วันนี้ (1 ก.ค.2567) นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวถึงสถาน การณ์ส่งออกข้าวไทยว่า ข้อมูลของกรมศุลกากรการส่งออกข้าวช่วง 5 เดือนแรกของปี (ม.ค.-พ.ค.) มีปริมาณ 4,057,711 ตัน มูลค่า 94,641 ล้านบาท หรือ 2,659.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยปริมาณเพิ่มขึ้น 16.5% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 46.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2566 ที่ส่งออกปริมาณ 3,483,069 ตัน มูลค่า 64,573 ล้านบาท หรือ1,903.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
นาย เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
ส่วนการส่งออกข้าวในเดือนพ.ค.2567 มีปริมาณ 659,566 ตัน มูลค่า 16,124 ล้านบาท ปริมาณลดลง 29.3% และมูลค่าลดลง 26% เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย. ที่มีการส่งออกมีปริมาณ 933,559 ตัน มูลค่า 21,787 ล้านบาท ทั้งนี้เนื่องจากในเดือนพ.ค. การส่งออกในกลุ่มของข้าวขาว และข้าวนึ่ง มีปริมาณลดลงจากเดือนก่อน
สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยจากการที่มีฝนตกลงมาเกือบทุกวัน จึงทำให้การขนถ่ายสินค้าขึ้นเรือทำได้ไม่เต็มที่และต้องล่าช้ากว่ากำหนด ส่งผลให้การส่งออกข้าวขาวมีปริมาณเพียง 407,608 ตัน ลดลง 88 % เมื่อเทียบกับเดือนก่อน
สำหรับตลาดส่งออกหลักของข้าวไทยยังคงเป็น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อิรัก ญี่ปุ่น แองโกล่า มาเลเซีย แคเมอรูน โมซัมบิก เป็นต้น ขณะที่การส่งออกนึ่งมีปริมาณเพียง 49,693 ตัน เพิ่มขึ้นถึง 70.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่งไปยังตลาดหลัก เช่น แอฟริกาใต้ เบนิน เป็นต้น
ส่วนการส่งออกข้าวหอมมะลิ (ต้นข้าว) มีปริมาณ 109,218 ตัน เพิ่มขึ้น 7.4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยยังคงส่งไปยังตลาดหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง แคนาดา สิงคโปร์ จีน ออสเตรเลีย เป็นต้น
นายเจริญ กล่าวอีกว่า คาดว่าในเดือนมิ.ย. ปริมาณส่งออกข้าวจะอยู่ที่ประมาณ 800,000 ตัน เนื่องจากมีข้าวบางส่วนที่รอส่งมอบขึ้นเรือใหญ่ที่ตกค้างมาจากเดือนก่อน ประกอบกับผู้ส่งออกยังคงมีสัญญาที่ต้องเร่งส่งมอบพอสมควร โดยเฉพาะในกลุ่มของข้าวขาว ซึ่งมีทั้ง ข้าวตามสัญญาแบบรัฐต่อรัฐให้แก่อินโดนีเซีย
และสัญญาของภาคเอกชนที่ส่งไปยังตลาดหลัก เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น รวมทั้ง ตลาดหลักในภูมิภาคแอฟริกา เช่น โมซัมบิก แองโกล่า แคเมอรูน ตะวันออกกลาง เช่น อิรัก รวมทั้งตลาดในแถบอเมริกา เช่น เม็กซิโก บราซิล เป็นต้น
ขณะที่ตลาดนำเข้าข้าวหอมมะลิที่สำคัญยังคงมีการนำเข้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งในภูมิภาคอเมริกา เช่น สหรัฐฯ แคนาดา และภูมิภาคเอเชีย เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ จีน รวมทั้งตลาดยุโรป เช่น ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร
สำหรับราคาข้าวของไทยในช่วงนี้อยู่ในระดับที่สูงกว่าประเทศคู่แข่งมาก โดยเฉพาะเวียดนามซึ่งกำลังเสนอขายข้าวในราคาที่ต่ำลงจากการที่มีผลิตฤดูใหม่ (Summer-Autumn crop) ออกสู่ตลาด จึงให้ไทยสูญเสียตลาดข้าวขาวบางส่วน เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เป็นต้น
ทั้งนี้ราคาข้าวขาว 5% ของไทย ณ วันที่ 26 มิ.บ. อยู่ที่ 603 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนามอยู่ที่ 560-565 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน และปากีสถานอยู่ที่ 575-580 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ส่วนราคาข้าวนึ่งไทยอยู่ที่ 606 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ข้าวนึ่งอินเดีย อยู่ที่ 540-545 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน และปากีสถานอยู่ที่ 590-594 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ซึ่งคาดว่าจะทำให้การส่งออกข้าวของไทยในช่วงไตรมาส 3 ลดลงจากช่วงไตรมาส 1 และ 2 ของปีนี้
สำหรับการส่งออกข้าว อินเดียยังคงครองแชมป์ส่งออกข้าวเบอร์ 1 ของโลก มีปริมาณ 7.20 ล้านตัน ลดลง 25.4 % รองลงมาเป็นไทย ปริมาณ 4.06 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 16.5 % และเวียดนาม ปริมาณ 4.03 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 11.2 % ปากีสถาน ปริมาณ 3.02 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 72.5 % และ สหรัฐฯ ปริมาณ 1.50 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 66.7 %
โดยประเทศผู้นำเข้าข้าวไทย 5 อันแรกในช่วง 5 เดือน พบว่า อินโดนีเซีย นำเข้าสูงสุด ปริมาณ 914,760 ตัน เพิ่มขึ้น 96.6 % รองลงมาเป็น อิรัก ปริมาณ 363,438 ตัน ลดลง 38.7 % สหรัฐฯ ปริมาณ 344,873 ตัน เพิ่มขึ้น 15.8 % ฟิลิปปินส์ ปริมาณ 280,522 ตัน เพิ่มขึ้น 362.1 % และแอฟริกาใต้ ปริมาณ 229,369 ตัน ลดลง 36.9 %
อ่านข่าว:
กางแผนครึ่งปี67 "กรมเจรจาฯ" เร่งถก FTA กรุยทางสินค้าไทย
"ลาบูบู้เที่ยวไทย" ททท.ไม่ตกเทรนด์ เจาะตลาดกลุ่มนักเที่ยวจีน
ดอลลาร์แข็งค่ามากสุดรอบ 2 เดือน ฉุด"ราคาทอง"เช้านี้ร่วง 50 บาท