ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ส่ง "เตียว ฮุยฮวด" ผู้ร้ายข้ามแดน กลับจีนรับโทษ "คดีฟอกเงิน"

อาชญากรรม
22 ส.ค. 67
15:44
1,198
Logo Thai PBS
ส่ง "เตียว ฮุยฮวด" ผู้ร้ายข้ามแดน กลับจีนรับโทษ "คดีฟอกเงิน"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

"เตียว ฮุยฮวด" (Teow Wooi Huat) ผู้ต้องหาชาวมาเลเซีย เจ้าของอาณาจักรเอ็มบีไอกรุ๊ป ถูกส่งตัว "ผู้ร้ายข้ามแดน" กลับไปดำเนินคดีที่จีนในคดี "ฟอกเงิน" แล้ว เมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา ในข้อหาจัดตั้งองค์กรที่ชักจูงและประกอบสินค้าขายตรง แอบอ้างเป็นธุรกิจการให้บริการ โดยให้ผู้เข้าร่วมชำระเงินค่าบริการหรือสินค้าเพื่อเข้าเป็นสมาชิกที่มีลักษณะแชร์ลูกโซ่ที่ประเทศจีน ถูกจับตามหมายแดงอินเตอร์โพลข้อหาฟอกเงิน นำตัวส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้กับประเทศจีน ตามคำสั่งอัยการสูงสุด

รายงานจาก กองการต่างประเทศ ระบุว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปรับตัว "เตียว ฮุยฮวด" หรือ "เสี่ยว จาง" หรือ "โทนี่ เตียว" ชาวมาเลเซีย วัย 58 ปี จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เพื่อส่งตัวผู้ต้องหาให้สถานเอก อัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย ท่ามกลางการดูแลอย่างเข้มงวดของเจ้าหน้าที่จีนและไทย โดยมีการนำตัวส่งห้องควบคุมชั่วคราวที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จัดเจ้าหน้าที่ร่วมควบคุมตัวผู้ร้ายข้ามแดน และฝ่ายพิธีการเข้าเมือง อำนวยความสะดวกในการตรวจอนุญาตให้ผู้ร้ายข้ามแดนออกจากราชอาณาจักรตามคำสั่งศาล

เตียว ฮุยฮวด ผู้ต้องหาตามหมายจับคดีฟอกเงิน ของอินเตอร์โพล  ภาพเมื่อปี 2565

"เตียว ฮุยฮวด" ผู้ต้องหาตามหมายจับคดีฟอกเงิน ของอินเตอร์โพล ภาพเมื่อปี 2565

"เตียว ฮุยฮวด" ผู้ต้องหาตามหมายจับคดีฟอกเงิน ของอินเตอร์โพล ภาพเมื่อปี 2565

ปี 2563 ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.)สงขลา ได้รับหมายแดงของอินเตอร์โพลระบุ ว่า "เตียว ฮุยฮวด" กระทำความผิดในประเทศจีน ตั้งแต่ปี 2552 โดยมีการระดมทุนสร้างเครือข่ายลักษณะแชร์ลูกโซ่ เปิดบริษัทที่ประเทศมาเลเซีย สร้างแพลตฟอร์มทางการเงิน ใช้ชื่อย่อว่า MFC และ MIT มีการจัดงาน และหลอกลวงคนจีนและมาเลเซียให้เข้าสมัครเป็นสมาชิก แบ่งเป็น 8 ระดับ มีการจัดดูงานต่างประเทศ ประชุมระดับผู้นำ แล้วจะจ่ายเงินให้สมาชิกตามระดับ

นอกจากนี้ ยังมีการชักชวนให้นักลงทุนชักชวนบุคคลอื่นมาสมัครสมาชิกโดยจะต้องจ่ายค่าสมาชิกและลงทุน ซื้อสกุลเงินดิจิทัลโดยผู้ชักชวนจะได้รับคะแนนเงินรางวัล ค่าแนะนำ และสิทธิมากมายเป็นการตอบแทน และหลอกลวง ว่า บริษัท MBI ได้ร่วมลงทุนเป็นเงินจำนวน 1.5 พันล้านหยวน ในโครงการด้านการท่องเที่ยว กับรัฐบาลกุ้ยโจวในปี 2559 ทว่าข้อเท็จจริง คือ บริษัท MBI ของ "เตียว ฮุยฮวด" ไม่ได้ร่วมลงทุนด้านการท่องเที่ยวกับรัฐบาลกุ้ยโจว แต่อย่างใด

ดังนั้น เงินรายได้ของบริษัท MBI จึงมาจากการหลอกลวง ให้สมาชิกรายใหม่ร่วมลงทุนในลักษะองค์กร รูปทรงพีระมิด หรือ แชร์ลูกโซ่ โดยไม่มีการนำเงินไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนจริง ซึ่งพฤติการณ์ของ "เตียว ฮุยฮวด" กับพวกที่ร่วมกันหลอกลวงแได้เงินมาอย่างมิชอบด้วยกฎหมาย เหตุดังกล่าวเกิดระหว่างปี 2552-2563 ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน และมาเลเซีย เหตุการณ์นี้ มีคนจีนหลงเชื่อสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกจำนวนมาก มีการแจ้งความดำเนินคดี แต่ในปี 2555 "เตียว ฮุยฮวด" ได้หลบหนีการจับ กุมตำรวจเมืองฉงชิ่ง ประเทศจีน 

22 ส.ค.2565 พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล อดีตรอง ผบ.ตร. สมัยเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร. นำกำลังตำรวจ สภ.สะเดา จ.สงขลา และตำรวจตรวจคนเข้ามเมือง (ตม.)สงขลา นำหมายแดงองค์การตำรวจสากลหรือ "อินเตอร์โพล" เข้าตรวจค้นบริษัท เอ็มบีไอ จำกัด เลขที่ 888 ถนนกาญจนวณิชย์ เทศบาลตำบลสำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา จับกุม "เตียว ฮุยฮวด" พร้อมแจ้งข้อหา ความผิดฐานฟอกเงิน นำตัวไปที่ ตม.สงขลา เพื่อเพิกถอนวีซ่าการพำนักอยู่ในประเทศไทย ก่อนควบคุมตัวไปสอบสวนขยายผลต่อที่กรุงเทพฯ

16 ก.ย.2565 รัฐบาลจีน โดยสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้ยื่นคำร้องขอให้รัฐบาลไทยส่งตัว "เตียว ฮุย ฮวด" บุคคลสัญชาติมาเลเซีย เป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปดำเนินคดีที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ในความผิดฐานจัดตั้งองค์กรที่ชักจูงและประกอบการขายตรง โดยแอบอ้างเป็นธุรกิจการให้บริการ ให้ผู้เข้าร่วม ชำระเงินค่าบริการหรือซื้อสินค้าเพื่อเข้าเป็นสมาชิก ให้มีการจัดลำดับชั้น ที่มีลักษณะแชร์ลูกโซ่เพื่อขยายฐานผู้เข้าร่วมมากขึ้น เพื่อนำมาคิดคำนวณเป็นค่าตอบแทน

และมีพฤติกรรมชักชวน ข่มขู่ให้ผู้อื่นมาเข้าร่วม หลอกเอาทรัพย์สิน โดยส่งผลกระทบเศรษฐกิจและสังคม ตามประมวลกฎหมายอาญาสาธารณรัฐประชาชนจีน มาตรา 224 วรรค(1) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และโทษปรับ และหากเป็นกรณีที่มีพฤติการณ์ร้ายแรงมีอัตราโทษจำคุก 5 ปีขึ้นไป และโทษปรับ

ทั้งนี้ คำร้องดังกล่าวเป็นไปตาม สนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ความผิดตามคำร้องขอดังกล่าว กฎหมายไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนถือเป็นความผิดอาญามีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป และคดียังไม่ขาดอายุความ ทั้งมิใช่เป็นความผิดที่มีลักษณะทางการเมือง หรือ เป็นความผิดทางทหาร และมีการออกหมายจับบุคคลดังกล่าวไว้แล้ว ในประ เทศผู้ร้องขอ โดยความผิดที่ร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน เป็นความผิดตามกฎหมายไทย เทียบได้กับความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ฉ้อโกงประชาชน และชักชวนบุคคลเข้าร่วมเครือข่ายในการประกอบธุรกิจขายตรง หรือในการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง

โดยตกลงจะให้ผลประโยชน์ตอบแทน จากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าว ตามพ.ร.ก.การกู้ยืม เงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4, 5 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 พ.ร.บ.ขายตรงและการตลาดแบบตรง พ.ศ. 2555 มาตรา 19 ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป

และผู้ถูกร้องขอ ยังไม่เคยได้รับการพิจารณาหรือพิพากษาลงโทษหรือปล่อยตัวสำหรับข้อหาดังกล่าวใน ราชอาณาจักรไทยหรือสาธารณรัฐประชาชนจีนมาก่อน ทั้งทางการสาธารณรัฐประชาชนจีนยืนยัน ว่า คดียังไม่ขาดอายุความ โดยผู้ร้องขอขอให้ศาลอาญาออกหมายจับผู้ถูกร้องขอแล้ว เมื่อตำรวจจับผู้ถูกร้อง ขอได้ จึงขอให้มีคำสั่งขังผู้ถูกร้องขอไว้ เพื่อส่งข้ามแดนไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามพ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน

มีรายงานระบุ ว่า ก่อนที่จะหลบหนีเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย "เตียว ฮุยฮวด" ถูกกองบัญชาการตำรวจประเทศมาเลเซีย ดำเนินคดีอายัดทรัพย์สินตรวจสอบข้อหาทำธุรกิจแชร์ลูกโซ่ จากการขายหุ้นธุรกิจในเครือเอ็มบีไอกรุ๊ปให้กับประชาชนในมาเลเซีย และจีน มีการกระทำความผิดที่เข้าข่ายความผิดในกฎหมายแชร์ลูกโซ่ จึงทำให้ไม่กล้าเดินทางกลับประเทศมาเลเซีย

และได้ย้ายฐานมาลงทุนทำธุรกิจในประเทศไทย ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษบ้านด่านนอก ต. สำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา บนเนื้อที่กว่า 100 ไร่ มานานกว่า 10 ปี และมีบริษัทในเครือมากถึง 15 บริษัท ประกอบธุรกิจหลากหลาย ทั้งกิจการโรงแรม สถานบันเทิง สวนสนุก ตลาด ธุรกิจก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และเฟอร์นิเจอร์

นอกจากนี้ยังมีการก่อสร้างและซื้อกิจการโรงแรมระดับ 5 ดาว 6 โรงแรม และสถานบันเทิงต่าง ๆ กว่า 10 แห่ง รวมทั้งสร้างพระพิฆเนศองค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยสูงกว่า 59 เมตร มูลค่า 50 ล้านบาท และสร้างพระพรหมประดับด้วยอัญมณีมูลค่ากว่า 20 ล้านบาท ให้ประชาชนชาวไทยและนักท่องเที่ยวสักการะบูชาที่เทวสถานพระพิฆเนศบ้านด่านนอก

"เตียว ฮุยฮวด" หรือ "โทนี่ เตียว" ชาวมาเลเซีย ถือเป็นผู้ต้องหาคนสำคัญที่ทางการมาเลเซียและจีน ประสานเพื่อขอให้ไทยส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ศาลมีคำสั่งให้ส่งตัวกลับไปให้ประเทศจีนดำเนินคดี มีรายงานว่าขั้นตอนรับตัวผู้ต้องหาจากเรือนจำนำส่งประเทศจีน กระทรวงการต่างประเทศมีคำสั่งกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องการให้ข่าวที่เกี่ยวกับผู้ต้องหา

นับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา หลังจีนประกาศแผนปฏิบัติการต่อต้านการฟอกเงิน 2565-2568 โดยประสานความร่วมมือไปยังประเทศต่างๆ ที่มีนักธุรกิจเข้าไปลงทุนฟอกเงินผิดกฎหมาย โดยอ้างยุทธ ศาสตร์ "One Belt one road" ในการทำธุรกิจเพื่อขอรับการยกเว้นภาษีที่ดินจากรัฐบาลท้องถิ่นในประเทศต่าง ๆ

แต่กลับปรากฎในภายหลังว่า มีการทำธุรกิจสีเทาและผิดกฎหมาย จึงทำให้ทางการจีนต้องกวาดล้างกันอย่างเข้มข้น และ "เตียว ฮุยฮวด" อาจเป็นหนึ่งผู้ต้องหารายสำคัญ ที่ถูกนำตัวกลับไปรับโทษตามกฎหมาย

อ่านข่าว:

จับชาวเกาหลีใต้ 8 คนเปิดห้องย่านเอกมัย หลอกลงทุนแชร์ลูกโซ่

ปิดล้อมตรวจค้น 770 เครือข่ายยาเสพติด ยึดยาบ้า 11 ล้านเม็ด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง