- รู้หรือไม่ “ปลาหมอสีคางดำ” เข้ามาระบาดในไทยได้ยังไง
- ราชกิจจาฯ ประกาศห้ามครอบครอง "ปลาหมอคางดำ" กำหนดพื้นที่ระบาด
วันนี้ (25 ก.ย.2567) คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้า "ปลาหมอคางดำ" เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย แถลงสรุปผลการศึกษาหลังใช้เวลาศึกษานานกว่า 2 เดือน
ในรายงานระบุถึงประเด็นสำคัญตามที่เคยปรากฏผ่านสื่อมาแล้วคือ มีเอกชนเพียงรายเดียวที่ขออนุญาตนำเข้า ส่วน 11 บริษัทที่พบรายชื่อส่งออกระหว่างปี 2556-2559 มีรายงานจากกรมประมงว่า เป็นความผิดพลาดเรื่องการกรอกข้อมูล ไม่ปรากฏพยานหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการส่งออกปลาหมอคางดำ
ขณะที่เส้นทางการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในเขตชายฝั่งไทยในปี 2565 พบว่า โครงสร้างทางพันธุกรรมมีแหล่งที่มาร่วมกัน และล่าสุดคือผลการศึกษาดีเอ็นเอที่ระบาดในไทยมีแหล่งที่มาร่วมกันคือประเทศกานาและโกตดิวัวร์
รายงานการศึกษาทั้งหมดนี้จะถูกส่งต่อไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้อเสนอแนะไปยัง 4 กระทรวงหลักเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยกระทรวงแรกคือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เร่งกำจัด ประเมินมูลค่าความเสียหาย ศึกษาผลกระทบและเยียวยา
ต่อมาคือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีข้อเสนอแนะให้รับผิดชอบตรวจสอบข้อเท็จจริง และดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ซึ่งควรรับผิดชอบ ตาม พ.ร.บ.การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มาตรา 97
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เสนอให้วิจัยและทำโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหา ขณะที่กระทรวงมหาดไทย มีข้อเสนอให้หามาตรการบรรเทาความเดือดร้อนและเยียวยาประชาชน
แต่ในมุมมองของภาคประชาชนที่มาติดตามฟังผลการศึกษา ระบุถึงความกังวลว่า ด้วยรายงานฉบับนี้ไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย อาจะทำให้การแก้ปัญหาไม่เกิดขึ้นจริง ซึ่งข้อกังวลนี้ ประธานคณะอนุกรรมาธิการ อว. ยืนยันว่า แม้คณะอนุกรรมาธิการชุดนี้จะยุติวาระ แต่ยังติดตามความคืบหน้าผ่านการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
สำหรับคณะอนุกรรมาธิการ ตลอดระยะเวลา 2 เดือนนัดประชุมทั้งหมด 16 ครั้ง ด้วยการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง รวมทั้งลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีสภาทนายความยื่นดำเนินคดีแพ่งกับบริษัทเอกชนผู้นำเข้าปลาหมอคางดำ และคดีปกครองกับเจ้าหน้าที่รัฐ
อ่านข่าว
11 จว.เสี่ยงเจ้าพระยาระบายน้ำเพิ่ม 2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที