ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"6 ทุ่งรับน้ำ" พื้นที่กันชน-กักน้ำ-ระบายน้ำ ของอยุธยา

สังคม
5 ก.ย. 67
19:44
2,637
Logo Thai PBS
"6 ทุ่งรับน้ำ" พื้นที่กันชน-กักน้ำ-ระบายน้ำ ของอยุธยา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หน้าน้ำทีไรเมืองเก่า "อยุธยา" เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี ด้วยสภาพเป็นพื้นที่รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบนทั้งหมด และยังมีจุดแคบสุดของแม่น้ำที่ทำให้น้ำระบายลงไปยังทะเลอ่าวไทยในทันทีได้ยากและช้า รู้จัก 6 ทุ่งรับน้ำ พื้นที่กักชน-กักน้ำ-ระบายน้ำของอยุธยา

หลายปีที่ผ่านมา อยุธยาต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน น้ำที่ท่วมอยุธยามีสาเหตุหลายปัจจัยที่ซับซ้อน ทั้งปัจจัยธรรมชาติ เช่น สภาพภูมิศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปัจจัยที่เกิดจากมนุษย์ เช่น การใช้ที่ดิน การพัฒนาที่ไม่เหมาะสม และการจัดการน้ำที่ไม่เพียงพอ

หลากปัจจัย น้ำไหลหลากท่วม "อยุธยา" 

อยุธยาตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำของภาคกลางตอนล่างประเทศไทย ล้อมรอบด้วยลำน้ำใหญ่ 3 สาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และ แม่น้ำลพบุรี ทำให้พื้นที่เมืองเก่ามรดกโลกนี้เป็น "แอ่ง" การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทำให้ฝนตกหนักบ่อยครั้งขึ้นและรุนแรงมากขึ้น ปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำสาขาอื่น ๆ เพิ่มขึ้นอย่างมากในระยะเวลาสั้น ๆ เมื่อฝนตกหนักน้ำในแม่น้ำไม่สามารถระบายได้ทัน ทำให้เกิดการล้นตลิ่งและท่วมเข้าสู่พื้นที่ต่าง ๆ ของอยุธยา

การขยายตัวของเมือง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการเพิ่มขึ้นของประชากร ทำให้ความต้องการที่ดินเพิ่มขึ้น พื้นที่ที่เคยเป็นแหล่งรับน้ำธรรมชาติ เช่น ทุ่งนา บึง และ ป่าชุ่มน้ำ ถูกทำลายหรือถูกเปลี่ยนไปใช้งานเป็นที่อยู่อาศัยหรือพื้นที่พาณิชย์ ทำให้พื้นที่ระบายน้ำธรรมชาติลดลง เมื่อฝนตกหนัก น้ำก็ไม่สามารถซึมลงดินได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดน้ำท่วมบ่อยครั้ง

การก่อสร้าง เขื่อน ฝาย หรือการเปลี่ยนแปลงเส้นทางน้ำธรรมชาติ ก็ส่งผลกระทบต่อการไหลของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำสาขาอื่น ๆ ทำให้เกิดการสะสมของน้ำในบางพื้นที่และขาดน้ำในบางพื้นที่ เมื่อการระบายน้ำไม่เป็นไปตามธรรมชาติก็ย่อมเพิ่มโอกาสการเกิดน้ำท่วม และเมื่อเส้นทางน้ำเปลี่ยน การสะสมตะกอนดินในแม่น้ำที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติก็ตามมา ตะกอนเหล่านี้จะลดความสามารถในการระบายน้ำของแม่น้ำ รวมถึงการก่อสร้างสะพาน ถนน หรืออาคารที่ไม่ได้คำนึงถึงทางน้ำธรรมชาติ ทำให้เกิดการปิดกั้นหรือชะลอการไหลของน้ำอีกได้

รวมถึงการจัดการน้ำในประเทศไทยที่บางครั้งยังไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำที่มีมากในช่วงฤดูฝนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การปล่อยน้ำจากเขื่อนหรือการจัดการน้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา หากปล่อยน้ำจากเขื่อนมากเกินไปในระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อป้องกันเขื่อนแตก แต่จะทำให้น้ำไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่างอย่างรวดเร็ว น้ำก็ท่วมอยุธยาได้ง่ายอีก บางครั้งการบริหารจัดการน้ำท่วมของภาครัฐยังไม่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ได้ทันท่วงที เช่น การแจ้งเตือนประชาชนล่าช้า การระบายน้ำไม่เป็นไปตามแผน หรือการจัดการพื้นที่รับน้ำที่ไม่เพียงพอ 

รู้จัก 6 พื้นที่ลุ่ม "แก้มลิง" รับน้ำอยุธยา

การกำหนดและการจัดการทุ่งรับน้ำในอยุธยามีความสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันและบรรเทาความเสียหายจากน้ำท่วม ทุ่งรับน้ำเหล่านี้ทำหน้าที่เป็น "พื้นที่กันชน" ที่ช่วยกักเก็บน้ำและชะลอการไหลของน้ำ ทำให้ลดความรุนแรงของน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่เมืองและชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ต่ำ 

1.ทุ่งบางกุ่ม

ทุ่งบางกุ่มมีพื้นที่ประมาณ 83,000 ไร่ ประมาณ 132.80 ตร.กม. อยู่ในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเริงรางประมาณ 38,000 ไร่ เขตความรับผิดชอบของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโคกกะเทียม 45,000 ไร่ พื้นที่ ต.โก่งธนู ต.ดอนโพธิ์ ต.งิ้วราย อ.เมืองลพบุรี จ.ลพบุรี, ต.บ้านขล้อ ต.ตาลเอน อ.บางปะหัน ต.บางพระครู ต.พระนอน ต.แม่ลา ต.ท่าช้าง อ.นครหลวง ต.กะทุ่ม ต.มหาราช ต.น้ำเต้า ต.บางนา ต.โรง
ข้าง ต.เจ้าปลุก อ.มหาราช ต.วังแดง ต.โพธิ์เอน ต.ปากท่า อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา, ต.บ้านหลวง ต.ดอนพุด ต.ดงตะงาว อ.ดอนพุด ต.ดอนทอง อ.หนองโดน จ.สระบุรี

พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางกุ่มมีระดับความสูงของพื้นที่เฉลี่ย +2.50 ม. รพก. (เมตร ระดับน้ำทะเลปานกลาง) สภาพโดยทั่วไป รอบขอบพื้นที่ประกอบไปด้วยคันคลองชลประทาน คันกั้นน้ำ ถนน และดันนา ที่ระดับ +4.50 ม. รทก. ในช่วงหน้าน้ำหลากจะเกิดการท่วมขังของน้ำทุกปี ซึ่งในปีน้ำปกติจะเก็บกักระดับอยู่ที่ +4.50 ม. รทก. ในฤดูแล้งจะรักษาระดับน้ำในทุ่งที่ประมาณ +3.3.00 ม. รทก. ซึ่งเดิมเก็บกักอยู่ที่ +2.00 ม. รทก.มีพื้นที่ รองรับน้ำ 130 ล้าน ลบ.ม. 

ลักษณะภูมิประเทศของพื้นที่โครงการโดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มค่อนข้างต่ำอยู่ 2 ฝั่งของคลองระบายใหญ่เริงราง พื้นที่รับน้ำของโครงการมีประมาณ 296 ตร.กม. กินพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา สถิติฝนเฉลี่ยรายปีในเขตลุ่มน้ำลพบุรีประมาณ 1,133 มม. ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยของลุ่มน้ำเท่ากับ 723 ล้าน ลบ.ม.

ทุ่งบางกุ่ม

ทุ่งบางกุ่ม

ทุ่งบางกุ่ม

2.ทุ่งบางกุ้ง

ทุ่งบางกุ้ง เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำน้ำท่วมประจำมีคันคลองระบายเป็นแนวเขตปิดล้อม เก็บน้ำได้ดี มีประตูระบายน้ำบางกุ้งเป็นจุดระบายน้ำเข้า-ออก เป็นอาคารหลัก และยังมีท่อระบายน้ำหางกระเบนเหนือเป็นตัวเสริม 

พื้นที่ทุ่งบางกุ้งส่วนใหญ่จะติดกับคลองระบายน้ำต่าง ๆ เริ่มทำการปลูกข้าวนาปรังในเดือนมกราคม โดยสูบน้ำจากคลองระบายน้ำขึ้นมาหล่อเลี้ยงต้นข้าว ใช้พันธุ์ข้าวอายุ 3-4 เดือน เก็บเกี่ยวประมาณเดือนปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม แล้วเริ่มทำข้าวนาปีและเก็บเกี่ยวให้เสร็จภายในวันที่ 15 กันยายน จากนั้นในปลายเดือนกันยายนจะใช้รองรับน้ำจากการตัดยอดน้ำหลาก และระบายน้ำออกจากทุ่งภายในเดือนธันวาคม เพื่อพักพื้นที่และรอทำนาปรังในช่วงเดือนมกราคม สามารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง

ทุ่งบางกุ้งมีสภาพพื้นที่เป็นแอ่งกระทะ อาณาเขตพื้นที่ทุ่งครอบคลุม 7 ตำบล คือ ต.โรงช้าง ต.บางเสด็จ อ.ผักไห่ จ.อ่างทอง, ต.บ้านกุ่ม อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา, ต.บ้านใหม่ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครอยุธยา, ต.พุทเลา ต.บ้านลี่ ต.ทับน้ำ อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่ครอบคลุม ประมาณ 17,000 ไร่ โดยพื้นที่ทั้งหมดตั้งอยู่ในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามหาราช สำงานชลประทานที่ 10

ทุ่งบางกุ้ง

ทุ่งบางกุ้ง

ทุ่งบางกุ้ง

3.ทุ่งป่าโมก

ทุ่งป่าโมกเป็นที่ราบลุ่มคล้ายท้องกระทะ มีคลองธรรมชาติหลายสาย เป็นพื้นที่รับน้ำนองจากแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางหลวง (โผงเผง) และแม่น้ำน้อย มีพื้นที่รับน้ำทั้งหมด 50,706 ไร่ เป็นพื้นที่ทำนาซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายที่ใช้เป็นแก้มลิงธรรมชาติ 20,854 ไร่ รองรับน้ำได้ 50 ล้าน ลบ.ม. ที่ความลึกน้ำเฉลี่ย 1.50 ม. โดยจะเป็นระดับน้ำที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและเส้นทางการสัญจรทั้งสายรองและสายหลัก ลักษณะสภาพภูมิประเทศตอนบนของพื้นที่เป็นที่ดอน ตอนกลางและตอนล่างพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มแอ่งกระทะ ในช่วงฤดูฝนน้ำจะหลากเข้าท่วมภายในพื้นที่ทางคลองบางหลวง (คลองโผงเผง) และทางแม่น้ำน้อยทำให้ช่วงปลายขอของดูฝนเกิดน้ำท่าท่วมชังในพื้นที่เป็นประจำทุกปี

ในฤดูน้ำหลากปี 2560 ระดับน้ำในแม่น้ำน้อยสูงขึ้น สาเหตุจากปริมาณน้ำที่ไหลเข้าทางคลองโผงเผงส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำน้อยสูงกว่าสันบาน ประตูระบายน้ำกุฎี, ปตร.วัดใบบัว และ ปตร.คลองตานึ่ง ส่งผลให้ระดับน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งป่าโมกเกินศักยภาพที่กำหนดไว้ ทำให้เส้นทางการสัญจรบางสายและบ้านเรือนของประชาชนเกิดความเสียหาย

ทุ่งป่าโมก

ทุ่งป่าโมก

ทุ่งป่าโมก

4.ทุ่งผักไห่

ทุ่งผักไห่อยู่ในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผักไห่ มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของ อ.ผักไห่ อ.บางช้าย อ.บาลบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ฝั่งขวาของแม่น้ำน้อยคิดเป็นพื้นพื้นที่ทุ่งรับน้ำประมาณ 124,879 ไร่ บริเวณด้านใต้ของทุ่งมีคลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน เชื่อมระหว่างแม่น้ำน้อยกับแม่น้ำท่าจีน ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร

ทุ่งผักไห่มีพื้นที่ลักษณะลุ่มต่ำแอ่งกระทะ มีระดับดินเฉลี่ยในช่วง +1.50 ถึง +2.00 ม.รทก. ในขณะที่คันคลองชลประทานโดยรอบพื้นที่มีระดับ +4.50 ถึง +5.50 ม.รทก. เมื่อถึงช่วงฤดูฝนของทุกปีถ้าระดับน้ำในแม่น้ำน้อยสูงกว่าคันป้องกันจะทำให้น้ำลันคันคันป้องกันเข้าสู่พื้นที่ ดังนั้น จึงทำให้ทุ่งผักไห่เป็นพื้นที่รับน้ำตามธรรรมชาติไปโดยปริยาย

ทุ่งผักไห่

ทุ่งผักไห่

ทุ่งผักไห่

5.ทุ่งบางบาล-บ้านแพน

ทุ่งบางบาล-บ้านแพน เป็นเกาะพื้นที่ราบลุ่มผืนใหญ่ล้อมรอบด้วยแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขต อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และมีพื้นที่บางส่วนอยู่ในเขต อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยาและ ต.โผงเผง อ.บางบาล จ.อ่างทอง รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 34,690 ไร่ ทุ่งบางบาล-บ้านแพน มีแม่น้ำล้อมรอบ 2 สาย โดยเริ่มตั้งแต่คลองโผงเผง (บางหลวง) ไหลลงทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปบรรจบกับแม่น้ำน้อยที่ อ.เสนา จากนั้นก็ไหลเรื่อยมาจนถึง อ.บางไทร ซึ่งเป็นสถานที่แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อยบรรจบกัน 

พื้นที่ทุ่งบางบาล-บ้านแพน อยู่ในเขตรับผิดขอบของฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางบาล สำนักงานชลประทานที่ 10 เป็นพื้นพื้นที่ทำนาที่เป็นพื้นที่เป้าหมายในการใช้เป็นทุ่งรับน้ำ 33,230 ไร่ แบ่งเป็น ทุ่งบางบาลมีพื้นที่รับน้ำ 27,450 ไร่ กําหนดความลึกระดับน้ำเฉลี่ยในพื้นที่ 2 เมตร
ส่วนทุ่งบ้านแพนมีพื้นที่รับน้ำประมาณ 5,780 ไร่ กําหนดความลึกระดับน้ำเฉลี่ยในพื้นที่ 2 เมตร รวมทั้ง 2 ทุ่งรองรับน้ำได้ 107 ล้าน ลบ.ม. 

ทุ่งบางบาล-บ้านแพน

ทุ่งบางบาล-บ้านแพน

ทุ่งบางบาล-บ้านแพน

6.ทุ่งเจ้าเจ็ด

ทุ่งเจ้าเจ็ดดมีลักษณะของพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นลุ่มต่ำแอ่งกระทะ อยู่ในเขตโครงการส่งน้ำและบํารุงรักษาเจ้าเจ็ด สํานักงานชลประทานที่ 11 มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของ อ.เจ้าเจ็ด อ.บางซ้าย อ.เสนา อ.บางไทร อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา, อ.สองพี่น้อง และ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ฝั่งขวาของแม่น้ำน้อยและฝั่งซ้ายของแม่น้ำท่าจีน คิดเป็นพื้นที่ทุ่งรับน้ำประมาณ 350,000 ไร่

ด้านใต้ของทุ่งมีคลองพระยาบรรลือเป็นแนวเขต เชื่อมระหว่างแม่น้ำน้อยกับแม่น้ำท่าจีน ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร โดยทุ่งเจ้าเจ็ดมีลักษณะเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำแทบจะทั้งพื้นที่ และเป็นพื้นที่ที่อยู่ด้านท้ายของแม่น้ำน้อย มีแม่น้ำและคลองล้อมรอบ ทุ่งเจ้าเจ็ดมีความจุรองรับน้ำหลากได้ 560 ล้าน ลบ.ม.

ทุ่งเจ้าเจ็ด

ทุ่งเจ้าเจ็ด

ทุ่งเจ้าเจ็ด

ทำไมต้องมี "ลุ่มรับน้ำ" 

ลุ่มรับน้ำ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ลุ่มน้ำ คือพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่ทำหน้าที่รวบรวมน้ำจากฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภูเขา ป่าไม้ ทุ่งหญ้า หรือพื้นที่การเกษตร เป็นแหล่งกักเก็บและจัดการน้ำตามธรรมชาติ และไหลรวมกันสู่แหล่งน้ำหลัก เช่น แม่น้ำ ลำธาร ทะเลสาบ หรือมหาสมุทร ช่วยลดการไหลบ่าของน้ำที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วม ลุ่มน้ำที่มีการจัดการดีจะช่วยลดผลกระทบจากฝนที่ตกหนักและพายุ และยังทำหน้าที่จัดหาน้ำให้กับการเกษตรและอุตสาหกรรมที่ต้องใช้น้ำจำนวนมาก เช่น การปลูกข้าว การประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมต่าง ๆ 

ลุ่มน้ำยังเป็นที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์หลายชนิด รวมถึงพืชพรรณท้องถิ่นที่มีความสำคัญทางระบบนิเวศ พื้นที่ป่าภายในลุ่มน้ำทำหน้าที่เป็น "ตัวกรองธรรมชาติ" สามารถดักจับตะกอน สารพิษ และสารเคมีจากการเกษตรหรืออุตสาหกรรมที่อาจไหลลงสู่แหล่งน้ำ ช่วยให้แหล่งน้ำสะอาดและปลอดภัยสำหรับการใช้งานของมนุษย์และสัตว์

ในปัจจุบัน ลุ่มน้ำหลายแห่งถูกใช้เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ (Hydropower) โดยการสร้างเขื่อนหรือโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ใช้กระแสน้ำในการหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดและยั่งยืน และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญ สร้างรายได้และส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่น หลายชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตลุ่มน้ำ สะท้อนถึงบทบาทสำคัญในวัฒนธรรมและประเพณีของชุมชนท้องถิ่น เช่น การประมง พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับน้ำ และการดำรงชีพในรูปแบบต่าง ๆ

ปัญหา-ความท้าทาย การจัดการ "ลุ่มรับน้ำ"

  1. การเสื่อมโทรมของลุ่มน้ำ อันเนื่องจากการตัดไม้ทำลายป่า การขยายตัวของชุมชนและพื้นที่เกษตร และการใช้สารเคมีในเกษตรกรรม ทำให้ลุ่มน้ำเสื่อมโทรม คุณภาพน้ำลดลง และส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ
  2. การจัดการน้ำที่ไม่ยั่งยืน เป็นการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้สูญเสียน้ำในการชลประทาน การระบายน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำ และการสร้างเขื่อนที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ 
  3. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฝนตกหนัก น้ำท่วมบ่อยครั้ง ภาวะภัยแล้งที่รุนแรงขึ้น ทำให้การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนมากขึ้น

ที่มา : การบริหารจดการน้ำและการประเมินผลสัมฤทธิ์การใช้พื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

อ่านข่าวอื่น :

จ่อแก้มาตรฐานทางจริยธรรม “ของแสลง” นักการเมือง

นายกฯ ชี้ใช้คำแรงไป "ครม.สืบสันดาน" ย้ำตั้งใจทำงาน

จับตา 3 ปัจจัยเสี่ยงน้ำท่วม กรมชลฯ เล็งเพิ่มระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยารับฝน ก.ย.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง