“ลุงป้อม”-“ผู้กอง” สร้างดาวคนละดวง

การเมือง
6 ก.ย. 67
16:22
248
Logo Thai PBS
“ลุงป้อม”-“ผู้กอง” สร้างดาวคนละดวง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567 ของพรรคพลังประชารัฐ เมื่อศุกร์ที่ 6 ก.ย. เป้าหมายหนึ่งเดียวชัดเจนคือ การยึดพรรคกลับมาเป็นของ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อย่างเต็มตัวอีกครั้ง

กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ถือเป็นคนในสายของ “ลุงป้อม” ทั้งหมด รวมทั้งคนหน้าใหม่ อย่าง นายวัน อยู่บำรุง เช่นเดียวกับตำแหน่งเลขาธิการพรรค นายไพบูลย์ นิติตะวัน ถือเป็นการกระชับอำนาจภายในพรรค ให้เข้มข้นอีกครั้งหนึ่ง พร้อมพันธกิจสู่การเป็นพรรคอนุรักษ์นิยมทันสมัย ไม่มีก๊กมีก๊วนแต่มีเอกภาพ

แต่จะเป็นไปตามที่ “ลุงป้อม” คาดหวังแค่ไหน เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะแม้แต่การโหวตเสียงลงคะแนนเห็นชอบร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 สส.ในกลุ่มลุงป้อม ที่กลายเป็นฝ่ายค้านเต็มตัวแล้ว กลับมีโหวตไม่เห็นด้วยเพียง 9 คน จากทั้งหมดในกลุ่มประมาณ 20 คน

เพราะโดยธรรมชาติและลักษณะของนักการเมืองไทย มักจะเลือกแนวทางมีอนาคตที่สดใสเป็นอันดับแรก ใครมีอำนาจบารมี และมีปัจจัยเกื้อกูลสนับสนุนให้ ก็พร้อมจะเลือกคนนั้นหรือพรรคนั้น กระทั่งมีคำเปรียบเปรยที่ “เจ็บจี๊ด” มาก แต่สะท้อนความจริงให้เข้าใจทั่วไป คือ “หมาตายเห็บกระโดด หนีไปเกาะตัวอื่น”

“ลุงป้อม” ก็หนีความจริงนี้ไม่พ้น เพราะเมื่อก่อนเคยรุ่งโรจน์ เป็น “บิ๊ก บราเธอร์” หรือพี่ใหญ่ ถนนทุกสายต่างมุ่งไปที่บ้านป่ารอยต่อ แต่เมื่อบารมีเสื่อมถอย บริวารเริ่มหลบหนีหน้า

แต่ด้วยความเป็น “พี่ใหญ่” ในอดีตค้ำคอ บวกกับคนรอบข้างวาดฝันตอกย้ำคิดไปไกลถึงขั้นจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะช่วงพรรคก้าวไกลถูกสั่งยุบพรรค จึงมีข่าวจะมี “งูเห่า” เลื้อยออกจากพรรคไปลงรูพรรคอื่น ซึ่งมีชื่อของพรรคพลังประชารัฐปรากฏอยู่ด้วยๆ แต่สุดท้ายเป็นฝันกลางวัน เพราะไม่มีงูเห่าเลื้อยหนีจากพรรคแม้แต่ตัวเดียว

สื่ออาวุโสบางคนถึงขั้นระบุว่า รอบข้าง “ลุงป้อม” ไม่มีนักรบเสื้อเกราะ แต่เป็นกลุ่ม “ชาวเกาะ” ที่คอยหาประโยชน์จาก “ลุงป้อม” เสียมากกว่า

การเดินหน้าต่อไปของ “ลุงป้อม” และพรรคพลังประชารัฐ นับจากนี้จึงถือเป็นความท้าทายครั้งสำคัญ เพราะจะไม่มีเฉพาะบทบาทในสภาผู้แทนฯ ในฐานะฝ่ายค้านเท่านั้น เพราะกูรูทางการเมืองหลายคนให้มุมมองที่สอดคล้องกัน คือการขับเคลื่อนนอกสภาฯ ต่างหากที่น่าจับตา

ไม่เพียงได้เห็นมือกฎหมายคนสำคัญ อย่างนายไพบูลย์ นิติตะวัน จะขยับในเรื่องข้อกฎหมาย และทวงถามคำสัญญาจากนายกฯ น.ส.แพทองธาร เรื่อง พปชร. ยังเป็นหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล

และนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นเรื่องร้องกกต. ให้ตรวจสอบ น.ส.แพทองธาร ปมถือหุ้นและลาออกจากบริษัทเอกชนกว่า 20 บริษัท ตรงตามที่ได้อ้างถึงหรือไม่ และยังขู่จะมียื่นร้องเรียนเป็นรายวัน เมื่อครม.ใหม่เข้าทำหน้าที่

สำคัญที่สุดคือการขับเคลื่อนผ่านกลไกและกระบวนการในการตรวจสอบและเอาผิดนักการเมือง ผ่านองค์กรอิสระ ไม่วง่าจะเป็น ป.ป.ช.ที่ถูกมองว่า มีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับ “ลุงป้อม” และศาลรัฐธรรมนูญ ที่เคย “น็อก” นายทักษิณ เรื่องปมถือหุ้นมาแล้ว

ยังไม่นับเพื่อนพ้องน้องพี่ทหาร ที่ในอดีตต่างเป็นสายตรง “พี่ใหญ่” แห่งบูรพาพยัคฆ์ และเครือข่ายทั้งฝ่ายการเมือง คนในเครื่องแบบ และกลุ่มทุนธุรกิจ ทำให้นักวิเคราะห์การเมืองเชื่อสอดคล้องกันว่า ความหวังจะได้เป็นนายกฯของลุงป้อมคงกลายเป็นเรื่องเพ้อฝันไปแล้ว แต่การสางแค้นหรือเอาคืน กลับถูกมองว่ายังมีโอกาสและมีความเป็นไปได้

เพราะไม่เพียงเคยถูกนายทักษิณเอาเรื่องคุยในที่ลับ มาคายในที่แจ้ง เฉพาะเรื่องเกาะโต๊ะขอตำแหน่งผบ.ทบ.เท่านั้น ในงานโชว์วิสัยทัศน์ที่ผ่านมา ยังแฉเรื่องขอเป็นประธาน ป.ป.ช.หลังเกษียณราชการอีก เสมือนเป็นการ “ตบโชว์” อีกรอบ ซึ่งเป็นเรื่องที่คนในอาชีพนายทหารจะไม่ทำกัน

แต่จะทำได้หรือไม่ อย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องลุ้นกันต่อไป เพราะความพยายามจะนำพรรค พปชร.ให้เดินหน้าต่อไป ในบริบททางการเมืองและสถานภาพของ “ลุงป้อม” ที่เปลี่ยนแปลงไป “การเข็นครกขึ้นภูเขา” ที่ว่ายากแล้ว ยังอาจยากน้อยกว่า

ขณะที่อดีต “น้องเลิฟ” ร.อ.ธรรมนัส อยู่ในสถานะได้เปรียบกว่ามาก มีกลุ่มก๊วนสส.ของตนเอง มี “แบ็คอัพ” แบบไม่ธรรมดา ยังคงเป็น สส. และเป็นสมาชิกพรรค พปชร. ไม่โดนขับออกอย่างที่ต้องการก็ไม่เป็นไร รอถึงเวลาค่อยขยับไปอยู่ค่ายใหญ่ก็ยังไม่สาย

ยิ่งเป็นคนประเภท “ใจถึง พึ่งได้ ไม่เหนียวหนึบ” เส้นทาง “ผู้กอง” จึงยังไปได้อีกไกลตราบใดที่มาตรฐานการเมืองไทยยังเป็นเช่นนี้

แต่ที่แน่ ๆ ทั้ง “ลุงป้อม” และ “ผู้กอง” ตอนนี้ได้สร้างดาวคนละดวงแล้ว

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส

อ่านข่าว :

ข่าวที่เกี่ยวข้อง