ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รู้จัก "อ่างเก็บน้ำแม่ฮอด" หลังเพิกถอนพื้นที่ป่า อุทยานฯ ออบหลวง

ภูมิภาค
18 มิ.ย. 67
13:22
589
Logo Thai PBS
รู้จัก "อ่างเก็บน้ำแม่ฮอด" หลังเพิกถอนพื้นที่ป่า อุทยานฯ ออบหลวง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กลายเป็นประเด็นพูดถึงหลังกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ออกมาให้ข้อมูลถึงการเพิกถอน อุทยานแห่งชาติออบหลวง จ.เชียงใหม่ 253 ไร่ ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ประเด็นนี้มีความเห็นสองฝ่ายทั้งฝ่ายเห็นด้วย กับอีกฝ่ายที่กังวลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะตามมา

รู้จักอ่างเก็บน้ำแม่ฮอด

โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ฮอด หมู่ 2 บ้านแพะดินแดง ต.ฮอด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ กรมชลประทานได้ขอเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติออบหลวง 253 ไร่ เพื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ เริ่มมีการสำรวจ วันที่ 7 ต.ค.2540 และจัดทำรายงานวางแผนโครงการ จัดทำแล้วเสร็จปี 2541

ลักษณะโครงการ

อ่างเก็บน้ำแม่ฮอด เป็นชนิดเขื่อนถมดินชนิดแบ่งส่วน สันเขื่อนมีความสูง +309 เมตร (รทก.) มีความกว้าง 10 เมตร ยาว 290 เมตร ส่วนที่สูงสุด 43 เมตร มีพื้นที่รองรับน้ำฝน 36 ตร.ม. จากฝนเฉลี่ย 1003 มม./ปี สามารถจุน้ำได้สูงสุด 3,760,456 ลบ.ม. และมีถนนเข้าโครงการกว้าง 6 เมตร ยาว 2,200 เมตร

ค่าใช้จ่ายการก่อสร้าง รวม 532.655 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 522 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อม 7.665 ล้านบาท

โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ฮอด

โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ฮอด

โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ฮอด

พื้นที่ได้รับประโยชน์

โครงการมีระบบชลประทานรวม 11.69 กม.พื้นที่ประชาชนได้รับผลประโยชน์ 4 หมู่บ้าน หมู่ 1,2,4,5 อบต.ฮอด จ.เชียงใหม่ รวม 341 ครัวเรือน พื้นที่ได้รับประโยชน์รวม 4,442 ไร่ ฤดูฝน 2530 ไร่ ฤดูแล้ง 653 ไร่

ลำน้ำแม่ฮอดปัจจุบันในฤดูฝน 14 มิ.ย.67

ลำน้ำแม่ฮอดปัจจุบันในฤดูฝน 14 มิ.ย.67

ลำน้ำแม่ฮอดปัจจุบันในฤดูฝน 14 มิ.ย.67

สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่ เปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ เมื่อ 10 มิ.ย.2567 ประเด็นการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติออบหลวงบางส่วน 253 ไร่ ชี้แจงรายละเอียด พื้นที่แบ่งออกเป็น พื้นที่หัวงาน และอาคารประกอบ 43 ไร่ พื้นที่กักเก็บน้ำ 207 ไร่ และพื้นที่หัวงาน 3 ไร่

ปัจจุบันสภาพพื้นที่และป่าบริเวณสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ฮอด 14 มิ.ย.67

ปัจจุบันสภาพพื้นที่และป่าบริเวณสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ฮอด 14 มิ.ย.67

ปัจจุบันสภาพพื้นที่และป่าบริเวณสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ฮอด 14 มิ.ย.67

ผลกระทบพื้นที่ป่า-สัตว์ป่าพื้นที่สร้างอ่าง

ผลกระทบจากการสร้างอ่างเก็บน้ำ จะส่งผลกระทบกับพื้นที่ป่า 253 ไร่ แบ่งเป็นป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ บัญชีรายชื่อไม้สำรวจในแปลงป่าเต็งรัง เช่น กระดูกกบ กระทุ่มเนิน กระพี้เขาควาย กระพี้จั่น กางขี้มอด ชิงชัน แดง เต็ง มะค่าโมง ผักหวานป่า ฯลฯ

บัญชีรายชื่อไม้สำรวจในแปลงเบญจพรรณ เช่น กระเจียน กระโถน กระพี้จั่น กางขี้มอด ขี้อ้าย ตะเคียนหนู ตะแบกเลือด ประดู่ มะกอกป่า ฯลฯ

ส่วนสัตว์ป่าสำรวจพบพื้นที่ก่อสร้าง หัวงานและอาคารประกอบ รวมถึงแนวท่อส่งน้ำ ถนนเข้าสู่พื้นที่งาน พบสัตว์ป่า 106 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นนกมากถึง 69 ชนิด รองลงมาคือ สัตว์เลื้อยคลาน 16 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 11 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 10 ชนิด

สัตว์ป่าคุ้มครอง ที่พบบริเวณโครงการส่วนใหญ่เป็นนก 64 ชนิด เช่น เป็ดแดง เหยี่ยวปีกแดง นกกวัก นกกระปูดใหญ่ นกเค้าเคราะ นกตะขาบทุ่ง นกกระรางหัวขวาน นกหัวขวานเขียวตะโพกแดง นกอีเสือสีน้ำตาล นกปรอทหัวโขน นกกินปลีเหลือง ฯลฯ

สัตว์ป่าคุ้มครอง 6 ชนิด คือ กิ่งก่ารั้ว เหี้ย งูสิงบ้าน กระต่ายป่า เม่นใหญ่ และหมาจิ้งจอก สัตว์ป่าถูกคุกคามในระดับใกล้สูญพันธ์ุคือ นกยูง

ชาวบ้านต้องการน้ำแก้ภัยแล้ง

นายอภิสิทธิ์ แสงสุวรรณ ผู้ใหญ่บ้านแพะดินแดง ต.ฮอด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ระบุว่า ลำน้ำฮอดจะมีน้ำมาก เฉพาะฤดูฝน ส่วนฤดูแล้งน้ำจะแห้งขอดไม่มีน้ำทำการเกษตร พื้นที่เกษตรกรรมกว่า 4,000 ไร่ มีน้ำไม่เพียงพอต้องอาศัยจากการสูบน้ำจากแม่น้ำปิงด้วยพลังงานไฟฟ้าทำให้เพิ่มต้นทุนของเกษตรกร

สอดคล้องกับ นายจักรกริช คำสุข ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลฮอด งบประมาณท้องถิ่น อบต.ฮอด กว่าร้อย 70 ถูกใช้ไปกับการสูบน้ำเพื่อการเกษตร ทำให้ไม่มีงบประมาณไปใช้พัฒนาในส่วนอื่น

ข้อมูลของกรมชลประทาน เอกสารสำรวจความคิดเห็นของชาวบ้าน 4 หมู่บ้าน 341 ครัวเรือน ร้อยละ 82.7 มีอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 96.77 เห็นด้วยกับการก่อสร้าง แต่ก็มีความกังวลโดยเฉพาะการสูญเสียป่าไม้

ขณะที่ข้อมูลการทำประชาพิจารณ์เพิกถอนอุทยานแห่งชาติออบหลวง บางส่วน มีชาวบ้าน 4 หมู่บ้านเข้าร่วมประชาพิจารณ์ มีรายงานว่า มีผู้เข้าร่วมกว่า 120 คน โดยทั้งหมดเห็นด้วยกับการเพิกถอนเพื่อการสร้างอ่างเก็บน้ำ

ชาวบ้านเพาะดินแดงขึ้นไปจุดสร้างอ่าง สภาพพื้นที่ป่าและแม่น้ำฮอดช่วงฤดูแล้ง

ชาวบ้านเพาะดินแดงขึ้นไปจุดสร้างอ่าง สภาพพื้นที่ป่าและแม่น้ำฮอดช่วงฤดูแล้ง

ชาวบ้านเพาะดินแดงขึ้นไปจุดสร้างอ่าง สภาพพื้นที่ป่าและแม่น้ำฮอดช่วงฤดูแล้ง

ด้านนายสมเกียรติ มีธรรม ผอ.สถาบันอ้อผญา อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมในลุ่มน้ำแจ่ม-น้ำปิง ระบุว่า เห็นถึงความจำเป็นของชาวบ้านต้องการใช้น้ำ โดยมองว่า ทางเลือกการสร้างอ่างเก็บน้ำไม่ใช่ทางแก้ปัญหาน้ำไม่เพียงพอต่อการเกษตร

เพราะตัวอย่างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่หลายแห่ง ตื้นเขินใช้การไม่ได้ เพราะลุ่มน้ำแจ่ม-น้ำปิง มีตะกอนทรายจำนวนมาก จึงเสนอภาครัฐควรมีทางเลือกให้ชาวบ้านแก้ปัญหาน้ำไม่พอใช้ เช่น การสร้างบ่อพวงหลายๆจุด เหมือนในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม

ก็เป็นตัวอย่างการแก้ปัญหาเรื่องน้ำไม่เพียงพอต่อการเกษตร ขณะเดียวกันยังกังวลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น เพราะหากสูญเสียจะไม่สามารถกลับคืนไม่ได้

สำหรับการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติออบหลวง บางส่วน กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ยังเปิดให้ประชาชนทั่วไปแสดงความคิดเห็น ผ่านทางเว็บไซต์ https://portal.dnp.go.th/Content/nationalpark?contentId=37239 ระหว่างวันที่ 10 – 24 มิถุนายน 2567

รายงาน : โกวิทย์ บุญธรรม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคเหนือ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง