ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทธ.จัดทำหนังสือ "ซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียนสมบัติชาติ" เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ

สิ่งแวดล้อม
10 ก.ค. 67
13:37
257
Logo Thai PBS
ทธ.จัดทำหนังสือ "ซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียนสมบัติชาติ" เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ทธ.จัดทำหนังสือ "ซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียนสมบัติชาติ" เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 ก.ค.2567 คัดเลือกซากดึกดำบรรพ์ฯ 56 ชนิด 72 ชิ้นตัวอย่างมาจัดทำหนังสือ

วันนี้ (10 ก.ค.2567) กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จัดแถลงข่าว “ซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียนสมบัติชาติ” โดยมีนายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะโฆษกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน พร้อมด้วยนายพิชิต สมบัติมาก อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี และนายปรีชา สายทอง ผู้อำนวยการกองคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ ร่วมแถลง

นายเถลิงศักดิ์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยเริ่มการศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ตั้งแต่ปี 2442 และได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้อง อนุรักษ์ และคุ้มครองมรดกทางธรณีวิทยาอันล้ำค่าของชาติ คือ “ซากดึกดำบรรพ์”

ปัจจุบันมีการประกาศขึ้นทะเบียนซากดึกดำบรรพ์ที่มีคุณสมบัติโดดเด่นและมีคุณค่า ที่มีชื่อว่า “ซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียน” โดยกรมทรัพยากรธรณีดำเนินการประกาศซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 93 ชนิด 505 ชิ้นตัวอย่าง

กรณีที่มีคุณสมบัติโดดเด่น มีคุณค่าตามหลักเกณฑ์ จะได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งที่หายากและมีคุณค่าพิเศษ สมควรเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ หรือเรียกว่า “ซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียนสมบัติชาติ” ซึ่งได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 56 ชนิด 189 ชิ้นตัวอย่าง

เนื่องในโอกาสปีมหามงคลนี้ กรมทรัพยากรธรณี ได้คัดเลือกซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียนสมบัติชาติ จากจำนวน 56 ชนิด 189 ชิ้นตัวอย่าง นำมาจัดทำหนังสือซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียนสมบัติชาติ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยใช้เพียงซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียนสมบัติชาติ จำนวน 56 ชนิด 72 ชิ้นตัวอย่าง ประกอบด้วย ซากดึกดำบรรพ์สัตว์เลื้อยคลาน 23 ชนิด 39 ชิ้นตัวอย่าง, ซากดึกดำบรรพ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 21 ชนิด 21 ชิ้นตัวอย่าง และซากดึกดำบรรพ์ปลา 12 ชนิด 12 ชิ้นตัวอย่าง เพื่อให้เป็นจำนวนตัวเลขที่เหมาะสมกับจำนวนพระชนมายุของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ

ทั้งนี้ กรมทรัพยากรธรณีจะจัดทำหนังสือดังกล่าวทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ข้อมูลอันทรงคุณค่าเกี่ยวกับซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียนสมบัติของชาติ และพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระกรณียกิจของพระบรมวงศานุวงศ์ ในภารกิจด้านธรณีวิทยา ทรัพยากรธรณี และซากดึกดำบรรพ์ ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชน นักเรียน นักวิจัย นักวิชาการ และผู้ที่สนใจทั้งภายในและต่างประเทศ

จัดโชว์ "ซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียนสมบัติชาติ"

นอกจากนี้ กรมทรัพยากรธรณี มีโครงการนิทรรศการหมุนเวียน โดยจัดแสดงซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียนสมบัติชาติ ภายในพิพิธภัณฑ์ในสังกัดกรมทรัพยากรธรณีทั้ง 6 แห่งทั่วประเทศ ประกอบด้วย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ จ.ปทุมธานี, พิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยาและธรรมชาติวิทยา จ.สุราษฎร์ธานี, ศูนย์วิจัยทรัพยากรแร่และหิน จ.ระยอง, ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ จ.ขอนแก่น, พิพิธภัณฑ์สิรินธร จ.กาฬสินธุ์, พิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์ธรณีวิทยาและธรรมชาติวิทยา จ.ลำปาง

ทั้งนี้ จัดแสดงซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียนสมบัติชาติ ตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ธ.ค.2567 โดยคัดเลือกจากในเนื้อหาของหนังสือ จำนวน 10 ชนิด 10 ชิ้นตัวอย่าง ประกอบด้วยไดโนเสาร์ 4 ชนิด 4 ชิ้นตัวอย่าง ปลา 1 ชนิด 2 ชิ้นตัวอย่าง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 2 ชนิด 1 ชิ้นตัวอย่าง รวมถึงเต่าและจระเข้อย่างละ 1 ชนิด 1 ชิ้นตัวอย่าง

กรมทรัพยากรธรณี จะประกาศงดเว้นการเก็บค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์ในสังกัดทั้ง 7 แห่งทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 21-30 ก.ค.2567 รวม 10 วัน เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในโอกาสปีมหามงคลนี้

ด้านนายพิชิต สมบัติมาก อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า การจัดทำหนังสือฉบับนี้ นอกจากจะเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ แล้ว ยังมุ่งหวังให้เกิดการเผยแพร่ความรู้และสร้างความตระหนักถึงคุณค่าของซากดึกดำบรรพ์อันเป็นมรดกทางธรรมชาติที่สำคัญของประเทศ อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์และพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่การอนุรักษ์และคุ้มครองทรัพยากรธรณีอย่างยั่งยืนต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง