วันนี้ (18 ก.ย.2567) นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.พรรคประชาชน กล่าวถึงการยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยกล่าวถึงภาพรวมในการยื่นร่างของพรรคประชาชน ซึ่งเป็นการเดินคู่ขนาน คือการเร่งรัดกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับฉบับใหม่ ให้มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยโดยเร็ว
กับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา ในประเด็นที่มีความสำคัญจำเป็นเร่งด่วน โดยมีการยื่นไปแล้ว และคาดว่า จะพิจารณาในวันที่ 25 ก.ย.นี้ ร่างแก้ไขประเด็นการลบล้างผลพวงจากรัฐประหาร การยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การยกเลิกมาตรามาตรา 279 ที่เกี่ยวกับประกาศและคำสั่ง คสช. และการเพิ่มหมวดการป้องกันรัฐประหาร
ส่วนร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่กำลังดำเนินการ คือร่างแก้ประเด็นทบทวนอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ โดยมีสองประเด็นที่มีการทบทวนแก้ไข 1.อำนาจของการยุบพรรค ซึ่งจะต้องมีการยื่นร่างแก้ไข พ.ร.ป.เพื่อเกิดรูปธรรม ให้สถาบันการเมืองยึดโยงกับประชาชน นำไปสู่ทบทวนเงื่อนไขการยุบพรรค โดยจะมีร่างฉบับกลางที่เซ็นร่วมกันในกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ พร้อมกับร่างของพรรคการเมืองอื่นประกบ
2.ทบทวนอำนาจเกี่ยวกับมาตรฐานทางจริยธรรม ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วยต้องการให้ผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ สามารถปฏิบัติงานตามมาตรฐานทางจริยธรรม แต่การนำมาตรฐานทางจริยธรรม บรรจุในกฎหมายอาจเกิดปัญหาได้ เพราะเรื่องจริยธรรมเป็นเรื่องต่างคนต่างนิยาม มีความเป็นนามธรรมสูง
โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนนิยามมาตรฐานทางจริยธรรม และบังคับใช้กับทุกองค์กร เมื่อมีการยื่นเรื่องให้วินิจฉัย องค์กรที่วินิจฉัยไต่สวนคือ ศาลรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนเป็นความรับผิดรับรับผิดชอบทางการเมือง เช่น หากเกิดกรณีการแต่งตั้งบุคคลมาเป็นรัฐมนตรี จะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อกระแสสังคม ข้อวิจารณ์ทางสังคม ท้ายที่สุดก็จะส่งผลไปถึงคูหาเลือกตั้ง และ 2.การปรับปรุงจะทำภายในองค์กรของตัวเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
“สิ่งที่เรามองว่าเป็นปัญหาคือ การนำเรื่องที่เป็นนามธรรม ในจริยธรรมกำหนดไว้ในตัวบทกฎหมาย และให้อำนาจกับองค์กรกลุ่มเดียวในการนิยาม มีบทบาทหลักในการตีความวินิจฉัย สิ่งที่ต้องการเห็นคือการปรับปรุงกำกับจริยธรรม อย่างแรกมองว่า เรื่องจริยธรรมสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สิ่งสำคัญคือความรับผิดรับผิดชอบทางการเมือง” นายพริษฐ์กล่าว
นายพริษฐ์กล่าวถึงร่างแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นเดียวกันนี้ ของพรรคการเมืองอื่นว่า จะต้องดูเนื้อหารายละเอียด มองว่า หลายพรรคการเมืองเห็นปัญหาคล้ายกัน แต่แนวทางการแก้ไขอาจแตกต่าง
ตามกระบวนการในท้ายจนสุด ทุกพรรคการเมืองยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ก็จะไปจบที่การพิจารณาร่วมกันในที่ประชุมรัฐสภา หากภาพรวมเห็น ปัญหาตรงกันแต่แตกต่างกันในรายละเอียดวิธีที่ต้องแก้ มองว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะรับประกัน และถกเถียงเพิ่มเติมในชั้นกรรมาธิการ
ส่วนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จุดยืนของพรรคประชาชนยังคงเหมือนเดิม ซึ่งเห็นต่างกับทางรัฐบาล ด้วยมองว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ผ่านมายังไม่เคยเห็นการยกเว้นการปรับปรุงเนื้อหาหมวด 1 เพียงแต่วางกรอบไว้ว่า การแก้ไขจะไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองหรือรูปแบบรัฐ ที่ผ่านมาในการจัดทำฉบับใหม่ก็มีการปรับปรุงหมวด 1-2 ไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองแต่อย่างใด
และพรรคประชาชนให้ความสำคัญเกี่ยวกับคำถามประชามติ แม้รัฐบาลจะมีจุดยืนไม่ต้องการแก้ไขเนื้อหาในหมวด1-2 แต่คำถามประชามติ ควรถามในลักษณะที่เปิดกว้าง และไม่นำเงื่อนไขดังกล่าวมากำหนดไว้ในคำถาม
หากรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ยังคงยืนยันประเด็นคำถามเดิม ซึ่งเป็นการถามสองเรื่องในคำถามเดียวกัน กังวลว่า จะเกิดความไม่ชัดเจนกับประชาชนที่เห็นด้วยในบางส่วนของคำถาม ทำให้ส่งผลไปถึงการลงประชามติ และพรรคประชาชนประเมินว่า โอกาสที่จะทำให้ประชามติผ่านความเห็นชอบลดน้อยลง
พร้อมกันนี้กล่าวถึงเสียงของสมาชิกวุฒิสภา ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นส่วนสำคัญในการเห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมหลายมาตราทุกครั้งที่ต้องได้เสียง 1 ใน 3 ของจำนวน สว. หรือ 67 คนให้ความเห็นชอบ
มองว่า หลังจากนี้ต้องมีการพูดคุยกันทุกฝ่าย และในวันที่ 25 ก.ย.นี้ จะเป็นครั้งแรกที่จะได้เห็นสภาชุดใหม่ เข้ามามีส่วนการพิจารณารัฐธรรมนูญ ต้องดูท่าทีการอภิปราย การแสดงความเห็น และการลงมติว่ามีจุดยืนอย่างไร โดยยังไม่มีการพูดคุยกันกับวุฒิสภา แต่คาดหวังว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติม ที่บรรจุระเบียบวาระไว้แล้ว ซึ่งเป็นประเด็นลบล้างผลพวงจากการทำรัฐประหารและป้องกันการทำรัฐประหารในอนาคต
รวมถึงลบล้างผลพวงคำสั่ง คสช. หวังว่า ทุกฝ่ายทางการเมือง แม้จะเห็นต่างเชิงนโยบาย แต่น่าจะอยู่ในจุดร่วมกัน รักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย และไม่ต้องการให้เกิดรัฐประหารขึ้นอีกในอนาคต
พร้อมกันนี้ประเมินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ในช่วงเวลา 3 ปี ที่เหลืออยู่ของรัฐบาล ว่า กระบวนการทำฉบับใหม่อาศัยเวลา หากเดินตามโรดแมปของรัฐบาล ที่ต้องทำประชามติ 3 ครั้ง และหนึ่งปีที่ผ่านมา ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ ทำให้เวลาถูกบีบ และตัวแปรเยอะเกินกว่าจะฟันธงได้
“กังวลใจกับความเสี่ยง หากรัฐบาลไม่วางแผนอย่างรอบคอบ อาจจะไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บังคับใช้ก่อนการเลือกตั้งครั้งต่อไป อย่างที่รัฐบาลเคยสัญญาไว้ ฝ่ายค้านไม่ได้นิ่งนอนใจ รอชมอย่างเดียวและพยายาม ยื่นข้อเสนอและ เร่งรัด กระบวนการตรงนี้ให้รัฐบาลดำเนินการโดยเร็วที่สุด” นายพริษฐ์กล่าว
อ่านข่าว : "พร้อมพงษ์" ยื่น ปธ.สภาฯ สอบจริยธรรม "บิ๊กป้อม" ขาดประชุม
อัปเดต "พายุดีเปรสชัน" ขึ้นฝั่งเวียดนาม 19 ก.ย.อีสานฝนตกหนัก