วันนี้ (1 ส.ค.2567) ที่อาคารรัฐสภา มีการประชุมคณะอนุกรรมาธิการ พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหารวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย มี นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง เป็นประธาน ซึ่งเป็นชุดทำงาน ในคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร เป็นนัดประชุมครั้งที่ 8
วันนี้คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้เชิญนักกฎหมายจากหน่วยงานรัฐเข้าร่วม เพื่อต้องการฟังความคิดเห็น เกี่ยวกับข้อกฎหมายต่าง ๆ ประกอบการพิจารณาความเห็น เกี่ยวกับสาเหตุและแนวทางแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย
นอกจากนี้ยังเชิญผู้แทนจากหน่วยงานและบุคคลต่าง ๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมด้วย เช่น อัยการสูงสุด, ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมประมง, ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมทรัพยากรทางทะและชายฝั่ง, ผู้อำนวนวยการศูนย์กฎหมายทรัพยากรรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงกลุ่มตัวแทนผู้ภาคประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ฯลฯ
ขณะเดียวกัน คณะอนุกรรมาธิการฯ ยังได้ทำหนังสือเชิญ นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี มาร่วมให้ความเห็นทางกฎหมาย แต่นายวิษณุแจ้งว่าป่วย จึงไม่ได้เดินทางมา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมของคณะอนุกรรมาธิการฯ เมื่อสัปดาห์ก่อน ได้เชิญผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ มาชี้แจง แต่บริษัท ไม่ได้ส่งใครมา เพียงแต่ส่งเอกสารชี้แจง เกี่ยวกับข้อมูลการนำเข้าปลาหมอคางดำ 4 หน้า ทำให้วันนี้ คณะอนุกรรมาธิการฯ จึงขอรับฟังความเห็นจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเตรียมเสนอใช้มาตรการทาง กฎหมายดำเนินการ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องต่อการนำเข้าและการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ
อ่านข่าว : 1 ชั่วโมง ลงทะเบียน "ดิจิทัลวอลเล็ต" 2.3 ล้านคน
ดีเดย์ รับซื้อปลาหมอคางดำ กก.ละ 15 บ. ผู้รับซื้อโอดได้เงินช้า