เซ็นสัญญาปุ๊บ บริษัทประกาศล้มละลายทันที
ประโยคแรกของอดีตพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินสายการบินแห่งชาติญี่ปุ่น Japan Airlines หรือ JAL บอกกับไทยพีบีเอสออนไลน์ เมื่อเรายิงคำถามแรกให้เล่าถึงช่วงชีวิตที่ได้ทำงานกับสายการบินระดับโลกที่ไม่มีใครเชื่อว่ามาถึงขั้นประกาศ "ล้มละลาย" ในปี 2010
อดีตแอร์โอสเตสสายการบินที่มีสัญลักษณ์คือ "นกกระเรียนสีแดง" เล่าว่า สาเหตุหลักๆ มาจากวิกฤตการเงินของโลกที่สถาบันการเงินชื่อ Lehman Brothers ประกาศล้มละลายในปี 2008 ส่งผลลูกโซ่ทำให้อุตสาหกรรมใหญ่ๆ ทั่วโลกล้มเป็นโดมิโนตามๆ กันไป
JAL ก็เป็นโดมิโนชิ้นหนึ่งในนั้น แต่นั่นก็แค่ส่วนหนึ่ง
กับอีกสาเหตุหนึ่งซึ่งเธอเชื่อว่า มีน้ำหนักพอๆ กันคือ ปัญหาการบริหารภายในขององค์กร ที่ถูกปัจจัยภายนอกกำหนด ศักดิ์ศรีของสายการบินแห่งชาติทำให้ JAL ต้องมีเครื่องบินให้มากพอเพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสาร นำมาซึ่ง "ต้นทุน" ต่างๆ ถูกวางอยู่บนหลังนกกระเรียนแดง เมื่อบรรทุกภาระอันหนักอึ้งไว้มากเกินไป กระเรียนแดงก็ปีกหัก
ข้อมูลจาก The Global Asia เขียนถึงสาเหตุการล้มละลายของ JAL ไว้ว่า เครื่องบินที่มากเกินไป บุคลากรมากเกินไป และเส้นทางการบินที่มากเกินไป คือ มรดกหนี้อันมหาศาล
เครื่องบิน Boeing747-400 ที่ JAL ตัดสินใจขายหลังเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูล้มละลาย
หลังจากยื่นล้มละลายต่อศาล "อินาโมริ คะซุโอะ" ผู้ได้ชื่อว่าเป็น "นักบวชผู้ช่วยเหลือนกกระเรียน" สั่งลดต้นทุนทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ ขายเครื่องบินที่ไม่สร้างกำไร เช่น B747-400 และเปลี่ยนมาใช้ B767 หรือ B777 แทน ตั้งโครงการเกษียณก่อนกำหนดเพื่อลดจำนวนพนักงาน และรวมไปถึง สั่งปิดเส้นทางการบินไปยังหลายสนามบินท้องถิ่น ที่แทบไม่เคยสร้างกำไร แต่กลับเป็นภาระต้นทุนที่ทำให้ JAL ต้องแบกรับมานานหลายปี
ตอนทำงานกับแอร์ญี่ปุ่น เขาเล่าว่าตอนนั้น JAL ต้องปิดเส้นทางบินหลายเมืองเล็กๆ ผู้โดยสารต้องไปหาสายการบินอื่นหรือไม่ก็ต้องนั่งรถไฟแทน
อดีตแอร์โฮสเตส เล่าถึงความหลังที่เธอพยายามถามจากรุ่นพี่ชาวญี่ปุ่น ขณะที่ต้องใช้กล้องถ่ายรูป ถ่ายตารางบินแทนการจดลงกระดาษ เพราะนโยบายบริษัทที่ขอความร่วมมือพนักงานช่วยกันประหยัดของใช้สำนักงานทุกอย่าง
คำสัญญากับชาตินิยม ที่รักษาไว้ไม่ได้
ปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีสนามบินทั้งหมด 98 แห่งมีทั้งที่บริหารโดยรัฐบาลกลาง และโดยรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งการสร้างสนามบินในแต่ละจังหวัดในญี่ปุ่นนั้น เป็นคำสัญญาอย่างหนึ่งในการหาเสียงของนักการเมืองท้องถิ่น และคนญี่ปุ่นมักจะรักษาคำมั่นสัญญาเสมอ
ในช่วงที่ JAL ประสบปัญหา สายการบินสัญชาติอเมริกัน 2 สายยื่นข้อเสนอควบรวมกิจการ แต่อย่างที่รู้ว่า ญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องชาตินิยม สุดท้ายรัฐบาลต้องจัดตั้งหน่วยงานเพื่อเข้ามาอุ้มและกำกับควบคุมการบริหารใหม่ทั้งหมดแทน แต่ในมุมของการบริหารสนามบิน หน่วยงานท้องถิ่นจำใจต้องยอมให้เครื่องบินจากสายการบินต่างชาติมาลงจอดเพื่อนำนักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่ กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น
แต่แก้ผ้าเอาหน้าก็ไม่รอด เพราะตามเมืองชนบทหลายแห่ง การคมนาคมยังไม่อำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวมากพอ เพราะนักการเมืองมักเอาเงินไปลงทุนกับโครงสร้างใหญ่ๆ เช่น การสร้างสนามบิน แต่ระดับโครงสร้างพื้นฐานนั้นกลับไม่เหลียวแล ฮิเดอากิ ฮิกาชิ นักยุทธศาสตร์การลงทุนบริษัทหลักทรัพย์ในกรุงโตเกียว กล่าวถึงเหล่านักการเมืองญี่ปุ่นที่สร้างสนามบิน และต้องการให้ JAL จัดเที่ยวบินให้
ถ้า JAL จะเอาตัวให้รอด ต้องพยายามรักษาเส้นทางที่ยังทำกำไร และตัดใจหยุดบินกับสนามบินที่ขาดทุน
Cut Loss ทำ JAL รอด
หลังการยื่นล้มละลายของ JAL อินาโมริ คะซุโอะ ในวัย 77 ปี เข้ารับตำแหน่ง CEO ของ JAL เขาปรับโครงสร้างใหม่ทั้งหมดเขาสร้างหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มหนึ่งชื่อ JAL Phylosophy อินาโมริ ใช้คำสอนตามนิกายเซน ในสมัยที่ตัวเองเป็นนักบวช เข้าแก้ไขสถานการณ์การล้มละลายของบริษัทสายการบินแห่งชาติ ปูพื้นฐานตั้งแต่แนวคิด จิตใจ ที่ทำให้พนักงานทุกคนมองไปในจุดหมายเดียวกัน คือการช่วยกันทำให้กระเรียนสีแดงกลับไปบินบนท้องฟ้าอย่างสง่าผ่าเผยได้อีกครั้ง
อินาโมริ คะซุโอะ อดีต CEO JAL ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว
ด้วยใจที่มุ่งมั่น อินาโมริ ตัดสินใจเด็ดขาด สั่งปิดเส้นทางบินที่ไม่สร้างกำไรให้กับ JAL แม้จะต้องเผชิญกับเสียงคัดค้านของนักการเมืองท้องถิ่นหลายคน ในที่สุดเขาก็ทำให้ JAL สามารถกลับเข้าตลาดหลักทรัพย์โตเกียวได้อีกครั้งในเดือน พ.ย.2012
อ่าน :
ครม.สัญจร พะเยาฝนตก “พัชรวาท” บอก “ไม่มีฝุ่นแล้ว”
งดงาม! ผ้าลายดอกสารภี-ผ้าคล้องคอ "ลายนกยูง" รับครม.พะเยา