โครงการแลนด์บริดจ์ ที่ขณะนี้ การเป็นโครงการเรือธงของ "รัฐบาลเศรษฐา" หากหนึ่ง กมธ.แลนด์บริดจ์ ก็เดินหน้ารับฟังความคิดเห็นประชาชน คู่ขนาน กับการที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ที่เดินสายชักชวนนักลงทุนให้มาลงทุนในโครงการนี้ในเวทีต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดกับการจัด ครม.สัญจร ที่ จ.ชุมพร และ จ.ระนอง
อ่านต่อ : ดัชนีชี้ภาวะเศรษฐกิจไทย "ต้มยำกุ้ง" - โควิด-19 - "ต้มกบ"
อ่านต่อ : "อิชิอิ" เน้นเกมรับเหนียวแน่น เกม "ช้างศึก -ซาอุฯ" นัดสุดท้ายกลุ่ม F
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอจากภาคประชาชนในพื้นที่ ภายหลังการเข้าให้ความเห็นกับ กมธ.แลนด์บริดจ์ สภาฯถึง 2 ครั้ง จนล่าสุด สามารถสรุปเหตุผลของการคัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์ ใน 4 ด้านดังนี้
1.โครงการไม่คุ้มค่า ไม่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ ซึ่งจะทำให้สูญเสียเงินภาษี และเป็นหนี้ต่างชาติ โครงการนี้ใช้งบประมาณสูงถึง 1 ล้านล้านบาท โดยร่วมทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชน
ทั้งนี้นักเดินเรือและนักวิชาการหลายคน เห็นว่า การขนส่งโดยใช้เส้นทางแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงกว่าและใช้เวลานานกว่าการเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกา เนื่องจากต้องใช้เวลาในการยกตู้คอนเทนเนอร์จากเรือขึ้นรถไฟ และจากรถไฟลงเรือ
อีกทั้งแนวโน้มการขนส่งทางเรือจะลดลง เปลี่ยนไปขนส่งทางรถไฟแทน โดยจีนจะสร้างเส้นทาง One Belt One Road ทั้งถนน รถไฟ ไปสหภาพยุโรป เอเชียกลาง อินเดีย ปากีสถาน ลดการขนส่งผ่านช่องแคบต่าง ๆ จึงไม่มีแรงจูงใจให้มาใช้เส้นทางแลนด์บริดจ์
อ่านข่าว : “โครงการแลนด์บริดจ์” โปรเจคใหญ่ “รัฐบาลเศรษฐา” ที่ต้องฟังเสียง "คนเล็กคนน้อย" ในพื้นที่
2.พื้นที่ไม่เหมาะสม ส่งผลกระทบต่อประชาชน และสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล รูปแบบโครงการแลนด์บริดจ์ หรือ สะพานเศรษฐกิจ ประกอบด้วย
2.1ส่วนหัว ได้แก่ ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอันดามันและอ่าวไทย ทุ่นเทียบ ส่งน้ำมันดิบในทะเลทั้ง 2 ฝั่ง พื้นที่อุตสาหกรรมหลังท่า ถังสำรองน้ำมันดิบ
2.2 ส่วนตัว หรือระบบคมนาคมเชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง ได้แก่ มอเตอร์เวย์ รถไฟรางคู่ ระบบท่อส่งน้ำมัน พื้นที่อุตสาหกรรม ทางคู่ขนานสำหรับการใช้ประโยชน์ของประชาชน
อ่านข่าว : เปรียบเทียบความคุ้มค่า "แลนด์บริดจ์-คลองไทย"
รวมถึงจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แยกเป็น 4 โครงการย่อย 3 หน่วยงาน เอกสารประกอบการประชุม ครั้งที่ 1 ระบุถึงพื้นที่ศึกษาของโครงการ ดังนี้
1) ท่าเรือน้ำลึกชุมพร บริเวณแหลมริ่ว อยู่ในพื้นที่ ต.บางน้ำจืด ต.ปากน้ำ อ.หลังสวน และ ต.ปากตะโก อ.ทุ่งตะโก มีชุมชนรอบพื้นที่ตั้งโครงการ 5 กม. 18 ชุมชน มีพื้นที่อนุรักษ์ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติฯ พื้นที่คุ้มครองทางทะเลและชายฝั่ง ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ชั้นที่ 2 พื้นที่ป่าชายเลนตามมติ ครม. แหล่งปะการัง แหล่งปะการังเทียม
พื้นที่ถมทะเลมีขนาดประมาณ 5,808 ไร่ หน้าท่าเทียบเรือยาว 7.58 กม. เขื่อนกันคลื่น 2 แนว มีความยาว 5.4 กม. และ 685 เมตร ขุดร่องน้ำเดินเรือ ยาว 8.7 กม. ที่ความลึกของน้ำ 17 ม.
2) ท่าเรือน้ำลึกระนอง บริเวณแหลมอ่าวอ่าง อยู่ในพื้นที่ ต.ราชกรูด ต.เกาะพยาม อ.เมือง ต.ม่วงกลวง อ.กะเปอร์ มีชุมชนรอบพื้นที่ตั้งโครงการรัศมี 5 กม. 6 ชุมชน มีพื้นที่อนุรักษ์ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติฯ 2 แห่ง พื้นที่คุ้มครองทางทะเลและชายฝั่ง 2 แห่ง พื้นที่แรมซาร์ไซต์ พื้นที่ป่าชายเลนตามมติ ครม. ป่าสงวนแห่งชาติ แหล่งปะการัง แหล่งปะการังเทียม แหล่งหญ้าทะเล
อ่านข่าว : "ศักดิ์สยาม" เตรียมเคาะ 2 ทำเลท่าเรือใหม่ “ชุมพร-ระนอง” มิ.ย.นี้
พื้นที่ถมทะเลมีขนาดประมาณ 6,975 ไร่ หน้าท่าเทียบเรือยาว 9.35 กม. เขื่อนกันคลื่น 3 แนว มีความยาว 3.12 กม. 340 ม. และ 290 ม. ขุดร่องน้ำเดินเรือ ยาว 11.5 กม. ที่ความลึกน้ำ 19 ม.
การถมทะเลทั้ง 2 ฝั่ง ใช้แหล่งหิน 5 แหล่งใน จ.ชุมพร ได้แก่ เขาวง ต.ทุ่งระยะ อ.สวี เขาหอยโข่ง ต.ขุนกระทิง อเมือง เขาตะแคง ต.สะพลี อ.ปะทิว บจก.สมบูรณ์ศิลาทอง ต.นากระตาม อ.ท่าแซะ เขาสันกำแพง ต.ท่าแซะ อ.ท่าแซะ
3) โครงการก่อสร้างทางรถไฟ ช่วงชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง มีระยะทางประมาณ 90 กม. อยู่ในพื้นที่ 9 ตำบล 3 อำเภอ ของ จ.ชุมพร และ ระนอง ได้แก่ ต.บางน้ำจืด ต.นาขา ต.วังตะกอ ต.หาดยาย อ.หลังสวน ต.ปังหวาน ต.พระรักษ์ ต.พะโต๊ะ ต.ปากทรง อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร และ ต.ราชกรูด อ.เมือง จ.ระนอง สภาพพื้นที่เป็นที่ราบ ภูเขา และป่าชายเลน มีการก่อสร้างอุโมงค์รถยนต์ และอุโมงค์รถไฟ จำนวน 3 จุด ในช่วงที่ผ่านพื้นที่ภูเขา ทางวิ่งยกระดับข้ามถนน แม่น้ำสายหลัก และหุบเขา
อ่านข่าว : คกก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ชี้ชะตา โครงการแลนด์บริดจ์ปากบารา 1 ส.ค.นี้
4) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ซึ่งยังไม่ปรากฎข้อมูลโครงการ ประชาชนส่วนใหญ่ในจังหวัดชุมพรและระนอง เลี้ยงชีพด้วยการทำเกษตร ประมง และการท่องเที่ยว โดยเฉพาะ จ.ชุมพร ซึ่งมีรายได้ต่อหัว (2563) สูงถึง 250,823 บาทต่อปี หรือ 20,902 บาทต่อเดือน มีรายได้หลักจากเกษตรกรรมถึง 55%
ภาคเกษตรเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัด มีพืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ ทุเรียน ปาล์มน้ำมัน กาแฟ จังหวัดชุมพรเป็นแหล่งปลูกทุเรียนอันดับ 2 ของประเทศ มีเนื้อที่ราว 3 แสนไร่ มีผลผลิตราว 3.4 แสนตันต่อปี มูลค่าราว 5-6 หมื่นล้านบาท โดยพื้นที่ปลูกทุเรียน 1 ใน 4 อยู่ในพื้นที่ อ.พะโต๊ะ และ อ.หลังสวน
อ่านข่าว : เปรียบเทียบความคุ้มค่า "แลนด์บริดจ์-คลองไทย"
ดังนั้น โครงการอาจต้องแลกกับต้นทุนเศรษฐกิจฐานราก ต้นทุนชุมชน ทั้งพื้นที่ทำกิน แหล่งผลิตอาหาร ประชาชนในพื้นที่ต้องสูญเสียอาชีพดั้งเดิม ประชาชนในพื้นที่โดยส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ หากถูกบังคับให้โยกย้ายจะได้รับค่าชดเชยที่ไม่เป็นธรรม
อีกทั้งต้องแลกกับต้นทุนทางธรรมชาติ ฐานทรัพยากร แหล่งท่องเที่ยว จะเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างชุมชนดั้งเดิมกับภาคอุตสาหกรรม อาจส่งผลกระทบกับประชาชนที่เปราะบาง เช่น ชาติพันธุ์ คนไทยพลัดถิ่น
นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัยพิบัติจากพื้นที่รอยเลื่อน และการกัดเซาะชายหาดอย่างรุนแรง และมีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการก่อสร้างและการดำเนินการโครงการ ทั้งทางบกและทางทะเล
ทั้งนี้ อาจพลาดโอกาสขึ้นทะเบียนมรดกโลกอันดามัน เนื่องจากที่ตั้งของท่าเรือน้ำลึกระนองอยู่ใกล้พื้นที่เตรียมประกาศมรดกโลก อีกทั้งอยู่ใกล้พื้นที่สงวนชีวมณฑลโลก
อ่านข่าว : ภาคประชาชนค้านโครงการแลนด์บริดจ์เชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน
3.ที่มาของโครงการ กระบวนการดำเนินโครงการไม่โปร่งใส ไม่มีธรรมาภิบาล ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ไม่ตอบโจทย์การพัฒนาที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่
โครงการนี้ไม่ได้เกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนมาตั้งแต่ต้น และมีการดำเนินการแบบเร่งรัด ลัดขั้นตอน นอกจากนั้นไม่ได้ให้ข้อมูลเชื่อมโยงภาพรวมทั้งหมดของโครงการ ให้ข้อมูลโครงการเฉพาะด้านดี ไม่ได้ให้ข้อมูลผลกระทบเชิงลบของโครงการ และขาดการให้ข้อมูลคุณค่าและมูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติและเศรษฐกิจ ที่ต้องสูญเสียจากการเข้ามาของโครงการ
4. เป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ซึ่งกลุ่มการเมืองกำลังผลักดันกฎหมาย ที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวบอำนาจและให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุน
อ่านข่าวอื่น ๆ
"ศักดิ์สยาม"เปิดประชุมขนส่ง APEC โชว์ลงทุนแลนด์บริดจ์ 1.1 ล้านล้านบาท
คุ้มหรือไม่ "เชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน"
ภาคประชาชนภาคใต้ จี้เลิก “โรงไฟฟ้า-นิคมอุตฯ” ชี้ "เกษตร-ประมง-ท่องเที่ยว" เลี้ยงตัวเองได้