ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดเบื้องลึก "ปัญหาทับลาน" อุทยานฯ เสียป่า หรือใครได้เป็นเจ้าของที่ดิน?

สิ่งแวดล้อม
10 ก.ค. 67
15:02
14,306
Logo Thai PBS
เปิดเบื้องลึก "ปัญหาทับลาน" อุทยานฯ เสียป่า หรือใครได้เป็นเจ้าของที่ดิน?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ชาวบ้านร้องแก้ปัญหาเขตอุทยานฯ ทับที่ทำกิน ความเห็นต่างปกป้องป่า-เรียกร้องสิทธิในที่ดิน

กระแสการโต้แย้งและความเห็นต่าง ประเด็นแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ทั้งการปกป้องป่าและการเรียกร้องสิทธิ์ในที่ดิน ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมานานกว่า 40 ปีแล้ว และอาจสะท้อนความล้มเหลวในการแก้ปัญหาที่ดินของรัฐ

ชาวบ้านส่วนหนึ่งในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว บอกว่า ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ทับที่ดินทำกิน จึงมองว่าถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐต้องแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง และขอให้สังคมเปิดใจรับฟังข้อมูลในด้านอื่นๆ ด้วย

ชาวบ้านใน ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ชี้หลักหมุดและแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ปี 2543 และอ้างว่า หากยึดตามแนวเขตนี้ ชาวบ้านหลายราย จะไม่ถูกดำเนินคดีฐานบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ

แต่เมื่อยึดตามพระราชกฤษฎีกาประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ปี 2524 พื้นที่อยู่อาศัยและทำกิน ใน ต.ไทยสามัคคี ต.วังน้ำเขียว และต.อุดมทรัพย์ กว่า 30,000 ไร่ จะอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ

ช่วงปี 2554-2555 กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ดำเนินคดีเจ้าของบ้านพักตากอากาศ และ รีสอร์ต ที่บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จำนวน 418 คดี

ปลายปี 2564 ไปจนถึง ปี 2565 อัยการจังหวัดนครราชสีมา ทยอยส่งฟ้องคดีจำนวน 352 คดี และศาลเริ่มตัดสิน บางคนเลือกที่จะรับสารภาพ แต่บางคนเลือกที่จะต่อสู้คดี เพราะกังวลว่าอาจต้องรับผิดทั้งทางอาญา และทางแพ่งที่ต้องจ่ายค่าเสียหายตามจำนวนที่ดินที่บุกรุก ซึ่งหลายคนถูกตัดสินให้ชดใช้ตั้งแต่หลักแสนบาท ไปจนถึงเกือบ 2 ล้านบาท

อ่านข่าว : เสียงสะท้อนชาวบ้านวังน้ำเขียว "อยู่ก่อน" ประกาศเขต อช.ทับลาน

นางปิ่นแก้ว เหิมขุนทด ชาวบ้าน ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา บอกว่า ครอบครัวของเธออาศัยทำกินในที่ดินแปลงนี้มาก่อนประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ ฯ ปัจจุบันพ่อและแม่เสียชีวิตแล้ว สาเหตุที่เธอถูกดำเนินคดีบุกรุกอุทยาน ฯ อาจเป็นเพราะเธอเปิดร้านอาหาร

องค์การบริหารส่วนตำบลไทยสามัคคี ได้รวบรวมข้อมูลปัญหา เพื่อชี้ให้เห็นปัญหาของพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว ที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานฯ ทับพื้นที่ชุมชน 97 หมู่บ้าน และเรียกร้องความเป็นธรรมในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ข้อมูลจากชาวบ้านยอมรับว่า มีปัญหาการซื้อขายที่ดินให้นายทุนนอกพื้นที่จริง แต่ก็มีเพียงร้อยละ 5-10 เท่านั้น ส่วนใหญ่ยังเป็นชาวบ้านที่ถือครองที่ดิน

ชาวบ้านยืนยันว่า ปัญหาที่ดินวังน้ำเขียว ยืดเยื้อมานานกว่า 40 ปี ย้อนไปตั้งแต่ยุครัฐบาลจัดสรรที่ทำกินแบ่งแยกราษฎรกับกลุ่มคอมมิวนิสต์ ในปี 2520 และนโยบายให้คอมมิวนิสต์ออกจากป่า มาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ตามนโยบาย 66/23 ในปี 2523

นายสมบูรณ์ สิงกิ่ง นายก อบต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า มติ ครม. เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2566 ซึ่งให้กรมอุทยานแห่งชาติ ฯ กันพื้นที่แนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ออกตามแผนที่วันแมป (One Map) จะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ดินวังน้ำเขียว

“พื้นที่ 2 แสนไร่ที่ถูกกันออก ไม่มีสภาพความเป็นป่าหลงเหลืออยู่อีกแล้ว ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ เมื่อปี 2524 นั้น มีวัตถุประสงค์ด้านความมั่นคง เพื่อต้องการควบคุมพื้นที่ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ดังนั้นจึงมีการเร่งรีบประกาศเขตอุทยานฯ โดยยึดตามภาพถ่ายทางอากาศเป็นหลัก ไม่มีเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ลงพื้นที่มาสำรวจอย่างทั่วถึงแต่อย่างใด ทำให้เกิดการทับซ้อนพื้นที่ชุมชนจำนวนมาก” นายสมบูรณ์ กล่าว

ชาวบ้านใน ต.ไทยสามัคคี ส่วนหนึ่งพยายามใช้สื่อสังคมออนไลน์ โต้แย้งในประเด็นความเห็นต่างแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานว่า ไม่ใช่มีเพียงประเด็นการสูญเสียป่ากว่า 2 แสนไร่ ให้กลุ่มทุน แต่ยังมองว่า หากไม่มีการกำหนดแนวเขตอุทยานฯ ใหม่ ก็จะไม่เกิดการแก้ปัญหา เพราะที่ผ่านมาได้สะท้อนความล้มเหลวในการแก้ปัญหาที่ดินของรัฐ ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐต้องแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง และขอให้สังคมเปิดใจรับฟังข้อมูลในอีกหลายๆ ด้าน

“ไทยพีบีเอส” ลำดับเหตุการณ์สำคัญ ที่สะท้อนปัญหาที่ดินวังน้ำเขียว ดังนี้
- 2457 ข้อมูลจาก อบต.ไทยสามัคคี อ้างว่ามีชุมชนเกิดขึ้นตั้งแต่ ปี 2457
- 2511 รัฐประกาศให้สัมปทานป่าไม้ในพื้นที่ ต.ไทยสามัคคี
-2513 ภาพถ่ายทางอากาศพบการตั้งชุมชน และทำการเกษตร
-2518 ภาพถ่ายทางอากาศพบการขยายตัวของชุมชน
-2520 จัดตั้งหมู่บ้านไทยสามัคคี จัดสรรที่ทำกินแบ่งแยกราษฎรกับกลุ่มคอมมิวนิสต์ มอบที่ดินเพื่ออยู่อาศัยครอบครัวละ 1 งาน ที่ทำกินครอบครัวละ 10 ไร่

-2521 ออกพระราชกฤษฎีกาประกาศเขตปฏิรูปที่ดิน ก่อนพบว่าทับซ้อนกับเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน
-2523 นโยบายให้คอมมิวนิสต์ออกจากป่า มาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ทำให้ชุมชนขยายตัวอย่างรวดเร็ว
-2524 พระราชกฤษฎีกาประกาศจัดตั้ง “อุทยานแห่งชาติทับลาน”
-2528 เพิกถอนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าวังน้ำเขียว และมีการออกเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.4-01 เป็นครั้งแรกให้กับผู้ถือครองที่ดินใน อ.วังน้ำเขียว

-2534-2543 รังวัดแนวเขตอุทยานฯใหม่ เพื่อกันพื้นที่ที่ชาวบ้านอยู่อาศัยออกไป และเป็นช่วงที่เริ่มมีกลุ่มทุน ข้าราชการ และนักการเมือง เข้ามาซื้อที่ดินในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว มีขบวนการนายหน้าขายที่ดิน ชาวบ้านอ้างไม่รู้กฎหมาย จึงขายที่ดิน

และบางส่วนก็รับจ้างทำงานในรีสอร์ต หรือบ้านพักตากอากาศให้นายทุน ผู้ที่มาซื้อที่ดินส่วนหนึ่งไม่ใช่นายทุนที่ร่ำรวย แต่เป็นข้าราชเกษียณ พ่อค้าแม่ค้าที่พอมีเงินเก็บ และอยากได้ที่ดินอยู่อาศัย
-2548 รัฐบาลพัฒนาวังน้ำเขียว จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว ทำให้ที่ดินจำนวนมาก ถูกเปลี่ยนมือไปยังกลุ่มทุน ระหว่างปี 2550-2559 มีการดำเนินการตามแผนแม่บทการจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน

ซึ่งในช่วงปี 2554-2555 กรมอุทยานแห่งชาติ ฯ ดำเนินคดีเจ้าของบ้านพักตากอากาศ และ รีสอร์ต ที่บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จำนวน 418 คดี แต่มีบางคดี ที่อัยการมีความเห็นไม่สั่งฟ้อง แม้จะเป็นการก่อสร้างบ้านพักตากอากาศหรูหรา นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านบางส่วนที่อ้างว่า มีเงินทุนพัฒนาที่ดิน ทำโฮมสเตย์ หรือรีสอร์ต ก็ถูกดำเนินคดีเช่นกัน

- ปลายปี 2554 ชาว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา กว่า 1,000 คน นำรถบรรทุกปิดถนนสาย 304 วังน้ำเขียว-กบินทร์บุรี บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 80 เพื่อคัดค้านการเข้ารื้อถอนรีสอร์ตทั้ง 8 แห่ง จากทั้งหมด 32 แห่ง ในเขต อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา และ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ตามคำสั่งศาลที่ให้รื้อถอน

พร้อมบอกว่า รีสอร์ตเหล่านี้เป็นธุรกิจบริการที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของ อ.วังน้ำเขียว ให้ขยายตัว และยังสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน มีข้อมูลยืนยันว่า เจ้าของรีสอร์ตเป็นนักการเมืองระดับชาติ ซึ่งกรมอุทยานฯ ก็ได้เข้ารื้อถอนรีสอร์ตหรูหลายแห่งในปีเดียวกัน

นอกจากนี้ยังพบปัญหาออกเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.ทับซ้อนกับเขตอุทยานฯ หรือที่เรียกกันว่า “ส.ป.ก.บวม” และพบว่า มีการบุกรุกก่อสร้างบ้านพัก รีสอร์ต ในพื้นที่ที่อ้างว่าออกเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.4-01 แล้ว แต่ที่ดินดังกล่าวกลับทับซ้อนกับพื้นที่อุทยานฯ

-2560 มีคดีสำคัญ เช่น คดี พล.ต.อ.คนหนึ่ง บุกรุกป่าอุทยานแห่งชาติทับลาน, คดีจับกำนัน คนหนึ่งใน จ.ปราจีนบุรี จ้างคนงานลาวรุกป่าทับลาน ให้นายทุนนำไปสู่การยึดคืนป่ากว่า 900 ไร่

-2562 กรณี ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ จัดสัมมนา ที่ 88 การ์มองเต้ รีสอร์ต อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา นำไปสู่การตรวจสอบว่า นี่คือรีสอร์ตที่ถูกดำเนินคดีข้อหาบุกรุกป่า ตั้งแต่ปี 2555 แต่อัยการสั่งไม่ฟ้อง กรมอุทยานแห่งชาติ ฯ พบว่า มีนิติกรของ ส.ป.ก.คนหนึ่งเข้าให้การว่าแปลงที่ดินของรีสอร์ตแห่งนี้อยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก.

กรมอุทยานแห่งชาติ ฯ ยังพบว่า มีการออกเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.4-01 ให้เจ้าของที่ดินที่เคยถูกแจ้งความดำเนินคดีบุกรุกอุทยานแห่งชาติทับลานหลายราย และกลุ่มเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. ที่เกี่ยวข้อง ก็เป็นกลุ่มเดียวกันที่ ออกเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก. 4-01 ในพื้นที่ เขาใหญ่ และอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดี

ด้านหน่วยงานความมั่นคงอย่าง กอ.รมน.ก็พบว่า อาจมีขบวนการที่คอยวิ่งเต้นช่วยเหลือ เพื่อให้คดีสร้างรีสอร์ต บ้านพักหรูรุกเขตอุทยานฯ ไม่ถูกสั่งฟ้อง ทั้งในชั้นพนักงานสอบสวน และชั้นอัยการ เนื่องจากผู้ครอบครองรีสอร์ต และบ้านพักตากอากาศที่บุกรุกป่า ส่วนใหญ่เป็นนายทุน นักการเมือง และข้าราชการ

กระทั่งปัจจุบัน (2567) ทำให้สังคมตั้งคำถามกับการประกาศใช้แนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ปี 2543 ว่า ไม่ใช่แค่เพียงการแก้ปัญหาที่ดินให้กับชาวบ้านในพื้นที่ แต่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน ข้าราชการ และนักการเมืองที่ครอบครองที่ดินในวังน้ำเขียว

เรียบเรียง : ไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคอีสาน

อ่านข่าว : กมธ.ที่ดินฯ เตรียมหารือกรณีจัดสรรที่ดินทำกิน "ทับลาน" วันที่ 17 ก.ค.นี้

เปิดเหตุผล "อนรรฆ" สงวนสิทธิไม่เห็นด้วยเพิกถอน "ทับลาน"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง