วันนี้ (9 เม.ย.2567) ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานกรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส วิเคราะห์การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ระบุว่า ในฐานะที่เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาจากการเลือกตั้งปี 2543-2549 ถูกถามบ่อยครั้งให้ช่วยวิเคราะห์ว่า การเลือก สว. ตามกติกาใหม่ในปี 2567 ผลจะเป็นอย่างไร จะได้หน้าตา สว.แบบไหน และอะไรคือจุดอ่อนจุดแข็งของการเลือก สว.แบบพิสดารในครั้งนี้
รู้สึกอึดอัดใจที่จะเรียกว่า การเลือก สว.ในครั้งนี้ ว่าเป็นการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยที่มีประชาชนเป็นผู้เลือก ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพราะ สว. ถูกกำหนดที่มาจากผู้สมัคร 20 กลุ่มอาชีพ โดยให้ผู้สมัครเลือกผู้สมัครด้วยกันเอง โดยเลือกภายในกลุ่มเดียวกันและเลือกผู้สมัครไขว้กับกลุ่มอื่น
1) การที่ให้ผู้สมัครเท่านั้นเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกผู้ที่จะได้เป็น สว. มีความหมายว่ารัฐธรรมนูญได้ตัดสิทธิของประชาชนในการเลือกตั้งครั้งนี้ มากกว่าการเลือกตั้งทั่วไปที่เคยเกิดขึ้น กล่าวคือ
ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจะต้องมีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป เท่ากับว่าตัดสิทธิ์คนอายุต่ำกว่า 40 ปี (คนรุ่นใหม่) ไม่มีสิทธิ์ในการใช้สิทธิ์เลือกตั้ง
ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจะต้องจ่ายเงิน 2,500 บาท เพื่อเป็นผู้สมัคร จึงจะมีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง เท่ากับว่าได้ตัดสิทธิของคนจำนวนมากที่ไม่มีเงินสมัคร หรือไม่พร้อมที่จะเสียเงิน 2,500 บาท
ผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งจะต้องยอมเสียเวลาในการเลือกทั้งหมด จำนวน 6 ครั้ง ใช้เวลาในการเลือกเกือบ 2 เดือน เท่ากับว่า กฎเกณฑ์ในการเลือก สว.ในครั้งนี้ ได้กำหนดให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ต้องเป็นผู้มีอายุ 40 ปีขึ้นไปพร้อมจะจ่ายเงิน 2,500 บาท และยินดีที่จะเสียเวลาในการไปเลือกตั้งเกือบสองเดือน จึงเป็นการตัดสิทธิ์ประชาชนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งเป็นจำนวนมาก และมากกว่าการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา
2) การเลือกตั้ง สว.ครั้งนี้ เป็นการเลือกให้ได้ตัวแทนจากกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ที่มีในประเทศประเทศไทย แต่ปรากฏว่า กติกากำหนดให้มีการแบ่งกลุ่มอาชีพเป็น 20 กลุ่ม แต่ละกลุ่มอาชีพจะได้รับเลือกตัวแทนไปเป็น สว.กลุ่มละ 10 คน รวมทั้งสิ้น 200 คน
หากพิจารณาในหลักการที่ว่าอาชีพใดมีประชากรจำนวนมาก ก็ควรมีสัดส่วนของ สว.ที่เป็นตัวแทนของอาชีพนั้นจำนวนมาก
ผู้มีอาชีพเกษตรกรและผู้ใช้แรงงาน เป็นคนส่วนมากผู้มีสัดส่วนประชากรที่สูงกว่าอาชีพอื่นรวมกัน แต่ด้วยวิธีการแบ่งกลุ่มอาชีพเป็น 20 กลุ่ม ได้ สว. กลุ่มละ 10 คน เท่าๆ กัน แบบที่กฎหมายกำหนด
ทำให้ตัวแทนของเกษตรกรไม่ว่าจะทำนา ทำไร่ ทำสวน ทำปศุสัตว์ หรือทำประมง และผู้ใช้แรงงานทุกประเภทรวมกัน จะมีตัวแทนเพียงไม่เกิน 5 กลุ่มอาชีพ ซึ่งหมายถึงมีจำนวน สว. ที่เป็นตัวแทนอาชีพของคนส่วนมาก น้อยกว่า 50 คน จากจำนวนทั้งหมด 200 คน
กติกาที่กำหนดจำนวน สว. ในแต่ละอาชีพ จึงไม่เป็นธรรมและเป็นการเลือกปฏิบัติ ทำให้เห็นภาพของ สว.ที่จะได้รับว่า เป็นตัวแทนของคนกลุ่มอาชีพชนชั้นสูงในสังคมไทย
3) วิธีการการเลือกตั้งได้กำหนดให้ผู้สมัครแต่ละกลุ่มอาชีพ ของแต่ละอำเภอ เลือกกันเอง ผู้สมัครคนหนึ่ง จะลงคะแนนได้สองคะแนน (เลือกตัวเองหนึ่งคะแนนก็ได้) แล้วนับคะแนนเพื่อนำเอาผู้ได้คะแนนสูงสุด 5 คนแรกเป็นตัวแทน ที่เหลือตัดทิ้ง ซึ่งมีความหมายว่า ผู้สมัครที่เหลือทั้งหมดจะหมดสิทธิ์เป็น สว. และหมดสิทธิ์ที่จะเป็นผู้เลือก สว. อีกต่อไป
หากผู้มีอิทธิพลหรือที่เรียกว่าบ้านใหญ่หรือพรรคการเมืองใหญ่ ส่งผู้สมัครในแต่ละกลุ่มอาชีพในจำนวนที่มากพอควร และจัดตั้งให้เลือกผู้สมัคร 5 คนที่กำหนดไว้ ผู้สมัครของตนคงจะได้คะแนนเป็นกอบเป็นกำ ส่วนผู้สมัครรายอื่น ๆ ที่เป็นอิสระ เลือกกันเองคะแนนจะแตกโอกาสที่จะได้จะน้อยมาก ๆ
เมื่อพรรคหรือผู้มีอิทธิพล ส่งผู้สมัครทุกกลุ่มอาชีพแล้วดำเนินการเช่นเดียวกัน ก็จะได้คนของตน 5 อันดับแรกทั้ง 20 กลุ่มอาชีพ ในรอบต่อไปจะให้เลือกไขว้กลุ่มอาชีพอย่างไรก็จะได้ผู้สมัครของตนทั้งสิ้น
และเมื่อส่งผู้สมัครครบทุกอำเภอ ซึ่งจังหวัดหนึ่งอาจจะมี 4-5 อำเภอ เมื่อเลือกกันเองในระดับจังหวัด ก็จะได้คนของตนทั้งสิ้น จะมีหลุดรอดไปบ้างคงเป็นจำนวนน้อย
หากผู้มีอิทธิพล พรรคการเมืองแบ่งงานกัน เพื่อแยกดำเนินการในแต่ละจังหวัด เมื่อนำตัวแทนที่ได้จากแต่ละจังหวัดมารวมกัน แล้วเลือกกันเองในระดับประเทศ ก็จะได้คนของพวกเดียวกันมาเป็น สว. และจะได้จำนวน สว. ของตนเป็นส่วนมากใน 200 คน โดยไม่ยากและมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการซื้อเสียงที่เคยปรากฏในอดีต
ทั้งหมดนี้เรียกว่าการบล็อกโหวต ที่บล็อกจะเอาพวกเดียวกันเท่านั้น คนอื่นถูกตัดทิ้ง การเลือกไขว้กลุ่มอาชีพที่หวังว่าจะทำให้บล็อกโหวตเกิดขึ้นได้ยากนั้น มีจุดอ่อนอยู่ที่ให้ผู้สมัครเลือกกันเองในรอบแรกในกลุ่มอาชีพของตนจนเหลือ 5 คนแรก ก่อนที่จะให้มีการเลือกไขว้
4) การเลือก สว. เพื่อให้ได้ตัวแทนจากกลุ่มอาชีพต่าง ๆ เป็นแนวคิดที่ดีและควรส่งเสริมแต่การให้ผู้สมัครเลือกกันเอง และตัดสิทธิ์ประชาชนเป็น สิ่งไม่เหมาะสมและอาจถูกกล่าวหาว่า ซับซ้อนซ่อนเงื่อน
ถ้าในอนาคตจะพัฒนาให้ประชาชน (ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งอายุมากกว่า 18 ปี) ได้มีสิทธิ์เลือกตั้ง สว.ในกลุ่มอาชีพต่าง ๆ โดยประชาชนลงทะเบียนเลือกว่า ตนอยู่ในกลุ่มอาชีพใดเพียงหนึ่งกลุ่มอาชีพ และมีสิทธิ์ในการเลือก สว. ในกลุ่มอาชีพนั้น ไปเป็น สว.
จำนวน สว. ในแต่ละกลุ่มอาชีพควรมีจำนวนไม่เท่ากัน เป็นไปตามสัดส่วนของประชาชนที่ลงทะเบียนในแต่ละกลุ่มอาชีพ แล้วให้ประชาชนแต่ละกลุ่มอาชีพ ทั้งประเทศ เลือกผู้สมัครเพื่อเป็น สว.ในกลุ่มอาชีพนั้น วิธีนี้ก็จะสามารถป้องกันการบล็อคโหวต และได้ตัวแทนกลุ่มอาชีพที่เป็นที่รู้จัก มีความรู้ความสามารถ มีชื่อเสียงในระดับประเทศ
5) กล่าวโดยหลักการแล้ว วุฒิสภาควรจะมีอำนาจมากหาก สว. มีรากฐานมาจากประชาชนโดยตรง และวุฒิสภาควรมีอำนาจน้อยหากมีรากฐานมาจากกลุ่มอำนาจอื่น
การเลือกตั้งครั้งนี้วุฒิสภามีอำนาจค่อนข้างมาก แต่มีที่มาและวิธีการเลือกตั้งที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนและมีจุดอ่อนค่อนข้างมาก
วุฒิสภาชุดใหม่นี้ แม้จะไม่ได้มีสิทธิ์ในการเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ก็เป็นผู้แต่งตั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งปัจจุบันมีอำนาจมาก ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง คณะกรรมการปปช. คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมถึงคณะกรรมการ กสทช. เป็นต้น
ยิ่งไปกว่านั้น การจะยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่มีปัญหานี้เสียใหม่ จะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากวุฒิสภาจำนวน หนึ่งในสามของสมาชิกทั้งหมด ซึ่งหมาย ความว่าจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก สว. อย่างน้อย 67 คน จากจำนวนทั้งสิ้น 200 คน
จึงมีผู้คาดหวังและรณรงค์ให้ประชาชนยอมเสียเงิน 2,500 บาท เพื่อสมัครเป็น สว. เพื่อให้มีสิทธิ์ในการโหวตเลือก สว. แต่จะมีจำนวนมากพอที่จะทำลาย การบล็อกโหวตที่ผู้มีอิทธิพลหรือพรรคการเมืองจัดตั้งส่งคนเพื่อไปเลือกกันเองได้จริงหรือไม่
เพราะวิธีการนี้เป็นภาระของประชาชนที่ มีอายุมากกว่า 40 ปี และจะต้องจ่ายเงิน 2,500 บาท และเสียเวลาเกือบ 2 เดือนในการเลือกถึง 6 ครั้ง (ถ้าถูกบล็อกก็มีสิทธิ์เลือกเพียงครั้งเดียว)
น่าสนใจว่าการเลือกตั้งวิธีพิสดารที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยและที่ใดในโลก แต่กำลังจะเกิดกับการเลือกตั้ง สว.ในครั้งนี้ เราจะได้ สว. ที่ยึดโยงกับพรรคการเมืองหรือผู้มีอิทธิพลในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น อย่างไม่ต้องสงสัย
อ่านข่าว : หนีฝุ่น! "เชียงใหม่" WFH 9-11 เม.ย. งดท่องเที่ยวกลางแจ้ง
เชียงใหม่ ฝุ่น PM2.5 พุ่งอันดับ 1 โลก ภาคเหนือระดับสีแดง 18 พื้นที่
อย่าลืม! 9 เม.ย.ยื่น "ชำระภาษีเงินได้ปี 66" แบบออนไลน์ วันสุดท้าย