วายร้าย VOCs อันตรายต่อร่างกาย ทำลายอวัยวะภายใน

สิ่งแวดล้อม
9 พ.ค. 67
14:21
2,741
Logo Thai PBS
วายร้าย VOCs อันตรายต่อร่างกาย ทำลายอวัยวะภายใน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรณีเพลิงไหม้ บ.มาบตาพุด แทงค์ เทอมินัล จ.ระยอง พบว่าต้นเพลิงเป็นถังบรรจุแก๊สโซลีน มีกลุ่มสาร VOCs หรือสารอินทรีย์ระเหยง่าย ถูกเผาไหม้จำนวนมาก อันตรายจากการรับควันพิษเข้าไปเกิดผลกระทบทั้งในระยะสั้น-กลาง-ยาว ตั้งแต่หายใจติดขัดจนถึงอวัยวะถูกทำลาย

VOCs คืออะไร

VOCs (Volatile Organic Compounds : VOCs) หรือในชื่อภาษาไทยเรียก สารอินทรีย์ระเหยง่าย มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบหลัก และมีไฮโดรเจน ออกซิเจน ฟลูออไรด์ คลอไรด์ โบรไมด์ ซัลเฟอร์ หรือไนโตรเจน ประกอบร่วมกันเป็นพวกอะลิฟาติก (Aliphatic) หรืออะโรเมติก (Aromatic) รวมถึงกลุ่มคาร์บอนิล (อัลดีไฮด์ คีโตน) และกลุ่มแอลกอฮอล์ ที่สามารถระเหยกลายเป็นไอหรือก๊าซได้ง่ายที่อุณหภูมิห้อง 

VOCs เกิดจากการเผาไหม้ของน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งปล่อยออกมาจากการประกอบกิจการของภาคอุตสาหกรรมการผลิต แหล่งกำเนิดที่สำคัญของ VOCs คือ รถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม และแหล่งกำจัดขยะ เมื่อ VOCs ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ประกอบกับฟอร์มที่เป็นอะโรเมติก แอลกอฮอล์ ที่ระเหยง่าย จึงมักเกิดปัญหาร้องเรียน "เรื่องกลิ่น" ซึ่งเป็นปัญหามลพิษที่เกิดการร้องเรียนสูงสุดตามมา

ในชีวิตประจำวันเราได้รับ VOCs จากผลิตภัณฑ์หลายอย่าง เช่น สีทาบ้าน ควันบุหรี่ น้ำยาฟอกสี สารตัวทำละลายในหมึกพิมพ์จากอู่พ่นสีรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม น้ำยาซักแห้ง น้ำยาสำหรับย้อมผมและน้ำยาดัดผม สารฆ่าแมลง น้ำมันเชื้อเพลิง สารที่เกิดจากการเผาไหม้และปะปนในอากาศ น้ำดื่ม เครื่องดื่ม อาหาร เป็นต้น

ผลกระทบจาก VOCs

ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม 

  1. ด้านคุณภาพอากาศ ไอระเหย VOCs ที่สะสมไว้เป็นเวลานาน มีผลต่อชั้นโอโซนที่อยู่ใกล้โลก ทำให้เกิดปฏิกิริยา Photochemical Smog ที่มีแสงแดดเป็นตัวเร่ง และเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ ทำให้เกิดอาการเจ็บคอ หายใจไม่สะดวก ถ้าได้รับเป็นเวลานานเนื้อเยื่อปอดจะถูกทำลายอย่างถาวร และมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์
     
  2. ด้านคุณภาพน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน สาร VOCs ที่ถูกปล่อยลงดินหรือรั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพ เกิดความเป็นพิษขึ้น พืชและสัตว์น้ำจะไม่สามารถอยู่ได้ 
  3. ด้านคุณภาพดิน VOCs เมื่อซึมลงสู่ดินจะเกิดการสะสมในชั้นดิน กระทบต่อคุณภาพและการใช้ประโยชน์ของดินในบริเวณนั้น

  4. กระทบต่อพืชและระบบนิเวศ ทำลายคลอโรฟิลล์ พืชไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ แคระแกร็น โตช้าจนตายลงในที่สุด 

อ่านข่าว : "สาธารณภัย" ต้องรุนแรงขั้นไหนถึงต้องประกาศ "ภาวะฉุกเฉิน"

ผลกระทบต่อสุขภาพ

มนุษย์สามารถรับ VOCs ได้ 3 ทาง คือ การหายใจ การกิน และการสัมผัส เมื่อได้รับ VOCs เข้าไปแล้วเกิดอันตรายต่อสุขภาพจะแตกต่างกันไปตามชนิดของ VOCs 

  1. การหายใจ กระทบระบบประสาทส่วนกลาง นอนไม่หลับ ความจำเลอะเลือน เวียนศีรษะ มึนงง หมดสติ ระคายเคืองต่อจมูก ลำคอ น้ำท่วมปอด หายใจติดขัด หัวใจเต้นช้า เกิดความผิดปกติในระบบเลือด คลื่นไส้ ตับ-ไต-กระเพาะปัสสาวะถูกทำลาย

  2. การกิน กดประสาทส่วนกลาง เป็นแผลไม้ที่ปากเหงื่อออกมาก หอบหืดคล้ายหายใจเข้าไปตลอดเวลา เป็นแผลที่กระเพาะอาหาร ท้องอืด ปวดท้อง เบื่ออาหาร

  3. การสัมผัส เกิดแผลพุพอง แผลไหม้ ผื่นแดง ผิวหนังแห้ง หากเข้าตาทำให้ตาระคายเคือง ปวดตา ตาแดง เป็นแผลไหม้ 

สาร VOCs มีผลต่อสุขภาพมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของสารเคมีปริมาณที่ได้รับ สภาวะทางชีวภาพของร่างกาย และปัจจัยอื่นๆ สาร VOCs บางชนิดหากได้รับในปริมาณมากทำให้เกิดการทำลายระบบประสาทส่วนกลาง คือไปกดประสาทส่วนกลางโดยอาจจะเกิดอาการทันที ทำให้หมดสติได้ แต่ถ้าได้รับในปริมาณน้อยเป็นเวลานาน ก็ทำให้เกิดปัญหาเรื้อรัง ทำให้เกิดมะเร็ง และเกิดการเสื่อมของเนื้อเยื่ออวัยวะภายในได้ด้วย สำหรับการรักษาผู้ป่วยนั้นมีความลำบากยุ่งยากมาก ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือการป้องกันและควบคุม 

อ่านข่าว : วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นผู้ได้รับสารพิษ "จากการสูดดม"

เพลิงไหม้มาบตาพุดแทงค์ ไวไฟระดับ 3 

VOCs เป็นสารเคมีที่ติดไฟง่าย จากกรณีเพลิงไหม้ถังบรรจุแก๊สโซลีน จากการกลั่นน้ำมันในอุตสาหกรรมซึ่งกลุ่มปิโตรเคมี ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดนั้น พบว่าสารต้นเพลิงมีความไวไฟระดับ 3 อ้างอิงตามระบบ NFPA
(The National Fire Protection Association) ของสหรัฐอเมริกา กำหนดสัญลักษณ์แสดงอันตราย (Hazard Pictogram) เป็นรูปเพชร (Diamond-shape) เพื่อใช้ในการป้องกันและตอบโต้เหตุเพลิงไหม้

สัญลักษณ์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่วางตั้งตามแนวเส้นทแยงมุม ภายในแบ่งออกเป็นสี่เหลี่ยมย่อย ขนาดเท่ากัน 4 รูป ใช้พื้นที่กำกับ 4 สี ได้แก่

  • สีแดง แสดงอันตรายจากไฟ (Flammability)
  • สีน้ำเงิน แสดงอันตรายต่อสุขภาพ (Health)
  • สีเหลือง แสดงความไวต่อปฏิกิริยาของสาร (Reactivity)
  • สีขาวแสดงคุณสมบัติพิเศษของสาร และใช้ตัวเลข 0 ถึง 4 แสดงถึงระดับอันตราย

ความไวไฟระดับ 3 นั้น หมายถึงของเหลวหรือของแข็งที่ติดไฟได้ในอากาศ ที่อุณหภูมิปกติ ได้แก่ สารที่มีจุดวาบไฟน้อยกว่า 22.8 องศาเซลเซียส และมีจุดเดือดมากกว่า 37.8 องศาเซลเซียส เมื่อได้รับความร้อนหรือแรงสั่นสะเทือนที่สูงพอ  จะระเบิดได้ มีอันตรายต่อสุขภาพคือ เมื่อสูดดมในเวลาสั้น ๆ หรือสัมผัสผิวหนัง ประมาณเล็กน้อยจะเป็นอันตรายร้ายแรงชั่วคราว หรือมีผลตกค้างได้ 

ที่มา : คู่มือวิชาการเรื่อง สารอินทรีย์ระเหยง่ายในอากาศ (Volatile Organic Compounds : VOCs) สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, กองความปลอดภัยแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 

อ่านข่าวอื่น :

บ.มาบตาพุดแทงค์ฯ ชี้แจงไฟไหม้ถังเก็บสารไพรโรไลสิส แก๊สโซลีน

ศาลปกครอง สั่งปรับ ป.ป.ช. 1 หมื่นบาท ไม่เปิดข้อมูลนาฬิกา "บิ๊กป้อม"

โอละพ่อ "เศรษฐา" กินข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา ไม่ใช่ข้าว 10 ปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง