ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วันแรกสงกรานต์ "เมาขับ" 258 คดี เพิ่มขึ้น 7% จากปี 66

อาชญากรรม
12 เม.ย. 67
10:21
375
Logo Thai PBS
วันแรกสงกรานต์ "เมาขับ" 258 คดี เพิ่มขึ้น 7% จากปี 66
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมคุมประพฤติ เผยวันแรกเทศกาลสงกรานต์ ยอดยอดคุมประพฤติ "เมาขับ" 258 คดี เพิ่มขึ้น 17 คดีจากปี 66 มากสุดใน กทม. สมุทรปราการ กำแพงเพชร รองลงมาขับเสพ 66 คดี ขับรถประมาท 2 คดี

วันนี้ (12 เม.ย.2567) นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยถึงสถิติคดีที่ศาลสั่งคุมความประพฤติวันที่ 11 เม.ย.2567 วันแรกของการรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 มีคดีทั้งสิ้น 326 คดี แบ่งเป็นคดีขับรถขณะเมาสุรา 258 คดี คิดเป็นร้อยละ 79.14 คดีขับเสพ 66 คดี คิดเป็นร้อยละ 20.25 และคดีขับรถประมาท 2 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.61

เมื่อเปรียบเทียบคดีขับรถขณะเมาสุราในเทศกาลสงกรานต์ 2566 มีจำนวน 241 คดี กับสงกรานต์ 2567 จำนวน 258 คดี พบว่า เพิ่มขึ้น 17 คดี คิดเป็นร้อยละ 7.05 สำหรับจังหวัดที่มีสถิติคดีขับรถขณะเมาสุราสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 60 คดี สมุทรปราการ 29 คดี และกำแพงเพชร 28 คดี

เตือนดื่มเสี่ยงโรค-อุบัติเหตุ

ขณะที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ เตือนผู้ที่ต้องขับขี่รถยนต์เดินทางกลับบ้านในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนหรือระหว่างขับรถ อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้

นพ.ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เมื่อดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกาย จะทำให้ผู้ดื่มขาดสติ ควบคุมตัวเองไม่ได้ เป็นสาเหตุของการทะเลาะวิวาท หรือเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ทำให้สูญเสียทรัพย์สิน บางรายบาดเจ็บ ร้ายแรงที่สุดอาจถึงขั้นเสียชีวิต

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังส่งผลต่ออวัยวะหลายส่วนภายในร่างกาย เช่น ส่งผลต่อสมอง ทำให้ความจำเสื่อม ความจำบกพร่อง การตัดสินใจและการใช้เหตุผลผิดพลาด ผลต่อระบบประสาทส่วนปลาย ชาตามปลายมือ ปลายเท้า และยังส่งผลต่อระบบหัวใจอีกด้วย เพราะเมื่อดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกาย จะทำให้การเต้นและการบีบตัวของหัวใจไม่ปกติ นอกจากนี้ยังส่งผลถึงระบบทางเดินอาหาร เป็นแผลในกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบ เลือดออกในกระเพาะอาหาร หากมีเลือดออกมากอาจจะทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้

ทั้งนี้ หากประสบปัญหาเกี่ยวกับสุรา ยา และสารเสพติด สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 หรือเข้ารับการบำบัดรักษาได้ที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จ.ปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง