ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จับกระแสการเมือง 11 ม.ค.2567 : ไม่แตะเบรก "ทักษิณ" ยื้อนอนต่อ รพ.ตร. "ชัยชนะ" กมธ.ตร.ถูกสกัดห้ามขึ้นขั้น 14

การเมือง
11 ม.ค. 67
18:12
813
Logo Thai PBS
จับกระแสการเมือง 11 ม.ค.2567 : ไม่แตะเบรก "ทักษิณ" ยื้อนอนต่อ รพ.ตร. "ชัยชนะ" กมธ.ตร.ถูกสกัดห้ามขึ้นขั้น 14
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

มีความเห็น ให้ "นายทักษิณ ชินวัตร" อยู่รักษาตัวต่อยังโรงพยาบาลตำรวจ เนื่องจากยังคงมีอาการเจ็บป่วยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดโดยแพทย์ผู้ทำการรักษาเฉพาะทาง และหากเกิดภาวะแทรกซ้อน หรืออาการที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตจะได้ดำเนินการรักษาอย่างทันท่วงที

คือหนังสือชี้แจงจากกรมราชทัณฑ์ ถึงการพักรักษาตัวนอกเรือนจำ เกินระยะเวลา 120 วัน ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เข้ารักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค.ปีที่แล้ว

โดยแพทย์ได้รายงานอาการเจ็บป่วยในหลายประการที่ต้องเฝ้าระวัง โดยแจ้งความเห็นว่าผู้ป่วยอยู่ระหว่างการรักษาของแพทย์เฉพาะทางและต้องดูแลอย่างใกล้ชิดถึงอาการป่วยเพื่อให้พ้นจากสภาวะอันตรายแก่ชีวิต

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้พิจารณาจากความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาที่พิจารณาแล้ว มีความเห็นว่ายังต้องดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด ประกอบกับเอกสารหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องซึ่งมีความครบถ้วนตามกฎหมาย จึงพิจารณาเห็นชอบ เมื่อวันที่ 8  ม.ค.ที่ผ่านมา ให้ทักษิณ อยู่รักษาตัวต่อยังโรงพยาบาลตำรวจ

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม

ที่สุด "บิ๊กวี" พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการราชทัณฑ์ ยืนยันว่าไม่มีการหารือประเด็นของทักษิณ เป็นพิเศษ และยังไม่มีข้อสรุปได้ว่าแนวทางการควบคุมตัวทักษิณ จะเป็นไปในทิศทางใด

จากสถิติการพักรักษาตัวของนักโทษนอกเรือนจำ ที่นับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.65 - 25 ธ.ค.66 พบว่า มีจำนวนนักโทษที่พักรักษาตัวนอกเรือนจำเกิน 30 วัน จำนวน 110 คน ที่นำไปรักษาตัวหนึ่งด้วยโรคต่างๆ เช่น โรคทางเดินอาหาร โรคผิวหนัง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคระบบประสาท จิตเวช โรคมะเร็ง และโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ

จำนวนนี้มีนักโทษที่พักรักษาตัวนอกเรือนจำเกินกว่า 60 วันจำนวน 33 คน และ มีนักโทษที่พักรักษาตัวนอกเรือนจำเกินกว่า 120 วัน จำนวน 3 คน โดยเป็นนักโทษที่เป็นผู้ป่วยจิตเวช 2 คน คนหนึ่ง รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลจิตเวชพิษณุโลก นาน 210 วัน และอีกคน รักษาตัวอยู่ที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์นาน 578 วัน

นอกจากนี้อีก 1 คน รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ นานกว่า 125 วัน คือ ทักษิณ ชินวัตร
ชัยชนะ เดชเดโช ประธานคณะกรรมาธิการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร

ชัยชนะ เดชเดโช ประธานคณะกรรมาธิการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร

ชัยชนะ เดชเดโช ประธานคณะกรรมาธิการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร

ในวันพรุ่งนี้ (12 ม.ค.) ชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อเข้าศึกษาดูงานโรงพยาบาลตำรวจ ในเวลา 10.00 น. และสอบถามขั้นตอนรับเข้าของผู้ต้องขังรวมถึงขั้นตอนในการดูแลนักโทษว่าเป็นอย่างไร แล้วจะได้พูดคุยกับนักโทษทุกคนรวมถึงทักษิณด้วย

ขณะที่ทางโรงพยาบาลตำรวจ ระบุว่า ไม่ห้ามหากคณะกรรมาธิการฯชุดนี้จะเข้ามา แต่การศึกษาดูงานจะต้องไม่กระทบต่อการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ไม่กระทบสิทธิหรือละเมิดสิทธิของผู้ป่วยที่มาใช้บริการ และไม่ทำความเสียหายให้โรงพยาบาลตำรวจและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)

แต่ กมธ.ตร.จะไม่สามารถขึ้นไปพบ หรือเยี่ยม ทักษิณ ที่นอนรักษาตัวอยู่ชั้น 14 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา ได้ โดย พ.ต.อ.หญิงศิริกุล ศรีสง่า โฆษกโรงพยาบาลตำรวจ ให้เหตุผลว่า การจะไปดูผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นทักษิณ หรือผู้ป่วยรายอื่นในโรงพยาบาลตำรวจ

รวมทั้งการวิดีโอคอล ทำไม่ได้ เนื่องจากถือเป็นการละเมิดสิทธิของคนไข้ โดยเฉพาะหากคนไข้ไม่อนุญาต ก็ไม่สามารถทำได้ทุกกรณี อีกทั้งการขอมาศึกษาดูงานของ กมธ.ตร. ไม่ได้เจาะจงว่าเป็นส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่เป็นการขอดูงานในภาพรวม และอาจขึ้นได้เพียงแค่ชั้น 4

โรงพยาบาลตำรวจ

โรงพยาบาลตำรวจ

โรงพยาบาลตำรวจ

ส่วนประเด็นเดือดเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นอกจากการบุกค้นโกดังเก็บหมูเถื่อน ย่านบางขุนเทียนของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แล้ว คงหนีไม้พ้น มติแจ้งข้อกล่าวหา 2 อดีต รมต.แรงงาน และข้าราชการระดับสูงลิ่วของกระทรวงแรงงานอีก 2 คน ฐานความผิดมาตรา 157 และมาตรา 143 กรณีเรียกเก็บค่าหัวคิว ส่งแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ป่าในประเทศฟินแลนด์และอาจเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ โดยดีเอสไอได้ส่งสำนวนคดีต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไปแล้ว

แม้จะมีข้อมูลระบุว่า มีขบวนการสมคบระหว่างนักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ และบุคคลธรรมดา ร่วมกันเรียกรับผลประโยชน์จากบริษัทผู้ประสานงานฝั่งไทยที่ทำหน้าที่ประสานงานกับบริษัทที่จะนำเข้าแรงงานของสาธารณรัฐฟินแลนด์ เป็นค่า "หัวคิว" หรือค่าดำเนินการ เฉลี่ยรายละ 3,000 บาท โดยไม่มีสิทธิเรียกเก็บตามกฎหมาย

และพบข้อมูลบริษัทประสานงานฝั่งไทยได้นำมาเรียกเก็บจากคนงานที่ไปทำงานอีกชั้นหนึ่ง นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายตามจริง โดยเหตุเกิดในปี พ.ศ. 2563 - พ.ศ. 2566 และมีผู้อยู่ในข่ายต้องเสียค่าใช้จ่ายดังกล่าว รวมประมาณ 12,000 คน คิดเป็นเงินรวมประมาณ 36 ล้านบาท

หากย้อนกลับไปดูศึกษาอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลทั่วไปแบบไม่ลงมติ เมื่อปี 2566 พบว่า "จรัส คุ้มไข่น้ำ" สส.ชลบุรี พรรคก้าวไกลได้เปิดประเด็นถาม รมว.แรงงาน ในขณะนั้น คือ "เสี่ยเฮ้ง" สุชาติ ชมกลิ่น กรณีแรงงานไทยที่เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในประเทศฟินแลนด์และสวีเดน และพบปัญหาทั้งเรื่องค่าแรง ที่ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย และทำงานหนัก

และพบบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่ได้โควตาไปเก็บผลไม้ป่าที่ฟินแลนด์ถูกตั้งข้อหาค้ามนุษย์ ขณะที่มีภาพนายสุชาติไปเยี่ยมชมดูงานที่บริษัทดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังพบว่า แรงงานไทยถูกข่มขู่ ใช้เรื่องหนี้มาเป็นข้อผูกมัด ยึดเอกสารสำคัญ บางคนเข้าไม่ถึงการรักษา กลับไทยยังเป็นหนี้สินอีก จึงสอบถามนายสุชาติ ว่า ไม่รู้เรื่องดังกล่าวเลยหรือ ทั้งที่สวีเดน และฟินแลนด์ ระงับการออกวีซา เพราะห่วงเรื่องปัญหาค้ามนุษย์

สุชาติ ชมกลิ่น

สุชาติ ชมกลิ่น

สุชาติ ชมกลิ่น

ในครั้งนั้น "เสี่ยเฮ้ง" สุชาติ ชี้แจงว่า ปี 2565 ได้ส่งแรงงานไทยไปฟินแลนด์และสวีเดน กว่าหมื่นคน ที่มีปัญหา คือ คนไปครั้งแรก แค่ 200-300 คน แต่มีคนได้ประโยชน์กว่า 90% ส่วนเรื่องบริษัทดังกล่าวที่ถูกตั้งข้อหาแล้วมีภาพตนเองไปดูงาน เป็นเพราะคนไทยอยู่บริษัทดังกล่าวเป็นจำนวนมากจึงต้องไปเยี่ยมเยือน ยืนยัน กระทรวงแรงงานไม่ได้ไปสนับสนุนเรื่องการค้ามนุษย์

กลับมาที่ความเคลื่อนไหวของนายกฯนิด "เศรษฐา ทวีสิน" หลังลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เยี่ยมชมตลาดช้างเผือก ช่วงค่ำเมื่อวานนี้ เดินทักทายและร่วมถ่ายภาพกับประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาเที่ยวชมตลาดช้างเผือกอย่างเป็นกันเอง และบอกว่าดีใจเห็นบรรยากาศการท่องเที่ยวคึกคัก

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง

โดยเช้าวันนี้มีกำหนดประชุมติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า จ.เชียงใหม่ เน้นย้ำทุกหน่วยงานบูรณาการความร่วมมือ ให้ยึดหลักตาม 6 แนวทางการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหา

พร้อมลงนามในร่าง พ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน กำหนดโทษผู้ประกอบการที่ก่อมลพิษต้องรับผิดชอบ ของพรรคก้าวไกลทันทีที่เดินทางมาถึงกองบิน 41 จ.เชียงใหม่

และสิ่งที่หลายฝ่ายเป็นห่วงรัฐบาลและตั้งตารอว่าจะผ่านหรือไม่ผ่านคือ พ.ร.บ.กู้เงินดิจิทัลวอลเล็ต อย่าง น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล จากพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ในฐานะที่งานดูด้านเศรษฐกิจ ได้สอบถามวิกฤตเศรษฐกิจจะต้องหน้าตาเป็นอย่างไร มีตัวชี้วัดอย่างไร

แต่ละหน่วยงานก็ตอบคำถามกันทุกหน่วยงาน ยกเว้นสำนักงบประมาณ ซึ่งวิกฤตมีทั้งวิกฤตทางด้านการเงิน ที่มีเอ็นพีแอลสูง คนแห่ไปถอนเงิน วิกฤตภายนอกจากต่างประเทศ เช่น ปัญหาการส่งออก นำเข้า การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ทำให้ค่าเงินบาทอ่อน หรือวิกฤตทางด้านแรงงาน คนตกงานจำนวนมาก วิกฤตการคลังคือเงินคงคลังลดต่ำเหลือน้อย

ศิริกัญญา ตันสกุล

ศิริกัญญา ตันสกุล

ศิริกัญญา ตันสกุล

ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ได้แลกเปลี่ยนกับหน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจ และอาจจะเป็นหน่วยงานที่อยู่ในคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตด้วย ที่จะต้องให้ความเห็นกับนายกรัฐมนตรีว่า ประเทศไทยอยู่ในช่วงวิกฤตหรือไม่ ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็ให้ข้อมูลข้อเท็จจริงกับ กมธ. และเท่าที่ไล่ดู 5-6 วิกฤตนี้ ยังไม่มีอันไหน สามารถอธิบายเหตุการณ์ ณ ปัจจุบันได้

ต้องเข้าใจว่าเศรษฐกิจไทยไม่สู้ดีจริงๆ โตต่ำจริงๆ และต้องการสิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นจริง แต่ด้วยข้อจำกัดทางด้านกฎหมาย ที่ต้องตีความว่ามันเกิดวิกฤต จึงสามารถกู้ได้ ก็เลยเป็นอุปสรรค ที่สำคัญคือมันจะเป็นบรรทัดฐานด้วย
หาก พ.ร.บ.กู้เงิน สามารถผ่านได้ ต่อจากนี้ไปรัฐบาลก็ไม่ต้องแคร์งบประมาณรายจ่ายประจำปีแล้ว บอกแค่ประเทศต้องการการกู้เงิน ก็สามารถทำได้เลย แบบนี้ก็จะทำให้เป็นมาตรฐานที่ไม่ดีในอนาคต

ส่วนถ้า พ.ร.บ.กู้เงินผ่านสภาแล้ว ฝ่ายค้านจะมีมติเป็นอย่างไรนั้นต้องดูในรายละเอียดก่อนว่า หน้าตาร่างฯ จะเป็นอย่างไร ในเชิงหลักการจะต้องตีความตามกฎหมาย ว่าเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฤษฎีกาได้ตีความหรือไม่ แต่ความเร่งด่วนทางเศรษฐกิจตอนนี้เรายังไม่เห็น เราก็คงจะต้องโหวตไม่รับร่างฯ ไปก่อน

วันนี้ 11 ม.ค.แล้วแต่ยังไร้วี่แววการนัดหมายประชุมของคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ และยังต้องเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบก่อนที่จะเสนอเข้ามายังสภาฯ ซึ่งประเมินว่า ก็คงจะผ่านสภาฯ เนื่องจากรัฐบาลมีเสียงข้างมาก แต่ก็ยังมีด่าน สว.ที่อาจจะล่าช้าได้อีก

ในกรณีไม่รับหลักการก็ต้องตีกลับมาที่สภาผู้แทนราษฎร ว่าจะเห็นชอบร่างฯนี้หรือไม่ ยังไม่รวมอีกหลายหน่วยงานที่จะไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือนักร้องเจ้าประจำต่างๆ ดังนั้นต้องช่วยกันลุ้นต่อไปว่าจะทันเดือนพฤษภาคมตามที่รัฐบาลได้เคยลั่นวาจาไว้หรือไม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

"ทักษิณ" อยู่ต่อ รพ.ตำรวจ อธ.ราชทัณฑ์ เผยภาวะเสี่ยง-แพทย์ต้องเฝ้าระวัง

“ศิริกัญญา” ลุ้นร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน ทัน-ไม่ทัน ห่วงเหตุผลเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ดี

"ทวี" ไม่สรุปแนวทางขัง "ทักษิณ" - ถกราชทัณฑ์เกณฑ์คุมนอกคุก

DSI กล่าวหา "2 อดีต รมต.-2 ขรก.แรงงาน" หักหัวคิวส่ง "แรงงานไทย" ไปฟินแลนด์ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง