"ลดดอกเบี้ย" อาจไม่ใช่คำตอบ แก้ภาคอสังหาฯซบเซา

เศรษฐกิจ
14 ส.ค. 67
13:21
367
Logo Thai PBS
"ลดดอกเบี้ย" อาจไม่ใช่คำตอบ แก้ภาคอสังหาฯซบเซา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ยอดขายและยอดปล่อยสินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์ สะท้อนทั้งกำลังซื้อที่ลดลง และความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อสินเชื่อใหม่ ดังนั้นเสียงเรียกร้องให้ลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อหวังช่วยกระตุ้นยอดขายให้เพิ่มขึ้น อาจไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะช่วยฟื้นธุรกิจ

การลดดอกเบี้ยจะมีทั้งผลบวกและผลลบ ถึงแม้จะมีส่วนช่วยสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนและกู้เพิ่ม แต่ผู้ประกอบการกำลังให้น้ำหนักกับผลทางลบมากกว่า เพราะขณะนี้ประชาชนกังวลต่อการก่อหนี้ระยะยาว ดังนั้น จึงอยากรัฐบาลหามาตรการกระตุ้นกำลังซื้อให้เพิ่มมากขึ้น

ปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5 % หลังมีการปรับขึ้นต่อเนื่องจากจุดต่ำสุดที่ 0.5 % ในช่วงวิกฤต โควิด-19 แต่ภาวะเศรษฐกิจขณะนี้หลายภาคส่วนอยากให้มีการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ แต่ภาคอสังหาริมทรัพย์ กลับมองว่า การลดอัตราดอกเบี้ย ส่งผลทางลบมากกว่าทางบวก

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ชี้ให้เห็นว่า ช่วงการระบาดของโควิด-19 ภาคอสังหาฯ เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจแนวราบมียอดการโอนกรรมสิทธิ์พุ่ง และมีมูลค่าตลาดอสังหาฯทั่วประเทศมากกว่า 1 ล้านล้านบาท

แต่ปัจจุบันปี 2567 ภาคอสังหาฯซบเซา แม้รัฐจะออกมาตรการกระตุ้น แต่ผู้บริโภคในประเทศขาดกำลังซื้อ หนี้เสีย NPL สูงขึ้นจากระดับ 2 % มาอยู่ที่ 6 % ทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อบ้านเพื่อป้องกันความเสี่ยงจะมีก็แต่กำลังซื้อจากต่างชาติ ที่ยังพอพยุงภาคอสังหาฯในช่วงนี้

ทั้งนี้ หากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ก็จะมีทั้งปัจจัยแง่บวก และแง่ลบ โดยปัจจัยบวกจะช่วยกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน เพิ่มความน่าสนใจดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ แต่ปัจจัยลบจะกระทบต่อความน่าสนใจของเงินฝากมีความเสี่ยงต่อภาคธนาคารและเสี่ยงกระตุ้นให้เกิดการเก็งกำไรในภาคอสังหาฯและตลาดหุ้น

ด้านนายเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.เสนาดีเวลลอปเม้นท์ มองว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันซบเซาไม่เพียงแต่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ แต่กระทบไปถึงกำลังซื้อของผู้บริโภค ซึ่งเป็นปัจจัยที่แก้ไขได้ยาก และแม้จะมีการลดดอกเบี้ยในช่วงนี้ ยังไม่ได้ช่วยกระตุ้นแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจลงทุนทำบ้านเพิ่มขึ้นหรือไม่ แต่ข้อดี คือ ช่วยให้ผู้ซื้อเก่า ผ่อนบ้านถูกลง

ขณะที่นายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า การลดดอกเบี้ย ไม่ใช่คำตอบของการแก้ปัญหา เพราะน้ำหนักของปัจจัยต่าง ๆ ในการตัดสินใจซื้อบ้านด้วยการกู้สินเชื่อ พบว่า อัตราดอกเบี้ยคิดเป็นเพียง 11 % ในน้ำหนักการตัดสินใจแต่สิ่งที่เป็นประเด็นมากกว่า คือความเชื่อมั่นในการก่อหนี้ระยะยาวของผู้ซื้อ และภาระหนี้สินของผู้ซื้อสูงมากจนไม่สามารถกู้เพิ่มได้อีกแล้ว ไม่ว่าจะลดดอกเบี้ยให้ต่ำลงเท่าไหร่ก็ตาม

นอกจากนี้ มุมมองของนายอิสระ บุญยัง ประธานกรรมการ สมาคมการค้ากลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มองว่า การลดดอกเบี้ยมีผลและสำคัญต่อผู้ซื้อบ้านใน ขณะนี้โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อย โดยวัดจากโครงการสินเชื่อบ้านดอกเบี้ยต่ำของแบงค์รัฐ เช่น ออมสิน กรุงไทย ธอส. ซึ่งปลดล็อกทำให้ผู้ซื้อที่พักอาศัยราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาทสามารถกู้สินเชื่อบ้านได้สำเร็จ หากไม่มีโครงการเหล่านี้ ก็คาดว่ากลุ่มบ้านระดับราคานี้ก็จะยังโอนกรรมสิทธิ์ยากต่อไป

อ่านข่าว : สศอ.ชี้ กำลังซื้อหด หนี้ครัวเรือนพุ่ง ดอกเบี้ยสูง ทำเศรษฐกิจซึมยาว  

อสังหาฯ ชะลอ ฉุดราคาที่ดินเปล่าร่วง “REIC” ชี้ผู้ประกอบการเมินซื้อสะสม 

ปรับมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ชุดใหญ่ ระบายสต็อกบ้าน 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง