วันนี้ (6 พ.ค.2567) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันที่ 7 พ.ค.2567 นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการคนที่ 1 หอการค้าไทย และ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ร่วมกันแถลงข่าว
โดยนายพจน์ ระบุว่าคัดค้านการขึ้นแรงงานขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ เพราะจะเป็นดาบสองคมของภาคธุรกิจ ซึ่งบางธุรกิจสามารถปรับขึ้นได้ แต่บางธุรกิจอาจได้รับผลกระทบในเชิงลบมากกว่าบวก จึงควรปรับขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเหมาะสม และใช้แรงงานคนไทยมากกว่าแรงงานต่างชาติ
ส่วนนายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง แต่ไม่เห็นด้วยกับการขึ้น 400 บาททั้งประเทศ และอยากชี้ในประเด็นว่า การขึ้น 400 บาท ใครได้ประโยชน์มากที่สุด กระทรวงแรงงานควรรับฟังความเห็น ต้องมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน รวมทั้งการดึงแรงงานเข้าระบบประกันสังคม เพื่อให้มีสวัสดิการและได้รับการดูแลค่าแรงที่เป็นธรรม รวมทั้งเพิ่มทักษะขีดความสามารถด้วย เพื่อไม่ให้การขึ้นค่าแรงเป็นวาทกรรม หรือพิธีกรรมเท่านั้น
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน
ก่อนหน้านี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน แสดงความเชื่อมั่นว่าจะสามารถขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศได้สำเร็จในวันที่ 1 ต.ค.2567 แต่ก็จะหารือกับส่วนราชการอื่นๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดกับ SME รวมทั้งในวันที่ 13 พ.ค.นี้ จะหารือกับสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการอีกหลายสาขาอาชีพ รวมทั้งนายกสมาคมเอสเอ็มอี ว่าต้องการให้รัฐบาลช่วยอะไร และจะขอให้ รมว.พาณิชย์ ควบคุมราคาสินค้าที่ขึ้นล่วงหน้าไปบ้างแล้ว
มีรายงานว่า กระทรวงพาณิชย์ ให้กรมการค้าภายในดูแลราคาสินค้าอุปโภค บริโภค รวมถึงราคาอาหารสำเร็จรูป ไม่ให้ฉวยโอกาสขึ้นราคา หลังมีข่าวจะปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท รวมทั้งการขึ้นเงินเดือนข้าราชการที่ทะยอยปรับขึ้นในเดือนนี้
อ่านข่าวอื่น :
เร่งตามจับ "แก๊งอุ้มรีดเงินชาวจีน" ขอหมายจับเพิ่มอีก 3 คน
"บิ๊กต่าย" สั่งตรวจคุณสมบัติกรรมการสอบสวนฯ หลัง "บิ๊กโจ๊ก" ร้องค้าน
"ทักษิณ" เคลื่อนตัว กระชับพื้นที่ ส่งผ่านอำนาจ "อุ๊งอิ๊ง" สู้ศึกระยะไกล