ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แนะ 120 วันศึกษากม."สมรสเท่าเทียม" ชี้ผูกพันอาญา-แพ่ง

สังคม
25 ก.ย. 67
11:56
2,906
Logo Thai PBS
แนะ 120 วันศึกษากม."สมรสเท่าเทียม" ชี้ผูกพันอาญา-แพ่ง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"จิรายุ" แนะ 120 วันประชาชน หน่วยราชการต้องเร่งประชาสัมพันธ์กฎหมาย "สมรสเท่าเทียม" ซึ่งจะบังคับใช้ 22 ม.ค.2568 ชี้มีผลผูกพันทั้งอาญาและแพ่ง รวมถึงสิทธิการจัดการสินสมรส บุตรบุญธรรม การรักษาพยาบาล

วันนี้ (25 ก.ย.2567) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 ส่งผลให้ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วัน 

นายจิรายุ กล่าวว่า ตามกรอบกฎหมาย 120 วันที่จะบังคับใช้ในวันที่ 22 ม.ค. 2568 โดยระหว่างนี้ให้ส่วนราชการทำความเข้าใจ ประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะรายละเอียดกฎหมายที่ผูกพัน ทั้งอาญาและแพ่ง เพื่อให้ประชาชนจะได้เข้าใจถึงสิทธิต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงสิทธิจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส สิทธิรับบุตรบุญธรรม สิทธิการลงนามยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย 

อ่านข่าว ราชกิจจาฯ ประกาศแล้ว "พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม" มีผล 22 ม.ค.68

สำหรับพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมมีการผลักดันมานานกว่า 22 ปี และนับจากวันที่ 21 ธ.ค.2566 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีวาระพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญ คือ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 1448 หรือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ใจความหลักสำคัญ นั้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความหลายหลายทางเพศสามารถสมรสกันได้อย่างถูกกฎหมาย โดยแก้ไขกฎหมายเดิม ที่อนุญาตให้แต่เฉพาะบุคคล "เพศชาย" กับ "เพศหญิง" จดทะเบียนสมรสได้เท่านั้น เป็นการสมรสระหว่างบุคคล 2 คน ไม่ว่าจะเพศใดก็ตาม

อ่านข่าว "กม.สมรสเท่าเทียม" ผ่านแล้ว สร้างประวัติศาสตร์ชาติแรกอาเซียน

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี

"สมรสเท่าเทียม" มีอะไรบ้าง

  • บุคคล 2 ฝ่ายทุกเพศสามารถสมรสกันได้ โดยต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป
  • สถานะเป็น "คู่สมรส" แทนคำว่า "สามีภริยา"
  • ส่วนสิทธิประโยชน์สมรสเท่าเทียม "คู่สมรส"
  • สิทธิจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส
  • สิทธิรับบุตรบุญธรรม
  • สิทธิการลงนามยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย
  • สิทธิได้รับประโยชน์ และสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส เช่น สิทธิประกันสังคม
  • สิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล

คู่รักหลากหลายทางเพศ จะได้สิทธิอะไรจากกฎหมายนี้บ้าง ?

สิทธิการได้ดูแลชีวิตของคู่รักของตน

คู่รักสามารถจัดการสิ่งต่าง ๆ ให้ได้ อาทิ การดูแลตัดสินใจเรื่องทางการแพทย์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเบิกรักษาพยาบาล การตัดสินใจสำคัญทางการแพทย์ในกรณีที่คน ๆ นั้นไม่สามารถตัดสินใจด้วยตัวเองได้ หรือกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต อีกฝ่ายก็จะมีสิทธิในการจัดการศพได้ด้วยนั่นเอง

สิทธิในการแต่งงาน

ในอนาคตสามารถจดทะเบียนสมรสในประเทศไทยได้ รวมถึงมีกฎหมายรองรับพิธีกรรมอื่น ๆ เช่น สิทธิการหมั้น การจดทะเบียนสมรส รวมถึงการจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส รวมไปถึงการเป็นตัวแทนทางกฎหมาย สิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม และสิทธิได้รับประโยชน์จากสวัสดิการจากรัฐ (อาทิ สวัสดิการข้าราชการ รับประโยชน์ทแทนตามสิทธิประกันสังคม) นอกจากนี้ยังได้สิทธิในการขอสัญชาติอีกด้วย

สิทธิการเป็นพ่อแม่ของลูก (ตามกฎหมาย)

พรบ.สมรสเท่าเทียม คู่รัก LGBTQIA+ สามารถเป็นผู้ปกครองของบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ ทั้งนี้ ผู้รับบุตรบุญธรรมยังคงจะต้องมีอายุมากกว่าบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี

สิทธิในการหย่าร้าง

สิทธิในการแต่งงานที่เท่าเทียม นำมาซึ่งสิทธิที่เท่าเทียมกันหากคู่รักใช้ชีวิตมาจนจุดแยกจากกันด้วย โดยจะมีสิทธิในการฟ้องหย่า สิทธิในการฟ้องร้องอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่น สิทธิการเลี้ยงดูบุตร การเรียกค่าเลี้ยงชีพตามแต่กรณีการหย่าร้างที่เกิดขึ้น และสิทธิในสินสมรส

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง