ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เมื่อรมต.-รองประธานสภาฯ ท้าดวลกัน ประชาชนได้อะไร?

การเมือง
16 ก.พ. 67
13:59
200
Logo Thai PBS
เมื่อรมต.-รองประธานสภาฯ ท้าดวลกัน ประชาชนได้อะไร?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เดือด 2 วันต่อเนื่องกัน การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 14-15 ก.พ.2567 เมื่อนายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย จากพรรคภูมิใจไทย ในฐานะ สส.อุทัยธานี ปะทะคารมกับนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานในการประชุมสภาฯ

กรณีมีการใช้ภาพของเขาที่ถ่ายร่วมกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นภาพประกอบ ระหว่างอภิปรายในญัตติมาตรการอารักขาขบวนเสด็จ โดยไม่ได้มีการคาดหน้าหรือเบลอหน้า

ไม่เพียงประท้วงเบรกการอภิปรายของนายรังสิมันต์ โรม สส.จากพรรคก้าวไกล ที่นำภาพดังกล่าวมาใช้ประกอบการอภิปราย แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ประธานอนุญาตให้ขึ้นภาพประกอบที่ว่านี้ได้อย่างไร ใครเป็นคนอนุญาต

แม้นายพิเชษฐ์ที่ขอเวลาตรวจสอบข้อเท็จจริง 1 วัน จะชี้แจงต่อประชุมสภาฯ ในวันถัดมาว่า มีคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูล และวินิจฉัยความเหมาะสมในการนำเสนอแล้ว เป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้อมูลที่ไม่ต้องปกปิดหรือเบลอภาพ คือภาพคณะรัฐมนตรี กรรมาธิการ บุคคลในวงงานสภาฯ หนังสือเวียนและประกาศระเบียบของทางการที่มีการเปิดเผยในวงกว้าง และเป็นแนวทางปฏิบัติที่ใช้กันมาตลอด

กระทั่งบานปลายไปถึงท้าทายไปเจอกันข้างนอก จนเป็นที่ฮือฮา ทั้ง สส.ในห้องประชุมและคนที่ติดตามการถ่ายทอดสดหรือไลฟ์สดการประชุมสภาฯ ว่า เป็นที่ประชุมสภาของผู้ทรงเกียรติ หรือเป็นเวทีมวย หรือสนามท้าดวลอะไรกันแน่

เป็นเหตุการณ์ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นในยุคสมัยที่หลายฝ่ายต่างเรียกหาความปรองดองหลังบอบช้ำจาก “กีฬาสีการเมือง” มานานนับสิบปี และเริ่มปรากฏแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์รำไร เมื่อกำลังมีการขับเคลื่อนกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสภาฯ

แม้การประชุมสภาฯ ในประเทศไทย เคยมีเหตุการณ์ถึงขั้นลงไม้ลงมือกันมาก่อน เช่นเมื่อครั้ง พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ สว.กรุงเทพฯ ชกหน้านายอดุลย์ วันไชยธนวงศ์ สว.แม่ฮ่องสอน กลางห้องประชุมวุฒิสภา เมื่อปี 2547 และเมื่อครั้งนายการุณ โหสกุล สส.พรรคพลังประชาชน กระโดดถีบนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ สส.ประชาธิปัตย์ กลางสภาฯ เมื่อปี 2551

แต่เป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครภาคภูมิใจ และบริบททางการเมืองปัจจุบัน ได้เปลี่ยนไปจากเดิมมาก ทั้งการทำหน้าที่ตรวจสอบกันเองของนักการเมือง จากภาคประชาชน และยังมีเทคโนโลยีและเครื่องมือในการตรวจสอบที่ทันสมัยและรวดเร็ว

แต่สุดท้าย ยังได้เห็นเหตุการณ์ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นอยู่ดี แม้จะยังไม่ถึงขั้นลงไม้ลงมือ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเรื่องที่เยาวชน เด็ก ๆ สามารถเข้าถึงและรับรู้ได้

และไม่แปลกที่ผลสำรวจความเห็นของเด็กไทย จะพบว่าอาชีพลำดับท้ายๆ ที่เด็กอยากจะเป็นเมื่อโตขึ้นคือนักการเมือง

ยิ่งเป็นกรณีของคนดังคนเด่น อย่างนายชาดา เป็น สส.หลายสมัยของ จ.อุทัยธานี ปัจจุบันได้รับมอบหมายให้จัดทำบัญชีผู้มีอิทธิพลทั่วประเทศ ท่ามกลางเสียงเชียร์ว่า ถูกคนถูกงาน เนื่องจากเขาผ่านเรื่องเลวร้ายในครอบครัวมาตั้งแต่เด็ก ทั้งพ่อ แม่ และพี่ชายเสียชีวิต จนกลายเป็นคน “แกร่งทั่วแผ่น” แต่จนแล้วจนรอดภารกิจรายชื่อผู้มีอิทธิพล ก็ยังไม่เป็นรูปธรรม

ขณะที่นายพิเชษฐ์ สส.เชียงราย 4 สมัย ในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา ย่อมไม่ธรรมดาเช่นกัน เพราะเริ่มเติบโตบนเส้นทางการเมืองในช่วงเวลาที่การเมืองและอิทธิพลเข้มข้นสุดขีด เมื่อครั้งเกิดโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจที่ริเริ่มตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

เชียงรายขณะนั้น เป็นยุค “7 เสือกำนันดัง” ทั้งเรื่องอิทธิพล เรื่องนายหน้าค้าที่ดิน กิจการรับเหมาก่อสร้างถนนและเมือง ทั้งในฝั่งไทยและเมียนมา โดยมีนักการเมืองใหญ่ระดับชาติในอดีตบางคนเป็นแบคอัพให้ นายพิเชษฐ์แม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง แต่ได้เรียนรู้มากมาย และในเวลาต่อมายังเป็นแนวร่วมสำคัญของ นปช. และเคยเคลื่อนไหวคัดค้านนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้นำกลุ่มพันธมิตรขณะนั้น

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากนายพิเชษฐ์จะกล้ารับคำท้านายชาดา แต่ขอเวลาทำหน้าที่ประธานการประชุมสภาให้จบก่อนทั้งที่ไม่ควรจะต่อล้อต่อเถียงด้วย

ไม่มีใครยอมใคร เข้าทำนอง ”ขิงก็ราข่าก็แรง” แต่สุดท้ายต่างคนก็ต่างเงียบ

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

อ่านข่าว : "จรัญ" มอง "องค์กรอิสระ - ศาลรัฐธรรมนูญ" กลไกตรวจสอบ-ถ่วงดุลอำนาจรัฐ

"อะไรควรไม่ควร" ผบ.ทบ.​ปลุกใจคนไทยสร้างจิตสำนึกรู้ผิดชอบชั่วดี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง