วันนี้ (12 ก.ย. 67) การประชุมร่วมรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ในการอภิปรายการแถลงนโยบายของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร โดย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.พรรคประชาชน อภิปรายโดยตั้งประเด็นว่า 1 ปีเศรษฐกิจไทยย่ำอยู่กับที่ 3 ปี เศรษฐกิจไทยจะก้าวหน้าไปทางไหน หลังบริหารประเทศมาแล้วหนึ่งปี ซึ่งเกิดความผิดหวังเสียใจที่ไม่สามารถส่งมอบนโยบายได้ เลยหวังว่านายกฯ จะใช้การแถลงนโยบายครั้งนี้เรียกคืนความเชื่อมั่นของรัฐบาลกลับมา
น.ส.ศิริกัญญา ยังกล่าวว่า ได้ตรวจการแถลงนโยบายของรัฐบาลพบว่า ไม่ได้ต่างกับนโยบายของรัฐบาลในเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งนโยบายรัฐบาลปัจจุบันยังขาดความชัดเจนตัวชี้วัดที่จะติดตามต่อ ขณะเดียวกันการกำหนดเป้าหมายไม่ชัดเจน แต่หากเทียบกับนโยบายของอดีตนายกฯที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีความชัดเจน มีเป้าหมายกรอบเวลาชัดและตรงกับนโยบายที่สัญญาไว้ก่อนเลือกตั้ง
เมื่อตรวจนโยบายหาเสียงกับนโยบายของรัฐบาลพบว่า เรื่องนโยบายพักนี้เกษตรกรได้หายไป ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทที่ไม่มีความชัดเจนเพราะรัฐบาลอ้างว่าขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจ และขอความชัดเจนว่ารัฐบาลจะทำเรื่องเงินเดือนให้ถึง 25,000 บาทหรือไม่
ส่วนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต พบว่าคำว่า "10,000 บาท" หายไป แต่มีสิ่งที่เพิ่มเติมคือรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เป็นค่าโดยสารราคาเดียวตลอดสาย
นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตว่า นโยบายของรัฐบาลไม่เหมือนกับที่หาเสียงไว้ แต่กลับเหมือน วิสัยทัศน์ของอดีตนายกฯ นายทักษิณ ชินวัตร ที่พูดไว้เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งอย่างน้อยตรงกัน 11 ประเด็นจาก 14 ประเด็นตามวิสัยทัศน์ของทักษิณ ซึ่งอาจเป็นการรีไซเคิลนโยบายของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งเหมือนที่เรียกว่า ระดับ Mirror AAA+ เช่นเรื่องหนี้บ้าน หนี้รถ
รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบในกลุ่มสินเชื่อบ้านและรถ และไม่ได้บังเอิญเพียงแค่นโยบายเดียว ยังเหมือนกันในเรื่อง เศรษฐกิจใต้ดิน จึงขอเรียกร้องให้นายกฯ มาชี้แจงรายละเอียดโครงการ และนโยบายต่าง ๆ ด้วยตนเอง เพราะต้องการเห็นนายกฯที่เป็นดาวฤกษ์ ส่องสว่างได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่เป็นดวงจันทร์
เหมือนขนาดนี้ดิฉันคิดว่ามีปัญหา ไม่ใช่ปัญหาเรื่องครอบงำ แต่เป็นปัญหาเรื่องของความรับผิดชอบ การที่ไม่รู้ว่าตกลงใคร ใครเป็นคนคิด ใครเป็นคนวางนโยบาย ทำให้การตรวจสอบทำได้ยากมาก ไม่รู้ว่าใครคือผู้กำหนดนโยบายตัวจริง ไม่รู้ว่าพอมีปัญหาต้องไปถามใครหรือเชื่อใครกันแน่ พอทำแล้วไม่รู้ว่าต้องตรวจสอบใครที่เป็นต้นทาง สุดท้ายหากเป็นแบบนี้การ ครม.เหลือแค่การประชุมแบบพิธีกรรม เรื่องใหญ่สำคัญอาจไม่ได้ถูกตัดสินใจกันบนโต๊ะที่ประชุม ครม. แต่ไปตัดสินใจมาแล้วจากที่อื่นเช่นในห้องอาหารโรงแรมต่าง ๆ ในเซฟเฮาส์
น.ส.ศิริกัญญา ยังประเมินผลงานของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา โดยตั้งข้อสังเกตว่า ข้อมูลที่ปรากฏใน Infographic ที่พรรคเพื่อไทยเผยแพร่มานั้น ถือเป็นผลงานด้วยหรือ ? เช่น การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ที่เป็นงานประจำของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, การประกาศแก้หนี้ใน-นอกระบบครบวงจร ที่เป็นเพียงการประกาศ แต่ดำเนินการยังไม่เสร็จสิ้น รวมถึงมาตรการที่หมดอายุไปแล้ว ทั้งการลดราคาพลังงาน, ราคายางพาราที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี แต่กลับไม่มีนโยบายที่กระตุ้นเศรษฐกิจให้ถึงรากหญ้า
น.ส.ศิริกัญญา ยังต้องการความชัดเจนของรัฐบาลในการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต หลังนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ ขณะดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ เคยแถลงจะแบ่งจ่าย 2 งวด และในวันที่ 15 ก.ย.นี้ ก็จะครบกำหนดวันลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิ์แล้วและรัฐบาล จะใช้เงินจากแหล่งใด และจะแจกเป็นเงินสด หรือจะยังคงแจกเป็นดิจิทัลวอลเล็ต และจะแจก 10,000 บาทหรือไม่ พร้อมแนะนำให้รัฐบาล ได้ตั้งสติต่อโครงการเรือธงของรัฐบาล
สส.พรรคประชาชนเชื่อว่า น่าจะมีมือที่มองไม่เห็นคอยสั่งการว่า จะดำเนินนโยบายให้ได้ ทั้งที่ไม่ทราบกฎหมายที่เปลี่ยนไปในรอบ 20 ปี และไม่ทราบฐานะการคลังของประเทศ จนกลายเป็นการ "เมาหมัด" จ่ายตามที่เท่ามีเงิน หรือแจกเป็นเงินสด และไปตายเอาดาบหน้าจนสุดท้ายไม่เหลือความเชื่อมั่น
พร้อมยังโทษฝ่ายค้าน ที่ทำให้โครงการต้องเปลี่ยนไปมา ทั้งที่สิ่งที่ฝ่ายค้านนำเสนอ เป็นข้อเท็จจริง และเป็นไปตามข้อกฎหมาย ทั้งการไม่สามารถกู้เงินได้, การใช้งบประมาณข้ามปีผ่านการลงทะเบียนของประชาชน
จนสุดท้ายมีการเปลี่ยนนายกฯ และไม่มีใครกล้าปล่อยให้เสี่ยงผิดกฎหมายอีก จนทำให้ 1 ปีรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ผ่านมา เป็นการสูญเปล่า และพายุหมุนทางเศรษฐกิจ ก็ได้อ่อนไปพร้อมกับความเชื่อมั่นของรัฐบาล
น.ส.ศิริกัญญา ยังแนะนำให้รัฐบาลกลับมาให้ความสำคัญกับการปฏิรูประบบราชการ เพื่อให้ศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศเติบโตตามที่คาดหวัง และพิสูจน์น้ำยา หรือศักยภาพของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย
อ่านข่าว : นายกฯ แถลงนโยบายรัฐบาลลุยดิจิทัลวอลเล็ต แก้หนี้ฟื้นเศรษฐกิจ
เปิดคำแถลงนโยบาย "รัฐบาลแพทองธาร" ต่อรัฐสภา ฉบับเต็ม
"เท้ง ณัฐพงษ์" ตั้งฉายารัฐบาล 3 นาย "นายใหญ่ นายทุน นายหน้า"