ก๊งเดือดระวังดับ! เตือนสิงห์ยาดอง คุณอนันต์-โทษมหันต์

สังคม
26 ส.ค. 67
17:54
2,314
Logo Thai PBS
ก๊งเดือดระวังดับ! เตือนสิงห์ยาดอง คุณอนันต์-โทษมหันต์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ยาดอง หรือที่บางครั้งเรียกว่า "เหล้ายาดอง" เครื่องดื่มที่ผสมระหว่างแอลกอฮอล์ สมุนไพรและเครื่องเทศ มีรสชาติและกลิ่นเฉพาะตัว เป็นที่นิยมในหลายประเทศย่านเอเชีย ด้านวัฒนธรรมและเพื่อสุขภาพ แต่ควรดื่มด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้เกิดผลกระทบและอันตรายถึงชีวิต

"ยาดอง" ไม่ใช่เครื่องดื่มหน้าใหม่ในวงการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่เป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมในกลุ่มนักดื่มหน้าใหม่ไปจนถึงนักดวดรุ่นลายคราม หรือที่เรียก "สิงห์ยาดอง" ซึ่งหลายคนมักมี "เรื่องเล่าขาน" บอกต่อเป็นประวัติยาวนาน ก่อนเข้าสู่วงการ "จักรวาลยาดอง" และมีการใช้ในหลากหลายวัฒนธรรมทั่วโลก จุดประสงค์หลัก ๆ ก็เพื่อบำรุงร่างกายให้ กระฉับกระเฉง กระชุ่มกระชวย คลายอาการปวดเนื้อปวดตัว 

ประวัติศาสตร์ยาดองในประเทศไทยและจีน การดองสมุนไพรในเหล้าหรือสุรา เป็นส่วนหนึ่งของประเพณีโบราณ มักใช้เพื่อบำรุงร่างกายและช่วยในการรักษาอาการเจ็บป่วยทั่วไป เป็นส่วนหนึ่งของการแพทย์ทั้งไทยและจีนแผนโบราณ สมุนไพรไทยที่นิยมใช้ ได้แก่ ม้ากระทืบโรง สาวร้อยผัว โด่ไม่รู้ล้ม เป็นต้น 

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ส่วนเกาหลี ยาดองที่รู้จักกันในนาม "โซจู (Soju)" เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ท้องถิ่น มักใช้ผลไม้หรือสมุนไพรมาดองเพื่อเพิ่มคุณค่าและรสชาติ โซจู ไม่นับเป็นเครื่องดื่มทางการรักษา แต่เป็นเครื่องดื่มที่บ่งบอกถึงความสำคัญในวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น เช่นเดียวกับ "โยเมชู (Yomeishu)" และ เหล้าบ๊วยที่รู้จักกันดีในนามของฝาก "อุเมชู (Umeshu)" ก็ถือเป็นยาดองที่เป็นส่วนหนึ่งของประเพณีและพิธีกรรมที่มีคุณค่าในวัฒนธรรมญี่ปุ่น

ส่วนยาดองในยุโรปนั้น ไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่ากับในเอเชีย แต่ยังพอได้เห็นการใช้สมุนไพรมาผลิตเหล้าที่มีคุณสมบัติทางยาอยู่บ้าง 

ยาดอง เป็น "ยา" หรือไม่ ?

พท.ป.ชนทัต อังกนะภัทรขจร (แพทย์แผนไทยประยุกต์) หรือ "หมอขลุ่ย" คลินิกการแพทย์แผนไทยหม่อมราชวงศ์สอาด ทินกร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญแพทย์แผนไทยให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสออนไลน์ไว้ว่า "ยาดอง" นับเป็น "ยา" สำหรับการรักษาแผนไทย 

ยาดอง ชื่อก็บอกว่า ยา แปลว่าต้องไม่สบายแล้วจึงเข้ารับการรักษา

ในหลักสูตรการดองยาตามหลักแพทย์แผนไทย จะใช้ "เครื่องยา" ดองกับน้ำ 4 อย่าง ได้แก่ เหล้า, น้ำผึ้ง, น้ำมะกรูด และ น้ำเกลือ ซึ่งเป็นสูตรที่ใช้กันมามากกว่าพันปีแล้ว ในไทยจะยึดตามสูตรในคัมภีร์แพทย์แผนไทย สมุฏฐานโรค และ คัมภีร์กระษัย ไม่มีการดัดแปลงสูตรการทำยาดองแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องเข้าใจว่าร่างกายหรือธาตุหลัก ธาตุรองของผู้เข้ารับการรักษาเป็นแบบใด แล้วจึงปรุงยาดองให้เข้ากับผู้ไข้ผู้นั้น

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ถ้าพื้นฐานคนไข้เป็นคนธาตุไฟ การปรุงยาดองเพื่อรักษาก็ต้องเลี่ยงการใช้เหล้า และสมุนไพรฤทธิ์ร้อน ต้องเปลี่ยนมาใช้น้ำมะกรูดที่มีรสเปรี้ยว และสมุนไพรฤทธิ์เย็น ดองยาให้แทน

เตือนสายก๊ง "ยาดอง" อย่ากินเอาเมา

เมื่อกล่าวถึง "ยาดอง" หลายคนมักคิดถึงโหลแก้วที่มีฝาปิดเป็นผ้าสีแดงผูกเป็นจุก ตัวโหลแปะกระดาษเขียนชื่อสมุนไพรที่นำมาดองกับเหล้าต่าง ๆ วางเรียงรายตาม "ซุ้มยาดอง" พท.ป.ชนทัต กล่าวว่า นั่นเป็นยาดองที่ไม่ใช่ยาดองจริง ๆ เพราะสูตรทำยาดองต้องไม่ใช้สมุนไพรเพียงแค่ 1 ชนิดแล้วดองกับเหล้า

การใช้สมุนไพรชนิดเดียวนำมาดอง ถือเป็นสิ่งต้องห้าม ตามสูตรการดองยา เพราะฤทธิ์ของสมุนไพรเดี่ยว ๆ นั้นแรง ต้องใช้สมุนไพรตัวอื่นมาช่วย ทั้งเสริมฤทธิ์หรือลดทอนฤทธิ์กัน ไม่ให้ส่งผลเสียกับร่างกายผู้ใช้
ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ในอดีตเคยมีการใช้ "ดี" ของสัตว์มาดองเป็นยา แต่ปัจจุบันต้องบอกว่าแทบไม่เจอสูตรยาดองจากดีสัตว์ที่ใช้เป็นยาแล้ว เพราะผู้รู้เรื่องสัดส่วนและวิธีการดองยาจากสัตว์นั้นเริ่มลดลงเรื่อย ๆ ประกอบกับชนิดสัตว์นั้นหาได้ยากมากขึ้นและมีกฎหมายคุ้มครองสัตว์เข้ามาเกี่ยวข้อง 

ซุ้มยาดอง ถูกกฎหมายหรือไม่ ขอไม่พูดถึง แต่องค์ความรู้ในการปรุงสูตรยาดองนั้นให้ถูกตามหลักแพทย์แผนไทย ไม่ถูกแน่ ๆ 

ในปัจจุบันการรักษาผู้ไข้โดยใช้ยาดอง "หมอขลุ่ย" กำชับว่าให้ดื่ม "วันละเป๊ก" ก่อนนอนเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ดื่มมากกว่านั้น เพราะการดื่มยาดองแม้จะเพื่อการรักษา แต่หาดื่มมากเกินไปก็เหมือนการกินยา Overdose ย่อมเกิดผลเสียมากกว่าผลดี ส่วนผู้ที่ "คออ่อน" ไม่เคยกินแอลกอฮอล์มาก่อน แนะนำให้มาปรึกษาแพทย์แผนไทยโดยเฉพาะ เพื่อจัดสูตรยาให้เหมาะสมกับร่างกาย    

สุดท้ายฝากถึง "สายก๊ง" ทั้งหลายให้ดื่มยาดองเพื่อเป็นยา ไม่ใช่เพื่อการสันทนาการ อย่ากินเอาเมา กินเอามัน(ส์) เพราะสมุนไพรไทยใช่ว่าจะรักษาได้ทุกอย่าง ใช้มากเกินไปก็ก่อให้เกิดพิษต่อร่างกายได้ วิธีการดองยาของแต่ละซุ้มคงดองไม่ถึงระยะเวลาตามสูตรยา จะทำให้ผู้บริโภคไม่ได้สรรพคุณตามโหลยาดองที่เลือกก๊งได้ 

ยาดองสูตรหนึ่งต้องดองกันนานกว่า 3 เดือน ถ้าซุ้มต้องขายยาดองทุกวัน ไม่น่าจะดองได้ทัน

สิ่งที่สายก๊งจะได้ คงมีแต่เหล้า และเป็นเหล้าที่แรง เพราะตามสูตรต้องใช้มากกว่า 40 ดีกรีถึงจะดึงเอาฤทธิ์ของสมุนไพรออกมาได้ นี่ยังไม่รวมถึงซุ้มที่ใช้เหล้าเถื่อน เหล้าต้มเอง มาผสมอีกด้วย 

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ข้อมูลจากกรมสรรพสามิต การทำยาดองเพื่อขาย ซึ่งภายใต้ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ไม่มีการอนุญาตให้ทำยาดองเพื่อจำหน่ายได้ โดยแบ่งความผิดออกเป็น 2 กรณี คือ

  1. การขายยาดองที่ทำจากสุราที่เสียภาษี ผิดกฎหมายของกรมสรรพสามิต มาตรา 155 ไม่มีใบอนุญาตขาย มาตรา 157 เปลี่ยนแปลงภาชนะบรรจุสุรา และมาตรา 158 เปลี่ยนแปลงสุรา ซึ่งการจำหน่ายตาม "ซุ้มยาดอง" จะมีความผิดตามมาตราดังกล่าว เพราะไม่ได้ผ่านการตรวจสอบคุณภาพ โทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท แต่ถ้าเป็นการดองเหล้าเพื่อดื่มกินภายในบ้าน ไม่ได้ทำขาย สามารถทำได้
  2. การขายยาดองที่ทำจากสุราที่ไม่ได้เสียภาษี จะผิดกฎหมายของกรมสรรพสามิต มาตรา 191 ขายสุราที่ผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาต และมาตรา 192 ซื้อหรือครอบครองสุราที่ผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษสูงสุดปรับไม่เกิน 50,000 บาท

"ยาดอง" กินให้เป็นก็เห็นผล กินไม่เป็นก็ส่งผล

ยาดองมีข้อดีหลายประการที่ทำให้ได้รับความนิยมในหลายวัฒนธรรม โดยเฉพาะในกลุ่มที่ใช้สมุนไพรในการบำรุงร่างกายและส่งเสริมสุขภาพ 

  • เพิ่มพลังงานและความแข็งแรงให้ร่างกาย เช่น โสมและตังกุย มีคุณสมบัติช่วยเพิ่มพลังงาน ความแข็งแรง และช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวจากความอ่อนล้า
  • เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน สมุนไพรบางชนิดที่ใช้ในยาดองมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
  • ช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหาร บรรเทาอาการท้องอืด บรรเทาอาการแน่น ขับลม ท้องเช่น ขิงหรือกระชาย
  • ปรับปรุงการไหลเวียนโลหิต สมุนไพรบางชนิดในยาดองมีคุณสมบัติในการขยายหลอดเลือดและช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิต ลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • บรรเทาอาการปวดเมื่อย เช่น โกฐจุฬาลัมพา หรือขมิ้นชัน ช่วยลดการอักเสบ บรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อต่อ สำหรับผู้ที่ออกกำลังกายหนักหรือทำงานที่ใช้แรง ยาดองบางชนิดช่วยฟื้นฟูร่างกายและบรรเทาความเมื่อยล้า
  • บรรเทาความเครียดและช่วยให้นอนหลับดีขึ้น เช่น ใบเลี่ยงผา หรือ ดอกคาโมมายล์
ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ข้อเสียหรือโทษของการดื่ม "ยาดอง"

  • ผลกระทบต่อสุขภาพ เพราะการบริโภคแอลกอฮอล์มากเกินไปอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ เช่น โรคตับ โรคหัวใจ และระบบย่อยอาหาร รวมถึงการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งบางชนิด และอาจนำไปสู่การเสพติดแอลกอฮอล์จนเป็นโรคเรื้อรังได้
  • ผลข้างเคียงจากสมุนไพรและเครื่องเทศที่ใช้ในยาดองอาจมีผลข้างเคียงต่อร่างกายผู้ใช้ เช่น การแพ้ หรือการมีปฏิกิริยากับยาอื่น ๆ ยิ่งการบริโภคสมุนไพรในปริมาณมากอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์
  • ปัญหาในการผลิตและคุณภาพที่อาจเกิดการปนเปื้อน ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ใช้สมุนไพรหรือเครื่องเทศที่มีคุณภาพต่ำ อาจลดประสิทธิภาพสรรพคุณยาดอง และเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพ
ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ข้อควรระวัง

สตรีมีครรภ์และให้นมบุตร ไม่ควรดื่มยาดองหรือบริโภคแอลกอฮอล์ อาจส่งผลกระทบต่อทารก และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคตับ โรคหัวใจ หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบย่อยอาหาร ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเหล้ายาดอง และควรปรึกษาแพทย์แผนไทยหากต้องการใช้ยาดอง

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

อ่านข่าวเพิ่ม :

คุมฝากขัง 2 พี่น้อง "ผสมเหล้าเถื่อน" ขยายผลโรงงานลาดกระบัง

ต้องรู้! "เมทานอล" จากยาดอง-เหล้าเถื่อน อันตรายถึงตายได้

คลัสเตอร์ "ยาดองเถื่อน" เสียชีวิตเพิ่ม 1 คน ป่วย 25 คน

ตาย 1 เซ่นพิษเหล้าเถื่อน หามส่งโรงพยาบาลอีกเกือบ 20 คน

สั่งปิด 18 ร้านสุราเถื่อน หลังเสียชีวิต 1 ยังนอน รพ. 20 อาการโคมา 1

ข่าวที่เกี่ยวข้อง