ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปิดท้าย ก.ย.! จับตาพายุกระทบไทย เติมฝนอีกระลอก

ภัยพิบัติ
25 ก.ย. 67
20:42
18,552
Logo Thai PBS
ปิดท้าย ก.ย.! จับตาพายุกระทบไทย เติมฝนอีกระลอก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สทนช. กำชับทุกหน่วยจับตาสถานการณ์ส่งท้ายฤดูฝนอย่างใกล้ชิด คาดพายุจะเติมฝนอีกระลอกช่วงปลาย ก.ย. เร่งบริหารมวลน้ำเหนือไหลลงสู่อ่าวไทย พัฒนาการแจ้งเตือนภัยให้ครอบคลุมเข้าถึงประชาชน

วันนี้ (25 ก.ย.2567) นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธาน
การประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี การประปานครหลวง สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

เปิดเผยว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมาจากอิทธิพลของพายุ "ซูลิก" ประกอบกับเกิดร่องมรสุมกำลังค่อนข้างแรงพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักและกระจายทั่วในหลายพื้นที่ ส่งผลให้เกิดสถานการณ์อุทกภัยทั่วประเทศ จำนวน 22 จังหวัด โดยหลายพื้นที่รัฐบาลได้เข้าช่วยเหลือฟื้นฟูกลับสู่สถานการณ์ปกติแล้ว และยังมีพื้นที่ประสบอุทกภัยอยู่อีก 14 จังหวัด 22,275 ครัวเรือน

โดยเป็นจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ 9 จังหวัด ได้แก่

  1. จ.เชียงราย (อ.แม่สาย เมืองเชียงราย และ เวียงป่าเป้า)
  2. จ.เชียงใหม่ (อ.แม่ริม และ เมืองเชียงใหม่)
  3. จ.น่าน (อ.นาน้อย นาหมื่น และ เวียงสา)
  4. จ.ลำปาง (อ.งาว เมืองลำปาง เกาะคา ห้างฉัตร แม่พริก สบปราบ เถิน แม่เมาะ วังเหนือ แม่ทะ และ แจ้ห่ม)
  5. จ.ลำพูน (อ.เมือง ป่าซาง บ้านธิทุ่งหัวช้าง และ แม่ทา)
  6. จ.แพร่ (อ.ลอง และ วังชิ้น)
  7. จ.สุโขทัย (อ.ศรีสำโรง)
  8. จ.พิษณุโลก (อ.พรหมพิราม บางระกำ และ เมืองพิษณุโลก)
  9. เพชรบูรณ์ (อ.ชนแดน)

ซึ่ง สทนช. ได้มีการจัดทำข้อมูลสถานการณ์น้ำในพื้นที่และการคาดการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำต่าง ๆ เป็นรายวัน รายงานต่อศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน เพื่อใช้บริหารจัดการสถานการณ์ในภาพรวมต่อไป

รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า ในการประชุมวันนี้ได้มีการคาดการณ์และเฝ้าระวังฝนที่จะตกลงมาเพิ่มอีก เนื่องจากพบการก่อตัวของพายุในบริเวณหมู่เกาะฟิลิปปินส์ คาดว่าจะเคลื่อนตัวไปยังเกาะไต้หวัน ถึงแม้ว่าพายุจะไม่เข้าประเทศ
ไทยโดยตรง แต่อาจส่งผลให้ในช่วงวันที่ 30 ก.ย. – 1 ต.ค.2567 เกิดฝนตกในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก

ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการประชุมศูนย์อำนวยการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคเหนือ (ลุ่มน้ำยมน่าน) พื้นที่ภาคกลาง และพื้นที่ภาคตะวันออก หน่วยงานทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่ได้วางแผนเตรียมความพร้อมในเรื่องต่าง ๆ แล้ว ได้แก่

  • เพิ่มประสิทธิภาพการคาดการณ์ฝนล่วงหน้าให้มีความแม่นยำมากที่สุด
  • การประเมินปริมาณน้ำในพื้นที่หน่วงน้ำ เช่น ทุ่งบางระกำ ทุ่งโพธิ์พระยา เพื่อเตรียมรองรับน้ำฝนที่ตกมาเพิ่ม
  • เร่งซ่อมแซมอาคารชลศาสตร์เครื่องจักรเครื่องมือ และ คันกั้นน้ำที่พังทลายในช่วงที่ผ่านมา
  • เฝ้าระวังและบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเกิดผลกระทบประชาชนน้อยที่สุด
  • เร่งระบายน้ำในแม่น้ำต่างม ๆ รวมถึงเตรียมความพร้อมในพื้นที่ริมแม่น้ำ
  • ทบทวนเกณฑ์การแจ้งเตือนสถานี Early-Warning บริเวณที่มีความลาดชันสูงให้มีความรัดกุมและทันต่อสถานการณ์
  • ทำความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์เส้นทางสัญจรที่ถูกน้ำท่วม
  • มีระบบแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เปราะบางตามริมแม่น้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เคยได้รับผลกระทบและยังไม่ได้ซ่อมแซมคันกั้นน้ำ

สำหรับสถานการณ์น้ำในช่วงวันที่ 17 – 25 ก.ย.2567 ปริมาณฝนสะสมทั่วประเทศเริ่มสูงกว่าค่าปกติร้อยละ 2 ฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา พบว่ามีปริมาณฝนสะสมสูงสุดที่ภาคเหนือ จ.แพร่ อ.วังชิ้น 342 มม. รองลงมา ได้แก่ กรุงเทพมหานคร
267 มม. ภูเก็ต 259 มม. เลย 243 มม. และ ตราด 237 มม.

แหล่งน้ำทั่วประเทศขณะนี้มีปริมาณน้ำร้อยละ 70 มากกว่าปีที่แล้วร้อยละ 7 ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เพิ่ม 3137 ล้าน ลบ.ม. โดยมีอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังน้ำมากในพื้นที่ต่าง ๆ ได้แก่ ภาคเหนือ อ่างฯ แม่งัดสมบูรณ์ชล แม่จาง และ กิ่วลม, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อ่างฯ ห้วยหลวง, ภาคตะวันออก อ่างฯ นฤบดินทรจินดา

จากการคาดการณ์ฝนตกสะสมล่วงหน้า 3 วัน พบพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยบริเวณ ภาคเหนือ ได้แก่ อ.วังชิ้น จ.แพร่, อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา และ อ.นครไทย จ.พิษณุโลก สำหรับภาคตะวันออก ได้แก่ อ.บ่อไร่ จ.ตราด, อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี
ส่วนภาคใต้ ได้แก่ อ.ธารโต และ เบตง จ.ยะลา

แม้จะมีการคาดการณ์ว่าปลายเดือน ก.ย. ปริมาณฝนจะเริ่มลดลง แต่ทุกหน่วยงานก็ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากสภาพภูมิอากาศมีความแปรปรวนสูงมาก หลายพื้นที่ที่เพิ่งผ่านอุทกภัยช่วงที่ผ่านมา อยู่ระหว่างการฟื้นตัว และหลายพื้นที่ยังมีความชื้นในดินสูง หากมีฝนตกเพิ่มแม้มีปริมาณไม่มาก แต่ก็จะส่งผลกระทบในพื้นที่ซ้ำได้ ในช่วงเวลานี้
ทุกหน่วยงานจึงต้องร่วมมือกันเร่งบริหารจัดการมวลน้ำจากภาคเหนือไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่าง โดยบริหารจัดการเป็นลุ่มน้ำเพื่อเก็บน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ให้เพียงพอในฤดูแล้งที่จะถึงนี้ และต้องระบายน้ำส่วนเกินลงสู่พื้นที่ตอนล่างโดยไม่กระทบต่อประชาชนในพื้นที่

ในวันนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้เสนอปรับลดการระบายเขื่อนสิริกิติ์จากเดิม 20 ล้าน ลบม./วัน เป็น 15 ล้าน ลบม./วัน
เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อท้ายน้ำ แต่ก็ยังต้องเฝ้าระวังปริมาณน้ำที่อาจเกินความจุเก็บกักได้ ในขณะที่เขื่อนเจ้าพระยา มีแผนปรับเพิ่มการระบายน้ำเพื่อรองรับมวลน้ำจากภาคเหนือ โดยปรับการระบายน้ำระหว่าง 1,500 – 2,000 ลบ.ม./วินาทีทั้งนี้ ในการปรับแผนการระบายน้ำทุกครั้งจะต้องมีการแจ้งเตือนประชาชนได้ทราบล่วงหน้าเพื่อเตรียมตัวรองรับได้ทันท่วงที

รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย

อ่านข่าวอื่น : 

11 จว.เสี่ยงเจ้าพระยาระบายน้ำเพิ่ม 2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที

คาดเที่ยงคืน-ตี 2 น้ำปิงสูงสุดไหลผ่านสะพานนวรัฐเกิน 5 เมตร

ประกาศอีกครั้ง! 7 โซนเสี่ยงน้ำปิงล้นตลิ่งคาดสูงสุด 3- 5 ทุ่ม

เหนือเตรียมรับมือ! 4 เขื่อนใหญ่ระดับน้ำล้นขั้นวิกฤต

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง