วันนี้ (3 ส.ค.2567) นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ได้ส่งหนังสือไปยังประเทศกานา เพื่อขอชิ้นเนื้อหรือตัวอย่างสารพันธุกรรม (DNA) ของปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็นต้นทางที่ภาคเอกชนขออนุญาตนำเข้ามาวิจัยในประเทศไทยในปี 2553
ทั้งนี้ จะนำตัวอย่างมาให้นักวิทยาศาสตร์ตรวจสอบสายพันธุกรรม เทียบเคียงกับปลาหมอคางดำที่แพร่กระจายใน 17 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา สงขลา ตราด ชลบุรี และนนทบุรี
นายบัญชา ยืนยันว่า กรมประมงไม่หยุดดำเนินการในอำนาจหน้าที่ที่จะตรวจสอบหาสาเหตุของการแพร่กระจายของสัตว์น้ำต่างถิ่น หรือเอเลี่ยนสปีชีส์ ที่รุกรานระบบนิเวศและสร้างผลกระทบต่อเกษตรกรไทย
ส่งผลสอบ “หมอคางดำ” ระบาดให้กระทรวงเกษตรฯ แล้ว
ส่วนผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้ดำเนินการภายใน 7 วัน ล่าสุดได้ส่งถึงปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตั้งแต่เช้าวานนี้ (2 ส.ค.) เพื่อรายงานต่อ ร.อ.ธรรมนัส และนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรและสหกรณ์
นายบัญชา กล่าวว่า การที่สภาทนายความเตรียมฟ้องกรมประมง และบริษัทที่ขออนุญาตนำเข้าปลาหมอคำ ยืนยันว่าจะทำทุกอย่างตามอำนาจหน้าที่เพื่อแก้ไขปัญหา กอบกู้ทรัพยากรสัตว์น้ำกลับมาจากปลาหมอคางดำให้ได้
ผู้สื่อข่าวสอบถามเรื่องนี้กับนายอรรถกร ซึ่งแจ้งว่าขอไม่ให้สัมภาษณ์ แต่วันนี้นายอรรถกรจะลงพื้นที่ไปรับฟังปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำจากเกษตรกรและชาวประมง ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยและพัฒนาเครื่องมือด้านการประเมินผลตอบแทนเชิงสังคม วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า รายได้ของประมง ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ตั้งแต่ปี 2551-2561 มีมูลค่าสูงถึงปีละ 131 ล้านบาท หากภาครัฐปล่อยให้มีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำต่อไป เกษตรกรและชาวประมงท้องถิ่นจะสูญเสียรายได้ ยังไม่ครอบคลุมความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม
อ่านข่าว : อนุกมธ.ระดม “มือกฎหมาย” สางปมร้อน “ปลาหมอคางดำ”
"ปลาหมอคางดำ" สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ ตำบลเดียว 131 ล้าน/ปี