ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทำความเข้าใจภาวะ "PTSD" เฝ้าระวังหลังเผชิญเหตุการณ์รุนแรง

สังคม
31 ม.ค. 67
16:08
633
Logo Thai PBS
ทำความเข้าใจภาวะ "PTSD" เฝ้าระวังหลังเผชิญเหตุการณ์รุนแรง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ทำความรู้จักกับ PTSD ภาวะหลังเผชิญเหตุสะเทือนใจ เพื่อรับมือหากตนเองหรือใกล้ชิด ต้องประสบภัยรุนแรงในชีวิต

เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดจากการกระทำของเด็ก ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งเด็กอายุ 14 ปี ก่อเหตุยิงในห้างสรรพสินค้า, เหตุการณ์เยาวชน 5 คน จ.สระแก้ว ทำร้ายป้าบัวผัน จนเสียชีวิต ยังไม่รวมคดีอื่น ๆ ที่เห็นกันรายวัน หลายคนตั้งคำถาม สังคมไทยเกิดอะไรขึ้น   

ล่าสุดกับเหตุการณ์ นักเรียนชาย ม.2 ก่อเหตุ ใช้มีดทำร้ายเพื่อนจนเสียชีวิต เหตุการณ์นี้ กรมสุขภาพจิต ต้องส่งทีม MCATT ดูแลเยียวยาจิตใจ ทั้งเด็ก และครูในโรงเรียน ผู้ได้รับผลกระทบ เป็นนักเรียน 36 คน และครู 12 คน หลัง "มีภาวะความเครียด" จากการเผชิญเหตุโดยตรง และต้องเฝ้าระวังสภาวะทางจิตใจ ซึ่งอาจทำให้เกิด "โรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์รุนแรง" หรือ PTSD ในช่วง 6 สัปดาห์ หลังจากนี้ หรือ บางคนอาจมากกว่านั้น

แม้จนถึงขณะนี้ ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนถึงสาเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่ผลที่ตามมากับคนที่อยู่ในเหตุการณ์ก็สำคัญไม่แพ้กัน วันนี้จะพาไปทำความเข้าใจ "ภาวะทางจิตหลังเผชิญสถานการณ์รุนแรง"

อ่าน เสนอบังคับใช้ พ.ร.บ.ความรุนแรงฯ ยุติปัญหาถูกทำร้าย

รู้จักและเข้าใจภาวะ "PTSD" 

PTSD หรือ Post-traumatic stress disorder คือ ภาวะหนึ่งที่ส่งผลต่อสุขภาพจิต หลังเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนต่อจิตใจอย่างรุนแรง หรือเผชิญเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บที่มีความเป็นอันตรายถึงชีวิต ความเครียดเหล่านี้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วย  

PTSD ที่เกิดขึ้นกับเด็กและผู้ใหญ่แตกต่างกัน โดยอาการ "PTSD" เมื่อเกิดขึ้นใน "ผู้ใหญ่" จะสังเกตพฤติกรรมได้อย่างชัดเจน และสามารถอธิบายได้ว่า มีความคิด หรือกำลังรู้สึกอะไรอยู่ แต่หากเกิดขึ้นใน "เด็ก" การสื่อสารและการอธิบายอาการที่เป็นอยู่จะค่อนข้างยากสำหรับเด็ก นั้นเพราะเด็ก ไม่เข้าใจสภาวะของตัวเอง และไม่รู้จะสื่อสารอาการของตัวเองออกไปอย่างไร

อาการเข้าข่าย เสี่ยงภาวะ PTSD

อาการของโรค PTSD ผู้ที่ประสบเหตุรุนแรงจนได้รับความสะเทือนใจ จะมีอาการออกมา 2 ระยะ ดังนี้

  • ระยะเวลาในการแสดงอาการช่วง 1 เดือนแรก จะเรียกว่า ระยะทำใจ (Acute Stress Disorder) หรือ อาการเครียดเฉียบพลัน ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอาการทางจิตประสาทขึ้นมาได้
  • ระยะที่ 2 (PTSD) คือ กินระยะเวลานานมากกว่า 1 เดือน บางคนอาจจะยาวนานหลายเดือน หรือนานเป็นปี ซึ่งแล้วแต่บุคคล

สำหรับลักษณะอาการของ PTSD 

  • รู้สึกเหมือนเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำ เช่น ฝันถึงเหตุการณ์นั้นบ่อย ๆ
  • หลีกเลี่ยงกับเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อจิตใจ เช่น ไม่ไปในสถานที่ที่เคยเกิดเหตุการณ์
  • อารมณ์หรือการคิดเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ เช่น รู้สึกห่างเหิน ไม่ยินดียินร้าย ไม่สามารถรู้สึกด้านบวกได้
  • ตื่นตัวมากเกินปกติ เช่น นอนไม่หลับ กลัวหรือตกใจ ง่ายกว่าปกติ

อ่าน จิตแพทย์ห่วงสภาพจิต "เด็ก" เครียดยาว แนะหยุดบูลลีในโรงเรียน

วิธีเยียวยาเบื้องต้น เมื่อเผชิญภาวะ PTSD 

สำหรับการดูแลช่วยเหลือปฐมพยาบาลจิตใจเบื้องต้น กรมสุขภาพจิต อธิบายว่า จะดำเนินการใน 3 ระยะ คือ 

  • ระยะที่ 1 คือ ช่วง 3 วันแรก โดย ทีม MCATT ลงพื้นที่ เริ่มดูแลให้กำลังใจเนื่องจากยังมีความหวาดกลัว วิตกไม่สบายใจจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะประชาชนและครอบครัวที่อยู่ใกล้ชิด ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ต้องดูแลรายบุคคลทุกครอบครัว
  • ระยะที่ 2 คือ ช่วง 3 วันแรกถึง 2 สัปดาห์ ยังคงดูแลต่อเนื่องในแง่มุมจิตใจที่จะมีแผลใจ เจ็บปวด และความทุกข์ปรากฏมากขึ้นความเศร้าโศก กังวลมากนอนไม่หลับ, สะดุ้งผวากลางคืน เจ้าหน้าที่ให้ช่วยเหลือเชิงรุก ไปเยี่ยมบ้าน ประเมินให้คำปรึกษาแนะนำ เยียวยาใจ
  • ระยะที่ 3 คือช่วง 2 สัปดาห์ถึง 3 เดือนหรือนานกว่านั้น ทีมพื้นที่ดูแลต่อเนื่องและกระจายทำความเข้าใจกับพื้นที่ให้สามารถปรับตัวและร่วมกันดูแล โดยรายที่มีปัญหาสุขภาพจิตสำคัญได้รับการส่งต่อดูแลเฝ้าระวังอย่างเป็นระบบ เพื่อป้องกัน โรค PTSD

ทั้งนี้ หากมีอาการดังกล่าวเกิน 1 เดือน หรือมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง 

สถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นโรค PTSD 

- คนที่มีประสบการณ์ถูกทำร้ายในวัยเด็ก 

- การใช้สารเสพติด

- เจอเหตุการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้

- อุบัติเหตุ 

- ภัยพิบัติทางธรรมชาติ 

นอกจากนี้ ผู้หญิงมีแนวโน้มจะเป็นโรค PTSD ได้มากกว่าผู้ชาย

ภาวะแทรกซ้อนจาก PTSD

ด้วยภาวะดังกล่าวจะส่งผลต่อจิตใจ ทำให้มีผลต่อการใช้ชีวิตรวมถึงด้านอารมณ์  โดยสามารถนำพาไปสู่โรคภาวะทางจิตและพฤติกรรมที่อาจเป็นอันตราย ได้อาทิ

  • พฤติกรรมที่เป็นอันตราย เช่น การหันมาใช้สารเสพติด หรือการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรืออาจทำร้ายตนเอง เป็นต้น
  • โรคที่มีผลทางด้านจิตใจ เช่น โรคซึมเศร้า โรคกลัว โรควิตกกังวล เป็นต้น
  • อาการทางร่างกาย เช่น มีอาการปวดท้อง ปวดศีรษะ ปวดหน้าอก เป็นต้น

นอกกจากนี้ การรักษาภาวะดังกล่าวมีหลายวิธีและต้องใช้เวลาในการรักษาเพื่อให้อาการดีขึ้น

  • ผู้ที่มีภาวะดังกล่าวต้องพยายามเรียนรู้การจัดการกับความเครียด เช่น หากิจกรรมที่ทำให้ผ่อนคลาย การออกไปพบปะผู้คน
  • ดูแลตนเองมากขึ้น ไม่ควรบริโภคของที่ไม่ดีต่อสุขภาพโดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ไม่เสพสารเสพติด และเพิ่มเวลาในการพักผ่อนให้มากขึ้นกว่าเดิม
  • การรับยาจากแพทย์ โดยแพทย์จะให้ยาที่สามารถลดความเครียดหรือช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าได้ ทั้งนี้การใช้ยาต่าง ๆ ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น

นอกจากนี้การได้รับการดูแลพูดคุยหรือสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ที่ผ่านเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันก็สามารถบำบัดได้เช่นกัน

อย่างไรตาม ภาวะ PTSD สามารถบรรเทาเยียวยาให้เบาลงได้จากคนรอบข้าง และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 

 

ข้อมูลอ้างอิง : โรงพยาบาลพญาไท, คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, โรงพยาบาลเพชรเวช

อ่านข่าวอื่น ๆ

รัฐบาลต้องไม่เฉย ต่างชาติมองไทย ปลดล็อกกัญชา หาเรื่องใส่ตัว

อ่านฉบับเต็ม ศาลรัฐธรรมนูญชี้ "ก้าวไกล" หาเสียงแก้ ม.112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

ศาลรัฐธรรมนูญชี้ "ก้าวไกล" หาเสียงแก้ ม.112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง