ความคืบหน้าหลังกองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน (PDF) เข้าโจมตีกองบังคับการยุทธวิธี รวมทั้งกองพันที่ 275 เป็นค่ายทหารสุดท้ายที่ใหญ่ที่สุดในตัวเมืองเมียวดีได้แล้ว
ล่าสุดวันนี้ (12 เม.ย.2567) ผู้สื่อข่าวรายงาน สถานการณ์ในขณะนี้ว่า ทหารที่แตกทัพแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ทหารเมียนมา กลุ่มแรก กลุ่มที่ถูกโจมตีพร้อมกันในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมถึงกับกลุ่มครอบครัวของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ช่วงแรกมีข่าวจะส่งกลับทางเครื่องบิน อ.แม่สอด จ.ตาก อยู่ในความดูแล พื้นที่ของ KNU อยู่รวม 617 คน
อ่านข่าว : "กองทัพ" ตรึงสะพานไทย-เมียนมาสกัดทหารเมียนมา
กลุ่มที่ 2 คือ ทหารที่ถูกตีจากฐาน 275 รวมกว่า 200 นาย กลุ่มนี้ ถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ กลุ่มที่สามารถถอยร่น มาได้ที่สะพานมิตรภาพ ไทย - เมียนมา แห่งที่ 2 ขณะที่อีกกลุ่มยังไม่สามารถมารวมกับ 100 กว่าคนที่อยู่ใต้สะพานได้
เหตุผลที่ยังไม่สามารถมารวมกลุ่มกันได้ก็คือ เรื่องของการเดินทาง และพื้นที่การควบคุม เพราะหากจะมารวมกับกลุ่มแรก ต้องผ่านพื้นที่การคุมของ KNA ซึ่ง KNA ก็ประเมินว่า หากปล่อยให้มารวมกันแล้วกำลังเสริมทาง SAC จะสามารถเจาะพื้นที่เข้ามาเมียวดีได้ อาจทำให้ทหารเมียนมาลุกขึ้นมาต่อสู้ และสถานการณ์จะบานปลาย รวมถึงจุดสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 ก็เป็นจุดเศรษฐกิจชายแดน ไทยได้รับผลกระทบ ซึ่งคำถามคือ ทั้ง 2 กลุ่มอาจถูกนำไปรวมกัน โดยอยู่ในความดูแลของ KNU
นายกัณวีร์ สืบแสง สส.พรรคเป็นธรรม มองสถานการณ์นี้ว่า เป็นสถานการณ์พิเศษที่มีการปะทะและแตกทัพ ซึ่งรัฐบาลไทยควรวางแผนการรับมือ ที่หลากหลาย เช่น กรณีที่ทหารเมียนมาแตกทัพ และไม่อยากถูกส่งกลับ เนื่องจากกังวลว่าจะไม่ได้รับความปลอดภัย รัฐบาลไทยจะตัดสินใจให้พวกเขาขอลี้ภัยในไทยตามหลักการไม่ส่งกลับ ซึ่งเป็นไปตามหลักการมนุษยธรรมระหว่างประเทศ หรือหาทางออกไปประเทศที่ 3 หรืออื่น ๆ
อ่านข่าว : ปิดชั่วคราว สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2
การแก้ปัญหาในเมียนมา ระหว่างฝ่ายต่อต้าน และรัฐบาลทหาร ไทยใช้การเจรจาโดยให้ทหารเมียนมาเป็นเชลยศึกที่อยู่ภายใต้ความดูแลของ KNU ใช้การติดต่อทวิภาคีทั้ง 2 ฝ่ายให้สถานการณ์อยู่ในประเทศ และดำเนินการทางกฎหมายระหว่างประเทศ
แผนที่ 3 กรณีหากที่มีการปะทะที่กำลังเสริมเข้ามาเพราะพื้นที่เมียวดีมีตัวละครหลายตัว KNU, KNA และ SAC หากกองทัพรัฐบาลทหารเข้ามาจริง เชื่อว่า ฝ่ายต่อต้านคงไม่ยอมซึ่งการปะทะอาจส่งผลต่อชายแดนไทย และส่งผลกว้างไปที่อื่น
อ่านข่าว : กองทัพส่ง "เอฟ-16-รถหุ้มเกราะ" ลาดตระเวนแนวรบเมียนมา
ดังนั้น จึงนำมาสู่คำถามว่า หากการโจมตีกลับจากกองทัพ โดยเฉพาะการโจมตีทางอากาศ ฝั่งไทยจะมีแผนการรับมืออย่างไร นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ ที่ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ ระบุว่า ก่อนหน้านี้ รวมถึงกรณีล่าสุด ได้ทำหนังสือส่งไปยังกองทัพรัฐบาลทหารเมียนมา รวมถึงส่งตัวแทนไปพูดคุยเพราะไม่ประสงค์เห็นความรุนแรง
นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ
นอกจากนี้ยังพูดคุยกับชาติสมาชิกอาเซียน ส่งแถลงการณ์ถึงกองทัพรัฐบาลทหารให้ลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเมียนมา ทั้งนี้ การโจมตีทางอากาศ เป็นเรื่องภายใน ไทยไม่สามารถแทรกแซงได้ ส่วนการใช้เครื่องบินไทยขับไล่หากรุกล้ำอธิปไตย จะมีขั้นตอนปฏิบัติตามหลักสากล แต่ไทยก็มีความชัดเจนว่า ใครจะละเมิดแผ่นดินไทยไม่ได้
โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมายืนยันทหารถอยร่นเมียวดีจริง
ด้าน ซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมา เปิดเผยกับสื่อท้องถิ่นเมียนมาว่า ทหารของกองทัพในเมืองเมียวดี จำเป็นต้องถอนกำลังจากฐานทัพ และจุดต่าง ๆ ที่ประจำการ เพื่อความปลอดภัยของครอบครัว
การยืนยันข้อมูลดังกล่าวเกิดขึ้นหลังโฆษก KNU ระบุว่า ทหารของกองทัพประมาณ 200 นายถอยร่นไปปักหลักบริเวณสะพานที่เชื่อมระหว่างฝั่งเมียวดีกับ อ.แม่สอด โดยเชื่อว่า ทหารกลุ่มนี้น่าจะยังมีอาวุธอยู่
อ่านข่าว : "เศรษฐา" ตั้งคณะทำงานรับมือสู้รบเมียนมา-คาดทะลักไทย 1 แสน
นอกจากนี้ โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมา ยังระบุว่า รัฐบาลทหารเมียนมาได้หารือกับทางการไทยเกี่ยวกับกลุ่มทหารดังกล่าวแล้ว โดยไม่เปิดเผยจำนวนกำลังพลในกลุ่มนี้ รวมถึงยอมรับว่า สมาชิก KNU บางส่วนเข้าไปในพื้นที่เมืองเมียวดีแล้ว แต่ไม่เปิดเผยรายละเอียดอื่นใด
อ่านข่าวอื่น ๆ
“ทหารกะเหรี่ยง” ยึด "เมียวดี" แล้ว หลังรบยืดเยื้อ 4 วัน 7 ค่ายทหารเมียนมาแตก
เกาะติดสถานการณ์ชายแดนไทย หลัง "KNU - PDF คุมพื้นที่ "เมียวดี"