ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดขั้นตอน "ก.พ.ค.ตร." รับอุทธรณ์ "บิ๊กโจ๊ก" ให้ออกจากราชการฯ

อาชญากรรม
3 พ.ค. 67
15:28
2,156
Logo Thai PBS
เปิดขั้นตอน "ก.พ.ค.ตร." รับอุทธรณ์ "บิ๊กโจ๊ก" ให้ออกจากราชการฯ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ภายหลังที่ "บิ๊กโจ๊ก" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ยื่นเรื่องอุทธรณ์คำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) ไปเมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา

ต่อมานายธวัชชัย ไทยเขียว หนึ่งใน ก.พ.ค.ตร. และรองโฆษก ก.พ.ค.ตร. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กตอนหนึ่ง เมื่อวันที่ 27 เม.ย. ชี้แจงถึงกรณีข้าราชการตำรวจอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง ว่า ผู้อุทธรณ์ยื่นอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค.ตร. ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งแล้ว

ข้อมูลล่าสุด พบว่า นายสมรรถชัย วิศาลาภรณ์ ประธานกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) ได้พิจารณาคำร้องอุทธรณ์และได้มอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งเป็นเจ้าของสำนวนแล้วว่า เป็นอุทธรณ์ที่ถูกต้องครบถ้วนและมีลักษณะต้องห้ามหรือไม่

ขั้นตอนจากนี้คือ กรรมการเจ้าของสำนวน จะพิจารณาสำนวนอุทธรณ์ว่า เป็นอุทธรณ์ที่ถูกต้องครบถ้วนและมีลักษณะต้องห้ามหรือไม่ ในกรณีที่ถูกต้องครบถ้วน จะดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริง โดยมีนิติกรเป็นผู้สนับสนุน

หาข้อเท็จจริง-ทำคำแก้อุทธรณ์ภายใน 30 วัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อกรรมการเจ้าของสำนวนคดีมีคำสั่งรับอุทธรณ์แล้ว ก็จะมีคำสั่งให้คู่กรณีในอุทธรณ์ทำคำแก้อุทธรณ์โดยส่งสำเนาคำอุทธรณ์และสำเนาพยานหลักฐาน โดยให้คู่กรณีในอุทธรณ์ทำคำแก้อุทธรณ์โดยชัดแจ้งตามที่ปรากฏในหนังสืออุทธรณ์และคำขอท้ายอุทธรณ์ รวมทั้งประเด็นที่กำหนดพร้อมส่งสำเนาพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือให้ทำคำแก้อุทธรณ์หรือภายในระยะเวลาที่กรรมการเจ้าของสำนวนกำหนด กรณีที่กรรมการเจ้าของสำนวนเห็นว่า คำแก้อุทธรณ์ของคู่กรณีในอุทธรณ์ไม่ครบถ้วนหรือชัดแจ้งจะสั่งให้คู่กรณีในอุทธรณ์แก้ไขหรือเพิ่มเติมได้

เมื่อคู่กรณีในอุทธรณ์ยื่นคำแก้อุทธรณ์แล้ว กรรมการเจ้าของสำนวนจะส่งสำเนาคำแก้อุทธรณ์พร้อมทั้งสำเนาพยานหลักฐานให้ผู้อุทธรณ์ ได้รับทราบด้วย

กรรมการเจ้าของสำนวนมีอำนาจสั่งให้คู่กรณีในอุทธรณ์ ส่งสำเนาการสอบสวนและการลงโทษ รวมทั้งเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องภายในเวลาที่กำหนดหรือส่งตัวข้าราชการตำรวจในสังกัดมาให้ถ้อยคำหรือ มีคำสั่งให้ข้าราชการพนักงานหรือลูกจ้างของกระทรวง ทบวง กรม

ส่วนราชการรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือบุคคลใดที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งพยานหลักฐานหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการแสวงหาข้อเท็จจริง รวมทั้งมีอำนาจให้เรียกคู่กรณีมาชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ตามที่เห็นสมควรโดยให้บันทึกการได้มาของพยานหลักฐานหรือเอกสารที่ปรากฏในสำนวนด้วย

สรุปสำนวน-แจ้งคู่กรณีล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 10 วัน

เมื่อกรรมการเจ้าของสำนวนได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากคำอุทธรณ์คำแก้อุทธรณ์ของคู่กรณี รวมทั้งข้อเท็จจริงอื่นที่ได้มาจากการแสวงหาข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า ไม่มีกรณีที่จะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ให้มีคำสั่งกำหนดวันใดวันหนึ่งเป็นวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงในเรื่องนั้น แล้วแจ้งให้คู่กรณีทราบกำหนดวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 10 วัน

บรรดาคำอุทธรณ์เพิ่มเติม คำแก้อุทธรณ์ คำชี้แจงรวมทั้งพยานหลักฐานอื่นๆ ที่ยื่นหลังวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริง ไม่ให้รับไว้เป็นส่วนหนึ่งของสำนวนอุทธรณ์และไม่ต้องส่งสำเนาให้คู่กรณีที่เกี่ยวข้อง เมื่อได้ข้อเท็จจริงเพียงพอต่อการวินิจฉัยเรื่องอุทธรณ์นั้นแล้ว ให้กรรมการเจ้าของสำนวนจัดทำบันทึกสรุปสำนวนเสนอต่อ ก.พ.ค.ตร. เพื่อพิจารณาพิจารณาวินิจฉัย

"วินิจฉัยอุทธรณ์"พิจารณาให้เสร็จ ภายใน 120 วัน

กฎ ก.พ.ค.ตร. มีข้อกำหนดว่า ก่อนที่ ก.พ.ค.ตร. จะพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์เรื่องใด ให้กรรมการเจ้าของสำนวน แจ้งวันประชุมพิจารณาวินิจฉัยให้คู่กรณีทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน และคู่กรณีมีสิทธิ์ยื่นคำแถลงเป็นหนังสือต่อ ก.พ.ค.ตร.ก่อนที่จะพิจารณาวินิจฉัยและมีมติในเรื่องนั้นหรือมาแถลงด้วยวาจาต่อ ก.พ.ค.ตร.การประชุมพิจารณาวินิจฉัยก็ได้

ในการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ เว้นแต่มีเหตุขัดข้องทำให้การพิจารณาไม่แล้วเสร็จในระยะเวลาดังกล่าว

ให้ขยายเวลาได้อีกไม่เกิน 2 ครั้ง โดยแต่ละครั้งต้องไม่เกิน 60 วัน และให้บันทึกเหตุขัดข้องและแนวทางการดำเนินการให้ปรากฏไว้ด้วย

แนวทางวินิจฉัย "ก.พ.ค.ตร." ให้แจ้งภายใน 30 วัน

การพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ ก.พ.ค.ตร.มีอำนาจ ไม่รับอุทธรณ์, ยกอุทธรณ์, วินิจฉัยให้แก้ไขหรือยกเลิกคำสั่งลงโทษและให้เยียวยาความเสียหายให้ผู้อุทธรณ์ เร่งรัดติดตามการเยียวยา หรือให้ดำเนินการอื่นใดเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม แต่การพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ของ ก.พ.ค.ตร.จะมีคำวินิจฉัยให้เพิ่มโทษไม่ได้

แต่เห็นสมควรเยียวยาความเสียหายให้ผู้อุทธรณ์ หรือดำเนินการอื่นใดเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมอาจกำหนดไว้ในคำวินิจฉัย โดยให้คำนึงถึงความเสียหายที่ชัดแจ้งซึ่งผู้อุทธรณ์ได้รับ รวมทั้งสิทธิประโยชน์ของผู้อุทธรณ์ที่พึงได้รับตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เนื่องมาจากความเสียหายที่เกิดขึ้นประกอบด้วย

นายธวัชชัย ไทยเขียว อดีตรองปลัดยุติธรรมเป็นกรรมการ และรองโฆษก ก.พ.ค.ตร.

นายธวัชชัย ไทยเขียว อดีตรองปลัดยุติธรรมเป็นกรรมการ และรองโฆษก ก.พ.ค.ตร.

นายธวัชชัย ไทยเขียว อดีตรองปลัดยุติธรรมเป็นกรรมการ และรองโฆษก ก.พ.ค.ตร.

นอกจากนี้อาจกำหนดวิธีการชั่วคราวเพื่อการแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาทุกข์ก่อนที่ ก.พ.ค.ตร. จะมีคำวินิจฉัยด้วยก็ได้ การกำหนดวิธีการดังกล่าวให้คำนึงถึงองค์ประกอบสำคัญซึ่งได้ หากเห็นว่า คำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุพิพาทนั้นน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการให้คำสั่งทางปกครองดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง และการทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองนั้นไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐ

“คำวินิจฉัยออกมาประการใด ผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งลงโทษ ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยนั้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ ก.พ.ค.ตร. มีคำวินิจฉัย และถ้าไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร. ให้ถือว่า เป็นการจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น”

หากผลคำวินิจฉัยไม่เป็นคุณ ผู้ยื่นอุทธรณ์ฟ้องคดีต่อ “ศาลปกครองสูงสุด” ได้ภายใน 90 วัน

ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของ ก.พ.ค.ตร. สามารถยื่นฟ้องคดี ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ทราบหรือถือว่า ทราบคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร.

อีกทั้งก่อนหรือระหว่างการพิจารณาวินิจฉัย ผู้อุทธรณ์สามารถคัดค้านกรรมการ ก.พ.ค.ตร. ได้ แต่ในทางปฏิบัตินั้น ก.พ.ค.ตร. มีแนวทางภายในของกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ที่มีเหตุแห่งการคัดค้านตามข้อกฎหมายเพื่อพิจารณาถอน ตามเห็นสมควรอยู่แล้ว

พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี อดีต ผบ.ตร. อดีตเลขาธิการ สมช. และอดีตปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นกรรมการ

พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี อดีต ผบ.ตร. อดีตเลขาธิการ สมช. และอดีตปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นกรรมการ

พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี อดีต ผบ.ตร. อดีตเลขาธิการ สมช. และอดีตปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นกรรมการ

ด้วยแนวทางของ ก.พ.ค.ตร. ที่มีหลักปฏิบัติอยู่แล้ว จึงอาจจะเป็นสาเหตุที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เคยให้สัมภาษณ์ ในเดียวกับที่ยื่นเรื่องอุทธรณ์ ว่า “หนึ่งในคณะกรรมการ ก.พ.ค.ตร. คือ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี อดีต ผบ.ตร. ซึ่งเคยมีกรณีขัดแย้งต่อกันนั้น ท่านจะต้องรู้ตัวเองและขอถอนตัว แต่หากรู้ว่า ท่านไม่ดำเนินกาเองก็จะยื่นเรื่องร้องเรียนตามขั้นตอน”

เปิด 7 รายชื่อ“ก.พ.ค.ตร.ชี้ชะตา “บิ๊กโจ๊ก”

สำหรับคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค. ตร.) แต่งตั้งขึ้นโดยนายกรัฐมนตรีอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 33 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ประกอบด้วย

นายสมรรถชัย วิศาลาภรณ์ อดีตประธานแผนกคดีบริหารงานบุคคล ในศาลปกครองสูงสุด เป็นประธานกรรมการ

นายธวัชชัย ไทยเขียว อดีตรองปลัดยุติธรรมเป็นกรรมการ

พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี อดีต ผบ.ตร. อดีตเลขาธิการ สมช. และอดีตปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นกรรมการ

นายวันชาติ สันติกุญชร อดีตอธิบดีอัยการ สำนักงานคณะกรรมการอัยการเป็นกรรมการ

พล.ต.ท.อาจิณ โชติวงศ์ อดีต ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นกรรมการ

พล.ต.อ.อำนาจ อันอาตม์งาม อดีตที่ปรึกษา (สบ10) ตร. เป็นกรรมการ

พล.ต.ท.ปัญญา เอ่งฉ้วน อดีต ผบช.กมค. เป็นกรรมการและเลขานุการ

โดย ก.พ.ค.ตร.ชุดนี้มีวาระ 6 ปี และเป็นได้เพียงวาระเดียว ข้าราชการตำรวจที่ทุกข์จากการแต่งตั้ง,ทุกข์จากการเรียงลำดับอาวุโส ,ทุกข์ที่เกิดจาก ผบช.ขึ้นไป ณ วันนี้ก็มี ก.พ.ค.ตร. เป็นที่พึ่งเปรียบเปรยได้ว่า เป็น “ศาลตำรวจ” หรือ “ศาลปกครองชั้นต้น” ได้เลยทีเดียว

ก.พ.ค.ตร.เป็นคณะทำงานที่มีความเป็นอิสระ ตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2565 และเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปองค์กรให้ขับเคลื่อนไปภายใต้หลักคุณธรรม ให้สมกับที่เป็น “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์”

รายงานพิเศษ : กิตติพร บุญอุ้ม ผู้สื่อข่าวอาชญากรรม ไทยพีบีเอส

อ่านข่าว  

คกก.สอบวินัย เรียก "บิ๊กโจ๊ก" กับพวก รับทราบข้อกล่าวหา 7 พ.ค.นี้ 

"บิ๊กโจ๊ก" ยืนยันลูกน้องไม่ได้ปลดป้ายชื่อหน้าห้องทำงาน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง