ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เซรามิกนำเข้าจากจีนกระทบผู้ผลิต "ชามตราไก่" จ.ลำปาง

ภูมิภาค
14 ส.ค. 67
07:18
1,120
Logo Thai PBS
เซรามิกนำเข้าจากจีนกระทบผู้ผลิต "ชามตราไก่" จ.ลำปาง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปาง เรียกร้องรัฐบาลแก้ปัญหาสินค้าเซรามิกนำเข้าจากประเทศจีนที่เข้ามาตีตลาดไทย โดยมีราคาขายต่ำมาก ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการหลายแห่ง ด้าน รมว.อุตสาหกรรม เร่งออกมาตรการหวังคุมสินค้าจีน

"ชามตราไก่" สินค้าเซรามิกขึ้นชื่อของ จ.ลำปาง อีกหนึ่งธุรกิจที่กำลังได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนที่กำลังทะลักเข้าไทย ทำให้ยอดขายเซรามิกลดลง จนผู้ประกอบการหลายคนตัดสินใจชะลอการผลิต

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ยอดขายเซรามิกของ จ.ลำปางลดลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้นทุนการผลิตสูง เมื่อเทียบกับเซรามิกจากประเทศจีน ส่งผลให้โรงงานเซรามิกทั้งขนาดเล็ก และขนาดกลางกว่า 200 แห่ง ปรับลดปริมาณการผลิตลง ซึ่งส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังการจ้างงานด้วย

นายกสมาคมเครื่องปั้นดินเผา จ.ลำปาง เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการเซรามิกกำลังเผชิญสถานการณ์ย่ำแย่ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เนื่องจากสินค้าจากจีน ที่ขายบนออนไลน์ราคาถูกมาก โดยเฉพาะช่วง 2-3 เดือนมานี้ ผู้ประกอบการบางคนต้องหยุดการผลิต จึงอยากเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งแก้ปัญหา

นายกสมาคมเครื่องปั้นดินเผา จ.ลำปาง ระบุว่า สินค้าเซรามิกลำปาง ผลิตจากดินขาวชั้นดี มีคุณภาพ ได้รับเครื่องหมายสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI โดยชามตราไก่ลำปางมีต้นทุนต่ำสุดที่ 20 บาท เมื่อเทียบกับสินค้าจากประเทศจีนที่มีตั้งราคาขายต่ำสุด เพียงชิ้นละ 5 บาท ทำให้เซรามิกของไทยขายไม่ออก และปัจจุบันผู้จัดส่งสินค้าเซรามิกเองก็เริ่มเปลี่ยนไปสั่งสินค้าจากจีนมากขึ้น

สินค้าจีนตีตลาดเชียงใหม่นานกว่า 15 ปีแล้ว

สินค้าจีนที่เข้ามาตีตลาดในไทย ปัญหาหลัก ๆ คือ ราคาที่ถูกมาก ทำให้ไปตัดราคาของผู้ผลิตในประเทศไทย อนาคตถ้าสู้ไม่ไหวแล้วต้องปิดกันไปหมด อาจกลายเป็นว่าเราต้องนำเข้าสินค้าตลอดไปหรือไม่ ? แล้วรัฐจะมีมาตรการอย่างไร ก็ยังเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยยังรอคำตอบ

ออนไลน์กระทบยอดขายสินค้าร้อยละ 50 จริง ๆ แล้วสินค้าจีนเข้ามาตลาดไทยเมื่อ 15 ปีก่อน

เสียงสะท้อนของภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าจีน ที่เข้ามาตีตลาดไทย นับวันนับมีความรุนแรงมากขึ้น การเข้ามาของสินค้าจีนเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการรับรู้มาตลอด บางร้านค้าก็พยายามปรับตัว ผลิตสินค้าที่เน้นที่คุณภาพ และรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้

ด้านประธานสมาพันธ์ SMEs ไทย จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่าสินค้าจีนบุกตลาดเชียงใหม่และภาคเหนือ มีมานานกว่า 15 ปีแล้ว ส่งผลโดยตรงต่อผู้ประกอบการ SMEs ไทย ทางรอดเดียวนอกจากการปรับตัวของผู้ประกอบการ ภาครัฐต้องมีมาตรการคุ้มครอง ปกป้องธุรกิจจีนที่เข้าทุ่มตลาดสินค้า สร้างเขื่อน หรือกำแพงภาษีที่เหมาะสม และส่งเสริม SMEs ไทยให้สามารถแข่งขันกับการเข้ามาของสินค้าจีนได้

ข้อมูลจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ล่าสุด 6 เดือนแรกของปี 2567 มีการนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 7.12 คิดเป็นมูลค่าราว 1.33 ล้านล้านบาท ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าจากจีน ราว 7.2 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.66 ส่งผลกระทบกับภาคการผลิตกว่า 23 กลุ่มอุตสาหกรรม อีกทั้งยังถูกซ้ำเติมจาก Platform e-commerce ที่เข้ามาเปิดตลาดในประเทศโดยขายสินค้าจากโรงงานตรงสู่ผู้บริโภคในราคาถูก ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทย ไม่สามารถแข่งขันทั้งด้านราคา และต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าได้

สินค้าจีนเกลื่อนแผ่นดินอีสาน

การซื้อสินค้าจากจีน มีจุดอ่อนชัด ๆ อย่างน้อย 1 อย่าง คือ สั่งแล้วไม่ได้ในทันที ต้องรออย่างน้อย 1 สัปดาห์ขึ้นไป แต่ถามว่านี่เป็นสิ่งที่ทำให้หลายคนยอมรอเพื่อแลกกับการได้สินค้าราคาถูกหรือไม่ แต่ละคนคงมีคำตอบเป็นของตัวเอง ที่แน่ ๆ การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศแบบนี้ กำลังทำให้บรรยากาศของตลาดบางแห่งในภาคอีสาน เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

สภาพตลาดอินโดจีน เขตเทศบาลเมืองนครพนม แหล่งซื้อของฝาก และ สินค้าจากประเทศจีนยอดนิยมในอดีต แม้จะเป็นช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา ก็แทบจะไม่มีนักท่องเที่ยวมาเดินเลือกซื้อสินค้า ทั้งที่อยู่ห่างจากลานพญาศรีสัตตนาคราชแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของจังหวัดเพียง 100 เมตร ผู้ค้าบอกว่าตลาดอินโดจีนเคยมีร้านค้ามากกว่า 100 แห่ง แต่ปัจจุบันร้านที่ยังเปิดขายสินค้าเหลือไม่ถึงครึ่ง เพราะไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจับจ่ายเหมือนแต่ก่อน ทำให้บรรยากาศการซื้อขายค่อนข้างเงียบเหงาส่วนบรรยากาศตลาดอินโดจีน ริมถนนสำราญชายโขง ต.ศรีบุญเรือง อ.เมืองมุกดาหาร ซึ่งเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าจากประเทศไทย ลาว และ ประเทศจีน ทั้งข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือน ผ้าพื้นเมือง เซรามิก เครื่องเงิน เครื่องใช้ไฟฟ้า ขนมคบเคี้ยว และ สินค้าแฟชั่นต่าง ๆ ในช่วงวันหยุดยาวยังมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเลือกซื้อสินค้าจำนวนมาก แต่กำลังซื้อของลูกค้าลดลง หรือ เลือกซื้อสินค้าในราคาที่ไม่สูงมาก


ภาคเอกชนในพื้นที่ยอมรับว่า ได้รับผลกระทบจากแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่สามารถสั่งซื้อสินค้าจากประเทศจีนได้ โดยเฉพาะราคาที่ถูกกว่า จึงเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการดูแลผู้ประกอบการไทย ให้สามารถแข่งขัน ทั้งภาคการผลิต และภาคอุตสาหกรรม เพราะปัจจุบันไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้

สำหรับเส้นทางสินค้าจีนเข้ามาในประเทศไทยหลังจากผู้ซื้อสั่งสินค้าในแอปพลิเคชัน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะส่งสินค้ามาทางตู้คอนเทนเนอร์ทางบก ผ่านประเทศเวียดนาม ผ่านประเทศลาว เข้ามายัง จ.มุกดาหาร โดยมีปลายทางที่โกดังของผู้ประกอบการในกรุงเทพมหานคร และ ปริมณฑล จากนั้นก็เตรียมส่งให้ลูกค้าตามคำสั่งซื้อผ่านผู้ประกอบการขนส่งรายย่อย โดยขั้นตอนการส่งสินค้าใช้เวลา 5-6 วัน

"พิมพ์ภัทรา" เร่งออกมาตรการหวังคุมสินค้าจีน

พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม​ ยอมรับว่า ปัญหาสินค้าจีนทะลักเข้าไทย ทำให้ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะกลุ่ม SME มีความสามารถในการแข่งขันลดลง นำไปสู่การปิดโรงงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

จึงมอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) หามาตรการป้องกันและควบคุมมาตรฐานการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ โดยปีนี้ตั้งเป้าออกมาตรฐานควบคุมสินค้ามากกว่า 1,400 ประเภท แต่ต้องยอมรับการควบคุมมาตรฐานสินค้าอาจจะยังไม่ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่นำเข้ามา จึงต้องบูรณาการให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการไทย และผู้บริโภคไม่เสียประโยชน์

อ่านข่าวอื่น :

14 ส.ค.ศาลรัฐธรรมนูญนัดชี้ชะตา "เศรษฐา" ปมแต่งตั้ง "พิชิต"

สภาพอากาศวันนี้ เหนือ-กลาง-กทม. ฝนตกบ่ายถึงค่ำ 60-70% พื้นที่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง