ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เช็กอาการ "โรคฉี่หนู" ระบาดหน้าฝนติดเชื้อ 1,952 ตาย 24 คน

สังคม
8 ส.ค. 67
15:50
2,995
Logo Thai PBS
เช็กอาการ "โรคฉี่หนู" ระบาดหน้าฝนติดเชื้อ 1,952 ตาย 24 คน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมควบคุมโรค แนะสังเกตอาการเสี่ยง "โรคฉี่หนู" ระบาดช่วงหน้าฝนติดเชื้อสะสม 1,952 ค ตาย 24 คนชี้ผู้อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังเลี่ยงลุยน้ำย่ำโคลนด้วยเท้าเปล่าติดเชื้อได้ 2-10 วันมีไข้สูง ปวดตามตัว ปวดน่อง

วันนี้ (8 ส.ค.2567) นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ช่วงนี้มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ทำให้บางพื้นที่เกิดน้ำท่วมขัง หนึ่งในผลกระทบทางสุขภาพที่พบได้บ่อย หลังจากมีน้ำท่วมขัง คือ โรคเลปโตสไปโรสิส (Leptospirosis) หรือโรคฉี่หนู เป็นโรคที่มักแพร่ระบาดในช่วงฤดูฝน เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์พาหะ เช่น หนู หมู วัว ควาย สุนัข แพะ แกะ เชื้อออกมาจากปัสสาวะของสัตว์และปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำ ลำคลอง แอ่งน้ำขังเล็กๆ และพื้นดินโคลนที่ชื้นแฉะต่างๆ

เชื้อดังกล่าวมีชีวิตอยู่ได้นานเป็นเดือน และเข้าสู่ร่างกายคนได้ทางบาดแผลหรือแค่รอยถลอก รอยขีดข่วน หรืออาจชอนไชผ่านผิวหนังที่อ่อนนุ่มจากการแช่น้ำนานๆ รวมถึงการรับเชื้อจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ

ลุยฝน น้ำท่วมแนะให้รีบทำความสะอาดเท้า ป้องกันรับเชื้อโรคเลปโตสไปโรสิส (Leptospirosis) หรือโรคฉี่หนู

ลุยฝน น้ำท่วมแนะให้รีบทำความสะอาดเท้า ป้องกันรับเชื้อโรคเลปโตสไปโรสิส (Leptospirosis) หรือโรคฉี่หนู

ลุยฝน น้ำท่วมแนะให้รีบทำความสะอาดเท้า ป้องกันรับเชื้อโรคเลปโตสไปโรสิส (Leptospirosis) หรือโรคฉี่หนู

ติดเชื้อสะสม 1,952 คนตาย 24 คน

ข้อมูลจากระบบการรายงานโรค Digital Disease Surveillance (DDS) กองระบาดวิทยา ตั้งแต่ วันที่ 1 ม.ค.-31 ม.ค.นี้ พบผู้ป่วยโรคฉี่หนู 1,952 คนผู้เสียชีวิต 24 คน คิดเป็นอัตราป่วยตาย ร้อยละ 1.23

กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด 3 อันดับแรกคืออายุ 60 ปีขึ้นไป อัตราป่วย 4.38 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาคือ อายุ 50-59 ปี และอายุ 40-49 ปี

สำหรับกลุ่มอายุที่เสียชีวิตมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ อายุ 30-39 ปี ร้อยละ 2.16 รองลงมา คือ 60 ปีขึ้นไป  และ 50-59 ปี 

ส่วนข้อมูลจากโปรแกรมตรวจสอบข่าวการระบาด กรมควบคุมโรค พบผู้ป่วยในอาชีพเกษตรกรสูงที่สุด ร้อยละ 30.77 รองลงมา คือ อาชีพรับจ้าง ร้อยละ 23.08 และกรีดยางพารา 15.38

ส่วนใหญ่มีประวัติสัมผัสแหล่งน้ำ ดินชื้นแฉะร้อยละ 91.67 อาการสำคัญที่พบ คือ มีไข้เฉียบพลัน ร้อยละ 91.67 รองลงมา คือหายใจหอบเหนื่อย ร้อยละ 83.33 ไอแห้ง ร้อยละ 66.67 และปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะกล้ามเนื้อน่อง 58.33

รู้จักอาการ "ฉี่หนู"

นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงอาการของโรคฉี่หนู ว่า ระยะแรกผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายกับโรคติดเชื้อทั่วไป แต่สังเกตความแตกต่างได้ คือ หลังติดเชื้อประมาณ 2-10 วัน จะเริ่มมีไข้สูงอย่างเฉียบพลัน ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดเมื่อยตามตัว โดยเฉพาะที่บริเวณหลัง น่องและโคนขา ร่วมกับมีอาการหนาวสั่น บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และตาแดง

หากมีอาการดังกล่าว หลังเดินลุยน้ำย่ำโคลน หรือแช่น้ำเป็นเวลานาน ขอให้นึกถึงโรคนี้ และรีบไปพบแพทย์หรือสถานพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็ว เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง 

ที่สำคัญขอให้แจ้งประวัติการเดินลุยน้ำ หรือย่ำโคลนให้แพทย์ที่ตรวจรักษาทราบด้วย เพื่อวินิจฉัยและให้การรักษาได้อย่างรวดเร็ว อย่าซื้อยามารับประทานเอง เพราะทำให้อาการรุนแรง เช่น ตับไตวาย มีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต ข้อมูลการเสียชีวิตจากโรคฉี่หนู ที่ผ่านมาพบว่าส่วนใหญ่มาพบแพทย์ช้า

โรคฉี่หนูสามารถป้องกันได้

ขอแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติ ดังนี้ หลีกเลี่ยงการแช่น้ำเป็นเวลานาน หรือเดินลุยน้ำย่ำโคลนด้วยเท้าเปล่า โดยเฉพาะผู้ที่มีบาดแผลหรือรอยขีดข่วนที่เท้าต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำควรสวมรองเท้าบู๊ท หรือรองเท้าที่หุ้มเท้าเพื่อป้องกันไม่ให้สัมผัสน้ำโดยตรง กรณีมีบาดแผลควรปิดด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ และรีบทำความสะอาดบาดแผลและร่างกายทันทีหลังจากเสร็จจากการทำงานหรือลุยน้ำ

หมั่นล้างมือล้างเท้าด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ รับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่และร้อน อาหารที่ค้างมื้อควรเก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด และอุ่นให้เดือดหรือร้อนก่อนนำมารับประทานทุกครั้ง

ดูแลทำความสะอาดที่พัก บ้านเรือนและห้องครัวให้สะอาด หากทำความสะอาดบ้านหลังน้ำลดควรสวมถุงมือยางและรองเท้าบู๊ทขณะเก็บกวาด ควรเก็บขยะ โดยเฉพาะเศษอาหาร ในถังที่มีฝาปิดมิดชิด หรือทิ้งในถุงพลาสติกและมัดปากถุงให้แน่น เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารให้หนูเข้ามาในบ้าน

หากมีไข้สูง ร่วมกับปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่น่อง หลังจากสัมผัสพื้นที่น้ำขังดินที่มีโอกาสปนเปื้อนปัสสาวะสัตว์ ได้แก่ หนู วัว ควาย หมู สุนัข และแพะ ห้ามซื้อยามารับประทานเอง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติเสี่ยงให้ทราบ เพื่อพิจารณาการรักษาได้อย่างถูกต้อง 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง