วันนี้ (11 มิ.ย.2567) รายงานจากธนาคารเกียรตินาคินภัทร หรือ KKP Research เปิดเผยผลวิเคราะห์แนวโน้มภาคอุตสาหกรรมแห่ปิดโรงงานหลังจากแบกรับต้นทุนที่สูง การแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมอยู่ในภาวะที่อ่อนแอ สะท้อนจากทั้งดัชนีการผลิตที่หดตัวลงติดต่อกันเกินกว่า 1 ปี ยอดปิดโรงงานที่เพิ่มขึ้น และหนี้เสียในภาคการผลิตที่กำลังเร่งตัว โดยกลุ่มการผลิตเครื่องหนัง การผลิตยาง อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมไม้ และการผลิตเครื่องจักร เป็นกลุ่มที่มีการเพิ่มขึ้นของการปิดตัวโรงงานมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในอนาคตยังมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นโดยภาคอุตสาหกรรมยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีของสินค้าบางชนิด การแข่งขันที่มากขึ้นจากสินค้าจีน และ มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น
โดยในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาการเปลี่ยนแปลงที่เป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีของเศรษฐกิจไทย คือ การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่วัดจากดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ได้มาจากการสำรวจผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในไทย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเผยว่า มีการหดตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนธ.ค.ปี256 จนถึงเดือนมี.ค.2567 หรือต่อเนื่องกันกว่า 1 ปี 3 เดือน นับเป็นการโตติดลบติดต่อกันที่ยาวนานมากที่สุดครั้งหนึ่ง แม้ว่าวัฏจักรการค้าโลกจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ปลายปี 2566
สัญญาณถัดมาที่น่ากังวลกว่านั้น คือ ข้อมูลการปิดโรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่เร่งตัวขึ้นชัดเจนตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2566 ค่าเฉลี่ยการปิดโรงงานของไทยอยู่ที่ 57 โรงงานต่อเดือนในปี 2564 และ 83 โรงงานต่อเดือนในปี 2022 ในขณะที่พุ่งสูงขึ้นถึง 159 โรงงานต่อเดือนในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 ส่งผลให้หากนับรวมตั้งแต่ต้นปี 2023 มาจนถึงไตรมาสแรกของปี 2024 มีโรงงานปิดตัวลงไปแล้วกว่า 1,700 แห่ง กระทบการจ้างงานกว่า 42,000 ตำแหน่ง

ตัวเลขการเปิดตัวโรงงานใหม่ลดลงกว่าในอดีต ย้ำให้เห็นถึงสถานการณ์ภาคอุตสาหกรรมไทยที่ยังไม่ดี เพราะการเปิดโรงงานใหม่มีทิศทางที่ชะลอตัวลง ทำให้ยอดการเปิดโรงงานภาพรวมชะลอตัวอย่างมาก เฉลี่ยประมาณ 150 โรงงานต่อเดือน ลดลงเหลือเพียง 50 โรงงานต่อเดือน
KKP Research วิเคราะห์อีกว่า สถานการณ์การเปิดและปิดตัวของโรงงานอุตสาหกรรมยังมีความแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละกลุ่ม โดยอุตสาหกรรมที่มีการปิดตัวเร่งขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเป็นกลุ่มเดียวกันกับอุตสาหกรรมที่ดัชนีการผลิตมีการหดตัวลง สะท้อนว่าภาคการผลิตของบางกลุ่มธุรกิจที่อยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่กว่าค่าเฉลี่ย
อุตสาหกรรมที่มีทิศทางน่ากังวลเนื่องจากมีการหดตัวของการผลิตและโรงงานปิดตัวเพิ่มขึ้นมาก คือ กลุ่มการผลิตเครื่องหนัง การผลิตยาง อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมไม้ และการผลิตเครื่องจักร
อย่างไรก็ตามขนาดและพื้นที่ของโรงงานที่ปิดตัวในช่วงที่ผ่านมาพบว่ากระจุกตัวอยู่ในกลุ่มโรงงานขนาดใหญ่เป็นหลัก ขณะที่โรงงานเปิดใหม่ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็ก แสดงให้เห็นว่าปัญหาการผลิตที่ชะลอตัวลงในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้เกิดจากปัจจัยเฉพาะของกิจการแต่เกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างในภาพใหญ่ที่กระทบกับอุตสาหกรรมทั้งอุตสาหกรรม

ข้อมูลที่ตอกย้ำความน่ากังวลของสถานการณ์ในภาคอุตสาหกรรม คือ การเพิ่มขึ้นของหนี้เสียในภาคการผลิตที่มีสัญญาณเร่งตัวขึ้นอย่างชัดเจนและสะท้อนปัญหาที่รุนแรงในภาคอุตสาหกรรมไทย มากกว่าเป็นการชะลอตัวชั่วคราว ซึ่งนำไปสู่ความจำเป็นต้องปิดโรงงานและกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้
ความสัมพันธ์ระหว่างอุตสาหกรรมที่มีการปิดตัวของโรงงานสูงกับอุตสาหกรรมที่หนี้เสียปรับตัวสูงขึ้น โดยโรงงานกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการปิดตัวมากกว่า มีแนวโน้มที่การเพิ่มขึ้นของหนี้เสียสูงกว่าด้วย
ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย ทำให้แม้ว่าในอดีตการผลิตของไทยและโลกจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่สอดคล้องกันมาโดยตลอด แต่ในช่วงทีผ่านมาพบว่าการผลิตของภาคอุตสาหกรรมไทยเริ่มมีทิศทางที่ไม่สอดคล้องกับการผลิตของประเทศอุตสาหกรรมหลักในภูมิภาคและการผลิตของโลก ภาวะการค้าโลกที่ฟื้นตัว
โดย KKP Research แบ่งหมวดสินค้าในภาคการผลิตไทยเป็น 3 กลุ่ม คือ การผลิตที่ยังเคลื่อนไหวตามวัฏจักรปกติ เป็นกลุ่มสินค้าที่ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นได้หากอุปสงค์กลับมาเติบโตขึ้นซึ่งคิดเป็นประมาณ 47% ของมูลค่าการผลิตทั้งหมด ,การผลิตที่ปรับตัวลดลงตามสินค้าคงคลังที่สูง กลุ่มอุตสาหกรรมที่ในช่วงที่ผ่านมามีระดับสินค้าคงคลังที่สูงกว่าปกติมาก และอาจกลับมาปรับตัวดีขึ้นได้บ้างเมื่อสินค้าคงคลังเริ่มปรับตัวลดลง

และการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น การผลิต Hard Disk Drive ที่ถูกทดแทนด้วย Solid State Drive ซึ่งส่งผลกระทบให้การผลิต HDD หดตัวต่อเนื่องมานาน หรือการผลิตเหล็กที่ถูกทดแทนด้วยการแข่งขันจากสินค้าจีน KKP ประเมินว่าสินค้ากลุ่มนี้คิดเป็นกว่า 35% ของมูลค่าเพิ่มในภาคการผลิตทั้งหมด
การสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวมที่พึ่งพามูลค่าเพิ่มจากภาคอุตสาหกรรมกว่า 35% ของมูลค่าเศรษฐกิจ โดยตั้งแต่หลังช่วงโควิดมากลับกลายเป็นภาคบริการที่ขยายตัวได้ดีในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรมไทยกลับมาเป็นบวกในรอบมากกว่า 1 ปี และหลายฝ่ายยังหวังว่าจากภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ปรับดีขึ้นจะกลับมาช่วยภาคอุตสาหกรรมไทยกลับมาขยายตัวได้
อย่างไรก็ตามความกังวลที่เพิ่มขึ้นอย่างมากต่อสถานการณ์อุตสาหกรรมไทยในระยะยาว เช่น การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในบางกลุ่มสินค้าหลัก เช่น การเปลี่ยนจากรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นรถยนต์ EV โดยในช่วงทีผ่านมามีการส่งออกรถยนต์ EV ราคาถูกจากจีนมายังไทยและส่งผลกระทบอย่างมากต่อทั้งยอดขายและราคารถยนต์ ICE ในไทย หรือ การเปลี่ยนจากการใช้ HDD เป็น SSD ซึ่งจะรุนแรงมากขึ้นต่อเนื่องการเข้ามาทดแทนเทคโนโลยีเก่าได้เร็วและกว้างขึ้น

รวมไปถึงการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากสินค้าจีนปัจจุบันไทยขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่เพียงแต่เฉพาะสินค้าในกลุ่มยานยนต์ที่เข้ามา แต่ไทยมีการนำเข้าจากจีนในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในหลายกลุ่มสินค้าเมื่อเทียบกับการนำเข้าทั้งหมด รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีต้นทุนต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตในไทย
และมาตรการกีดกันการค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มทวีความเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะในช่วงหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หารทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง แนวโน้มที่จะมีมาตรการกีดกันทางการค้าจากจีนและโลกเพิ่มเติม ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงทำให้การค้าโลกในภาพรวมชะลอตัวลง และมีโอกาสที่สินค้าจากจีนจะทะลักมายังอาเซียนรวมถึงไทยเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นการระบายสินค้าของจีนไปยังตลาดส่งออกอื่น
“ผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นและเริ่มลุกลามมาสู่อุตสาหกรรมที่เคยเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย ที่เห็นได้ชัด คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ เห็นได้จาก ค่ายรถยนต์อย่าง Suzuki ยุติการผลิตในไทย ดังนั้นรัฐบาลควรหาเครื่องยนต์ใหม่มาทดแทนเครื่องยนต์เดิมของเศรษฐกิจที่หายไป ไม่เช่นนั้นคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยมีศักยภาพการเติบโตต่ำลงไปเรื่อย ๆ”
อ่านข่าว:
ศึกชิงตลาด “ทุเรียน” (ไทย) เสี่ยงสูงถูก "เวียดนาม" ล้มแชมป์