อุปกรณ์ลักษณะเป็นแผ่นสีขาวถูกติดตั้งเรียงรายบนตึกในเมืองสแกมเมอร์ชายแดนไทย-เมียนมา พบเห็นได้ทั้งในเมืองเคเคพาร์ค จ.เมียวดี ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก ไปจนถึงตึกกาสิโนในเมืองพญาตองซู จ.จะอินเซ็กจี ตรงข้าม อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ปรากฎการณ์นี้บ่งบอกว่าสตาร์ลิงก์อาจถูกนำมาใช้ในกลุ่มธุรกิจสีเทาแล้ว
หนึ่งในเมืองที่ทีมข่าวเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน คือ เมืองไท่ชาง ตรงข้าม ต.ช่องแคบ อ.พบพระ จ.ตาก ที่เมื่อเดือนพฤษภาคม ยังไม่พบการใช้งานสตาร์ลิงก์ แต่เพียง 1 เดือนหลังจากนั้นในเดือน มิถุนายน กลับมีสตาร์ลิงก์ไม่ต่ำกว่า 20 เครื่อง ถูกติดตั้งบนอาคารหลายหลัง

สตาร์ลิงก์บนหลังคาอาคารเมืองเคเคพาร์ค จ.เมียวดี ประเทศเมียนมา
สตาร์ลิงก์บนหลังคาอาคารเมืองเคเคพาร์ค จ.เมียวดี ประเทศเมียนมา
นี่อาจเป็นผลจากคำสั่งของ กสทช. ให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมไทย ตัดสายอินเทอร์เน็ตและปรับสายอากาศที่ส่งสัญญาณล้ำข้ามแดนและถูกขบวนการอาชญากรรมออนไลน์ หยิบฉวยไปใช้กลับมาหลอกลวงผู้คนทั่วโลก
เมื่อมีสตาร์ลิงก์ กลุ่มธุรกิจสแกมเมอร์ชายแดนก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาโครงข่ายสัญญาณจากฝั่งไทยอีกต่อไป
ไทยทางผ่านสตาร์ลิงก์
ทีมข่าวสืบสวน ไล่เรียงไทม์ไลน์การยึดสตาร์ลิงก์ในไทย พบครั้งแรกวันที่ 10 มี.ค.67 ด่านศุลกากรแม่สอด จังหวัดตาก ยึดได้ 6 ชุดที่ด่านตรวจห้วยหินฝน บนทางหลวงหมายเลข 12 ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นพัสดุถูกส่งจากไต้หวัน มีปลายทางที่จังหวัดเชียงใหม่
ต่อมาในเดือน เม.ย.67 กองปราบปราม แถลงการตรวจยึดสตาร์ลิงก์ได้ 10 ชุด พบว่าส่งมาจากเมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น มีผู้รับเป็นคนจีนที่ จ.เชียงราย
วันที่ 20 พ.ค.67 ตำรวจ สภ.แม่ท้อ จ.ตาก จับกุมหญิงชาวไทย ส่งสตาร์ลิงก์ 3 ชุด จาก จ.เชียงใหม่ ปลายทางอยู่ที่อ.แม่สอด ถัดมาเพียง 2 วัน วันที่ 22 พ.ค. ตำรวจ สภ.แม่ท้อ ยึดเพิ่มได้อีก 35 ชุดจากคนไทยที่ไปรับของจากคนจีนในกรุงเทพฯ ไปส่งให้คนรับใน อ.แม่สอดเช่นกัน การสืบสวนไม่พบว่า 2 คดีมีความเกี่ยวข้องกัน
วันที่ 9 มิ.ย.67 ทหาร ฉก.ลาดหญ้า จับกุมคนจีน 2 คน ขนสตาร์ลิงก์ 2 เครื่องมาจากประเทศกัมพูชา ปลายทางเมืองพญาตองซู ประเทศเมียนมา

เจ้าหน้าที่ยึดสตาร์ลิงก์ที่คนจีนลอบขนผ่านด่านน้ำเกริ๊ก จ.กาญจนบุรี
เจ้าหน้าที่ยึดสตาร์ลิงก์ที่คนจีนลอบขนผ่านด่านน้ำเกริ๊ก จ.กาญจนบุรี
วันที่ 18 มิ.ย.67 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) และตำรวจ บก.ปอศ.แถลงตรวจยึดสตาร์ลิงก์ 58 ชุด ต้นทางมาจากประเทศกัมพูชา พบที่ร้านส่งพัสดุใน อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี เตรียมส่ง อ.แม่สอด จ.ตาก
รวมตั้งแต่เดือน มี.ค.-มิ.ย.67 ทั่วประเทศตรวจยึดการลักลอบส่งสตาร์ลิงก์ได้เกือบ 200 เครื่อง
พ.ต.อ.เผด็จ งามละม่อม รอง ผบก.ป. เผยถึงสาเหตุที่ไทยถูกใช้เป็นทางผ่าน อาจเพราะบริการสาธารณะทุกอย่างของเราสะดวก ถ้าของไปลงที่เมืองหลวงประเทศเมียนมา กว่าจะมาที่ชายแดนก็ลำบาก และเส้นทางการลอบขนสินค้าพวกนี้ มีแทบทุกจังหวัดที่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน
การใช้งานสตาร์ลิงก์ของมิจฉาชีพจะทำให้ยากแก่การติดตามร่องรอยข้อมูล ทั้งสถานที่ตั้งและการจราจรทางอินเทอร์เน็ต เพราะข้อมูลเหล่านี้จะไม่ถูกบันทึกในฐานข้อมูลผู้ให้บริการของไทย พอไม่มีข้อมูลให้เก็บ เราก็ขอไม่ได้

พ.ต.อ.เผด็จ งามละม่อม รองผู้บังคับการกองปราบปราม
พ.ต.อ.เผด็จ งามละม่อม รองผู้บังคับการกองปราบปราม
ยึดสตาร์ลิงก์แก้ปัญหาได้จริงหรือไม่?
นายพงศธร สายสุจริต รักษาการ ผอ.สถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ อธิบายการทำงานของสตาร์ลิงก์ว่าเป็นกลุ่มดาวเทียมขนาดเล็กที่สามารถรับส่งข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตได้ไม่ต่างจากระบบเสาและสายบนโลก แต่สตาร์ลิงก์ไม่ต้องใช้สายและรับส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูง
จากเว็บไซต์ของสตาร์ลิงก์ระบุว่ามีดาวเทียมในระบบไม่ต่ำกว่า 6,000 ดวง เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2562 เริ่มขายในต่างประเทศเมื่อปี 2565 มีผู้ใช้งานกว่า 100 ประเทศทั่วโลก มีสัญญาณครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่บนโลก ด้วยระยะวงโคจรที่ห่างจากผิวโลกไม่กี่ร้อยกิโลเมตร ทำให้รับและส่งข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว

ภาพจากเว็บไซต์ starlink.com
ภาพจากเว็บไซต์ starlink.com
ยังมีอีกหลายพื้นที่ในประเทศที่ไม่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตและสัญญาณโทรศัพท์ เราจะใช้ประโยชน์จากสตาร์ลิงก์เพิ่มโอกาสในการบริหารประเทศทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคมได้มาก ไม่ว่าจะเรื่องการศึกษา การแพทย์หรือความปลอดภัย อย่างตอนเกิดภัยพิบัติ ถ้าระบบภาคพื้นดินล่ม เราก็สามารถติดต่อสื่อสารผ่านดาวเทียมได้
ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีอวกาศ ให้ความเห็นว่าการจับกุมและการสั่งห้ามนำเข้าสตาร์ลิงก์เป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ เพราะปริมาณความเสียหายไม่ได้ลดลง พอห้ามไม่ให้ใช้ มิจฉาชีพก็หาวิธีอื่น และอินเทอร์เน็ตดาวเทียมไม่ได้มีแค่ยี่ห้อเดียว จึงเสนอว่ารัฐบาลไทยควรทำข้อตกลงกับสตาร์ลิงค์ เมื่อรัฐไทยเป็นลูกค้า อาจจะมีสิทธิในการควบคุมดูแล แต่ขึ้นอยู่กับเนื้อหาว่าผิดกฎหมายอย่างไร
ด้าน นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ให้ข้อมูลว่าสตาร์ลิงก์ ถือเป็นอุปกรณ์สื่อสารที่ต้องได้รับการอนุญาตจาก กสทช.ทั้งหมด ตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม มาตรา 6 ความว่า ห้ามมิให้ผู้ใด ทํา มีใช้ นําเข้า นําออก หรือค้าซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคมเว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต
ส่วนประเด็นการนำสตาร์ลิงก์ให้อยู่ภายใต้กฎหมายไทย เคยหารือกับสเปซเอ็กซ์ถึงการประกอบธุรกิจในไทยมาแล้ว แต่ยังไม่บรรลุข้อตกลง เนื่องจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการของชาวต่างชาติ กำหนดให้มี “พาร์ทเนอร์” หรือพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกับบริษัทของไทย และต้องมีคนไทยถือหุ้นเกินครึ่งนึง หรือสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ต่อ 49 พร้อมให้สเปซเอ็กซ์ ตั้งสถานีฐานในประเทศไทย ซึ่งสเปซเอ็กซ์ปฏิเสธข้อเสนอนี้
นายไตรรัตน์ บอกว่า กสทช.วางหน้าที่ให้บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือเอ็นที เป็นพาร์ทเนอร์ร่วมกับสเปซเอ็กซ์ แต่ตอนนี้มีบอร์ดแบรนด์ยี่ห้อ ONEWEB (วันเว็บ) ที่ กสทช.มอบใบอนุญาตให้ประกอบกิจการในไทยแล้ว กำลังอยู่ในขั้นตอนการทำสัญญาร่วมกับเอ็นที
ถ้าพบการกระทำผิดกฎหมาย หากมีสถานีฐานในไทย เราสามารถขอข้อมูล ระงับหรือสั่งปิดได้ทันที

สตาร์ลิงก์ที่ตำรวจ บก.ปอศ.ยึดได้จาก อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี
สตาร์ลิงก์ที่ตำรวจ บก.ปอศ.ยึดได้จาก อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี
ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ หรือศูนย์ AOC ที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือตำรวจไซเบอร์ ร่วมกับกระทรวงดีอีเอส รวบรวมไว้นับตั้งแต่เปิดศูนย์ วันที่ 1 มีนาคม 2565 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567 มีคดีออนไลน์ทั้งหมด 575,507 เรื่อง ความเสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น 65,715,449,627 บาท เฉลี่ยวันละ 80 ล้านบาท
คดีหลอกซื้อขายสินค้าหรือบริการ ติดอันดับ 1 ของประเภทคดีออนไลน์ อันดับสองคือหลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน ถัดมาคือหลอกให้กู้เงิน หลอกให้ลงทุนผ่านคอมพิวเตอร์ และข่มขู่ทางโทรศัพท์(แก๊งคอลเซนเตอร์) ตามลำดับ
แต่คดีหลอกให้ลงทุนผ่านคอมพิวเตอร์ได้รับความเสียหายสูงที่สุด มูลค่าความเสียหาย 24,029,720,859 บาท