าในเดือนกันยายน 2567 จะส่งออกได้ไม่ต่ำกว่า 600,000 ตัน เนื่องจากผู้ส่งออกยังมีสัญญาบางส่วนที่ค้างมาจากเดือนก่อน ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มของข้าวขาวที่ส่งไปยังตลาดหลักในเอเชีย เช่น ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น รวมทั้งตลาดหลักในภูมิภาคแอฟริกา เช่น โมซัมบิก แคเมอรูน แองโกล่า และตลาดตะวันออกกลาง เช่น อิรัก เป็นต้น ขณะที่ตลาดนำเข้าข้าวหอมมะลิที่สำคัญยังคงมีการนำเข้าอย่างต่อเนื่อง เช่น สหรัฐฯ แคนาดา ฮ่องกง สิงคโปร์ ฝรั่งเศส เป็นต้น

ทั้งนี้ราคาข้าวขาว 5% ของไทย ณ วันที่ 2 ตุลาคม 2567 อยู่ที่ 509 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนาม อินเดีย และปากีสถานอยู่ที่ 539-543, 492-496 และ 508-512 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ตามลำดับ ส่วนราคาข้าวนึ่งไทยอยู่ที่ 521 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ข้าวนึ่งอินเดียและปากีสถานอยู่ที่ 493-497 และ 517-521 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน

นายวิทยากร มณีเนตร โฆษกกระทรวงพาณิชย์

นายวิทยากร มณีเนตร โฆษกกระทรวงพาณิชย์

นายวิทยากร มณีเนตร โฆษกกระทรวงพาณิชย์

ด้านนายวิทยากร มณีเนตร โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีอินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาว 5% ภายใต้เงื่อนไขการกำหนดราคาขั้นต่ำในการส่งออกที่ 490 เหรียญสหรัฐต่อตัน ว่า ยังถือเป็นผลดีกับตลาดข้าวโลกและข้าวไทย เพราะราคายังอยู่ในระดับที่สูง เมื่อเทียบกับช่วงปกติก่อนที่อินเดียจะประกาศไม่ส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติในปี 2565 ที่เฉลี่ย 360–370 เหรียญสหรัฐต่อตัน

สำหรับสถานการณ์ราคาข้าวในประเทศ ร่วมกับโรงสีและผู้ส่งออก พบว่า ผู้ประกอบการมีการจับตาการเปลี่ยนแปลงนโยบายของอินเดีย แต่แนวโน้มราคาได้กลับมาเป็นปกติแล้ว ไม่ต่ำลงไปมากกว่านี้

ปัจจุบัน ราคาข้าวเปลือกเจ้า ความชื้นไม่เกิน 15% อยู่ที่ 9,100–10,000 บาทต่อตัน ข้าวเกี่ยวสด ความชื้น 30% ราคา 7,000–7,750 บาทต่อตัน บางพื้นที่ ๆ ข้าวประสบปัญหาอุทกภัย จมน้ำ เร่งเก็บเกี่ยว ราคาจะลดลงมาตามคุณภาพ

สำหรับข้าวเปลือกหอมมะลิ และข้าวเปลือกเหนียว ราคายังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยข้าวเปลือกหอมมะลิ ความชื้นไม่เกิน 15% ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 16,600 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกเหนียว ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 13,900 บาทต่อตัน

อ่านข่าว:

“ทองคำ” บวก 300 บาท เงินบาทอ่อนหนุนราคาพุ่ง

กรุงศรีฯ ชี้ นักลงทุนไทยเกาะติด “คลัง-ธปท.”แก้ปัญหาบาทแข็ง

BOI ดันไทยฮับเศรษฐกิจดิจิทัล ยักษ์ไอทีปักหมุดลงทุน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง