วันนี้ (29 ก.ค.2567) มติชนออนไลน์รายงานว่า นายล้อม เพ็งแก้ว (เกตุทัต ศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว) ถึงแก่กรรมอย่างสงบ เมื่อเวลา 12.37 น. วันที่ 29 ก.ค. ณ โรงพยาบาลพระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี หลังจากป่วยเป็นโรคไตมานานหลายปี ต้องเข้ารับการรักษาด้วยการฟอกไตสัปดาห์ละ 3 วัน ต่อเนื่องตลอดมา
นายล้อม เพ็งแก้ว เกิดเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2479 ที่ ต.ชะมวง (ปัจจุบันคือ ต.ควนขนุน) อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เป็นบุตรของ นายหรอด-นางนวล เพ็งแก้ว มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 12 คน
นายล้อมเข้าศึกษาจนจบชั้น ป.4 ที่โรงเรียนประชาบาลตำบลชะมวง 3 อ.ควนขนุน จบชั้น ม.6 ที่โรงเรียนช่วยมิตร อ.ควนขนุน, ปี 2497 เป็นนักเรียนทุนกระทรวงศึกษาธิการ ที่โรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ไม่ถึง 1 เดือนก็ได้รับเลือกให้ไปเรียนที่โรงเรียนฝึกหัดครูพระนคร เรียนจบหลักสูตรประโยคครูประถม (ปป.) ในปี 2500
จากนั้นเรียนต่อที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร (ปัจจุบันคือ มศว ประสานมิตร) สำเร็จหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) สาขามัธยมศึกษา ปี 2504 และได้รับตำแหน่งอาจารย์ตรี สอนวิชาภาษาไทย ที่โรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2504
วันที่ 28 พฤษภาคม 2511 นายล้อมได้รับคำสั่งจาก จ.เพชรบุรี ให้ไปช่วยราชการเป็นอาจารย์ผู้สอนและหัวหน้าภาควิชาภาษาไทย ที่วิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคาม จ.มหาสารคาม กระทั่งปี 2516 ย้ายกลับมาที่วิทยาลัยครูเพชรบุรี
ปี 2518 ปรับเป็นอาจารย์ 3 ระดับ 7 ปรับเป็นระดับ 8 และต่อมาในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2529 กระทรวงศึกษาธิการ แต่งตั้งนายล้อมให้เป็นอาจารย์ระดับ 9 คนแรกของประเทศ และเป็นอาจารย์ระดับ 9 มีอายุน้อยที่สุด
นายล้อมเป็นอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ผู้เชี่ยวชาญทางภาษา วรรณคดี ประวัติศาสตร์ และภูมิปัญญาไทยหลายแขนง เป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ที่ได้รับการขนานนามว่า “ปราชญ์ชาวบ้าน” หรือ “ปราชญ์เมืองเพชร”
เริ่มเขียนงานลงตีพิมพ์ใน นสพ.สาส์นเพชร ที่มี นายชลอ ช่วยบำรุง เป็นเจ้าของและบรรณาธิการ และต่อมาได้รู้จักกับ นายปรุง สุนทรวาทะ เจ้าของ นสพ.เพชรภูมิ ซึ่งต่อมานายปรุงก็ได้เชิญนายล้อมให้เขียนบทความให้กับ นสพ.เพชรภูมิ นับแต่นั้นมาจนถึงปี 2565
ปี 2529 นายล้อมได้แสดงความเห็นขัดแย้งกับนายเชาวน์วัศ สุดลาภา ผวจ.เพชรบุรี ในขณะนั้นที่สั่งให้ทุบทำลายปูนปั้นของนายทองร่วง เอมโอษฐ ช่างปูนปั้นเมืองเพชรบุรี (ศิลปินแห่งชาติ) ได้ปั้นล้อเลียนการเมืองไว้ที่บริเวณฐานเสมาของอุโบสถวัดสนามพราหมณ์ ต.ท่าราบ อ.เมือง จ.เพชรบุรี แต่กรมการฝึกหัดครูสอบสวนข้อเท็จแล้ว เห็นว่านายล้อมไม่มีความผิดจึงไม่ลงโทษ
นายล้อมรับราชการครูอยู่ที่วิทยาลัยครูเพชรบุรี จนเกษียณอายุราชการในปี 2540 ท่านใช้ความรู้เพื่อประโยชน์ต่อสังคม ท้องถิ่น และประเทศชาติ ด้วยการเขียนผลงานวิชาการ ประวัติศาสตร์ ในวิทยาสาร, วิทยาจารย์, ฟ้าเมืองไทย, ฟ้า, คุรุปริทัศน์, มติชน, ศิลปวัฒนธรรม, เมืองโบราณ, สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์, เพชรภูมิ, เพชรนิวส์ ฯลฯ
อีกทั้งยังมีผลงานรวมเล่มที่พิมพ์เผยแพร่แล้วได้แก่ พระรถนิราศ, วิวาทศิลป์, ว่ายเวิ้งวรรณคดี, ภาษาสยาม, ค้นคำ, ภูมิพื้นภาษาไทย, ดาวประจำเมืองนคร, สนทรภู่ : อาลักษณ์เจ้าจักรวาล, เสน่ห์สำนวนไทย, คู่มือพุทธประวัติ, เพราะได้เห็น จึงได้คิด และผลงานต่าง ๆ อีกมากมาย
ต่อมาในปี 2548 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้ยกย่องนายล้อมให้เป็น “เกตุทัต ศาสตราภิชาน” และได้รับการเชิดชูเกียรติต่าง ๆ มากมาย อาทิ ปี 2550 สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เชิดชูเกียรติเป็นปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย, มหาวิทยาลัยศิลปากร มอบปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชามานุษยวิทยา ในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางภาษา วรรณคดี ประวัติศาสตร์ และภูมิปัญญาไทยหลายแขนงอย่างลึกซึ้ง
ปี 2559 ได้รับปริญญาครุศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทย ประจำปีการศึกษา 2558 จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี อีกทั้งยังได้รับเชิญจากหนังสือพิมพ์มติชน ให้เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญจัดทำ “พจนานุกรม ฉบับมติชน” และได้รับการเลือกให้เป็นนายกสมาคมสื่อมวลชนเพชรบุรี จ.เพชรบุรี คนที่ 2 ต่อจาก นางประโยชน์ สุนทรวาทะ ซึ่งเป็นนายกก่อตั้ง และตำแหน่งอื่นๆ อีกมากมาย
นายล้อมสมรสกับ ผศ.เบ็ญจา เพ็งแก้ว มีบุตร-ธิดาด้วยกัน 7 คน คือ น.ส.กมลพรรณ (ใหญ่) น.ส.พรรณประไพ (เล็ก) น.ส.นิพัทธ์พร (เอียด) น.ส.ก่องแก้ว (แก้ว) น.ส.กนิษฐา (ก้อย) นายขับพล (ก้อง) และ น.ส.รจน์ (กิ่ง) เพ็งแก้ว
ครอบครัว “เพ็งแก้ว” ได้แจ้งกำหนดการรดน้ำศพ เวลา 16.00 น. พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ เวลา 17.00 น. ในวันอังคารที่ 30 กรกฎาคม และกำหนดสวดพระอภิธรรมตั้งแต่วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม-5 สิงหาคม เวลา 19.00 น. ณ วัดยาง อ.เมือง จ.เพชรบุรี โดยจะมีพิธีบรรจุศพในคืนสุดท้าย เพื่อรับพระราชทานเพลิงศพในโอกาสต่อไป
ขอบคุณ : มติชนออนไลน์
อ่านข่าว : ปารีสเกมส์ ขอโทษชาวคริสต์ดรามาพิธีเปิด The Last Supper
"สุธาสินี" ตกรอบแรกปารีสเกมรอลุ้นประเภททีม 5 ส.ค.
“บิ๊กโจ๊ก-บิ๊กต่าย” ชี้แจง ก.พ.ค.ตร.ครั้งสุดท้าย 30 ก.ค.ปมอุทธรณ์คำสั่งให้ออกฯ