วันนี้ (31 ธ.ค.2566) ผู้สื่อข่าวรับแจ้งจาก นายเสน่ห์ ศรีผึ่งจั่น อาสาสมัครกู้ภัยข่าวภาพ อ.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร ได้นำนกขนาดใหญ่ตัวหนึ่งมาเลี้ยงไว้ เวลาออกไปทำภารกิจหรือธุระนอกบ้าน ก็นำติดรถไปด้วย โดยนกขนาดใหญ่ตัวนี้ อยู่ในสภาพที่แข็งแรง ลักษณะขนใบหน้า ลำตัวออกสีน้ำตาล ช่วงโคนปากมีสีขาวส่วนปลายสีน้ำตาลปนดำ ขาออกสีชมพูอ่อนมีเล็บสีดำเข้ม น้ำหนักประมาณ 5 กก. ปีก 2 ข้างคาดว่ายาวประมาณ 2 ม.
อ่านข่าว : "กองทัพอากาศ" แจงลงโทษหนัก 4 ลูกทัพฟ้าเมาในค่าย
จากการสอบถาม อาสาสมัครกู้ภัยข่าวภาพ อ.ลานกระบือ เล่าให้ฟังว่าเมื่อวานก่อนที่ผ่านมา ตนได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่เทศบาล ต.ลานกระบือ พบนกไม่ทราบชนิดขนาดใหญ่บินหลงมาอยู่บนถนนทางเข้าเทศบาล ต.ลานกระบือ จึงได้ออกปฏิบัติหน้าที่ตามเหตุรับแจ้ง เมื่อเดินทางมาถึงพบนกขนาดใหญ่ อยู่ในสภาพอ่อนแรง ไม่มีท่าทีอาการดุร้าย จึงสามารถจับได้ง่าย แล้วนำกลับมาไว้ที่บ้าน
จากนั้นประสานไปทางหมายเลข 1362 ป่าไม้ จ.นครสวรรค์ ได้รับแจ้งว่าจะเดินทางมารับนกตัวนี้ ในวันที่ 2 ม.ค.2567 ซึ่งในระหว่างนี้ เวลาไปไหนมาไหนต้องนำนกตัวนี้ติดไปด้วย เกรงว่าหากปล่อยไว้ที่บ้านอาจจะถูกสุนัขกัดจนตาย หรืออาจจะหลุดไปทำร้ายเด็กๆ ก็เป็นไปได้
จึงได้ป้องกันไว้ก่อน รอจนกว่าจะส่งมอบกับเจ้าหน้าที่ เพื่อนำไปดูแลและปล่อยคืนสู่ธรรมชาติต่อไป ส่วนนกตัวนี้ไม่ทราบว่ามาจากที่ไหน ชาวบ้านก็ไม่เคยพบเห็นนกตัวใหญ่ขนาดนี้มาก่อน
อ่านข่าว : "มิกกี้ เมาส์" กลายเป็นสมบัติสาธารณะ หลังลิขสิทธิ์ "ดิสนีย์" หมดอายุ
ผู้เชี่ยวชาญชี้ "แร้งดำหิมาลัย" นกหายากของโลก
ไทยพีบีเอสออนไลน์สอบถามไปยังผู้เชี่ยวชาญจากโครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในไทย ยืนยันว่านกที่ตกใน จ.กำแพงเพชร เป็น "แร้งดำหิมาลัย" ซึ่งจุดสังเกตชัดเจนมีขนาดตัวใหญ่ที่สุด หัวสีดำ จงอยปากงุ้ม เป็นแร้งวัยเด็ก และอาจจะหมดแรง วิธีการจะต้องให้จิบน้ำ และป้อนเนื้อหมูก้อนเล็กๆ และประสานส่งให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยแร้งทุกชนิดถือเป็นนกหายากใกล้สูญพันธุ์
"แร้งดำหิมาลัย" เป็นนกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในทวีปเอเซีย มีความยาววัดจากปลายจงอยปากถึงปลายหาง100-120 ซม. ปีกกว้าง 2.9-3 ม. และถือเป็นสัตว์คุ้มครองที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ทั่วโลกมีเหลืออยู่ประมาณ 20,000 ตัวเท่านั้น ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะเหมือนกัน ทั่วตัวมีขนสีดำ ตรงบริเวณหัวถึงคอมีขนน้อยหรือแทบจะไม่มีเลย บริเวณรอบๆ คอมีขนขึ้นฟูคล้ายพวงมาลัย นิ้วสีออกขาว ตัวที่ยังไม่โตเต็มวัยมีลำตัวด้านล่างสีน้ำตาลอ่อนกว่า แร้งดำหิมาลัยไม่ใช่นกประจำถิ่นของไทย นอกจากอพยพย้ายถิ่นเข้ามาในช่วงฤดูหนาวของแต่ละปีเท่านั้น มีการกระจายพันธุ์ในทวีปยุโรปจนถึงภูมิภาคไซบีเรีย เอเชียกลาง จีน อินเดีย
อ่านข่าว : ปลดล็อก! เปิดอ่าวให้เรือ 1,200 ลำจับสัตว์น้ำเพิ่มอีก 20-50 วัน
เดือน ธ.ค.2549 ไทยพบแร้งดำหิมาลัย อายุ 8 เดือน ได้รับบาดเจ็บตกลงมาที่ จ.จันทบุรี คาดว่าอพยพมาจากประเทศจีน หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้พยาบาลและฟื้นฟูสุขสภาพ โดยตั้งชื่อให้ว่า "อนาคิน" แต่เมื่อปล่อยไปได้ติดอุปกรณ์ติดตามดาวเทียมด้วย ต่อมาพบว่า อนาคิน ถูกยิงตกจนตายที่รัฐฉาน ประเทศเมียนมา
แร้งดำหิมาลัย อนาคิน ที่มา : หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ Kasetsart University Raptor Rehabilitation Unit
"อนาคิน" ผู้จุดประกายโครงการฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ
"อนาคิน" เป็นแร้งดำหิมาลัย ผู้จุดประกายโครงการฟื้นฟูสุขภาพของนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ นับเป็นครัังแรกในประเทศไทยและอาเซียน ที่มีโครงการปล่อยสัตว์ป่าคุ้มครองใกล้สูญพันธุ์ที่บาดเจ็บคืนสู่ธรรมชาติอย่างเป็นระบบ และติดตามหลังการปล่อยด้วยดาวเทียม
เมื่อ 17 ปีที่แล้ว อนาคินหมดแรงร่วงในป่าเขาสอยดาว ต่อมาคณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ รับตัวมาฟื้นฟูสุขภาพ และนำไปปล่อยคืนธรรมชาติโดยได้ติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมไว้ด้วย ที่ ผาอนาคิน บนดอยลาง อช.ผ้าห่มปก จ.เชียงใหม่ 3 สัปดาห์ต่อมาหลังการปล่อย อนาคินบินขึ้นเหนือไปเรื่อยๆ จนถึงรัฐฉานและถูกยิงตาย เหตุการณ์นั้นทำให้ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ตั้งหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ โรงพยาบาลสัตว์ ม.เกษตรศาสตร์ เพื่อช่วยเหลือ รักษา ฟื้นฟูสุขภาพของนกล่าเหยื่อ นกนักล่าบาดเจ็บหรือกำพร้า เพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ
สกาย หรือชื่อเต็มๆ สกายวอล์กเกอร์ เหลนของอนาคิน ที่มา : หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ Kasetsart University Raptor Rehabilitation Unit
อมรา The Immortal ที่มา : หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ Kasetsart University Raptor Rehabilitation Unit
นอกจาก อนาคิน แล้ว หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ ยังได้ช่วยเหลือ รักษา ฟื้นฟู "แร้งดำหิมาลัย" จนสามารถปล่อยสู่ธรรมชาติอย่างสำเร็จอีกหลายตัว เช่น สกาย (สกายวอล์กเกอร์) อมรา ล่าสุดคือ กุมภาภาศ KU962 แร้งดำหิมาลัย ที่ตกที่ จ.มหาสารคาม ที่ยังอยู่ในการดูแล
กุมภาภาศ ที่มา : หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อ Kasetsart University Raptor Rehabilitation Unit
วิธีช่วยแร้งเบื้องต้น
ถ้าพบเห็น แร้งร่วง อาจเกิดจาก นกหมดแรง ยกหัวไม่ขึ้น ไม่มีแรงต้านหรือวิ่งหนี วิธีช่วยเบื้องต้นคือ ให้ป้อนน้ำเกลืออุ่น
โดยผสมน้ำสะอาด 1,000 มล. กับ เกลือแกง 9 กรัม และป้อนในปริมาณ 50-100มล./ครั้ง ทุกๆ 3-6 ชั่วโมง ที่สำคัญงดป้อนอาหารโดยเด็ดขาด
หลังจากนั้น 1-2 วัน เมื่อแร้งยกหัวได้ สามารถให้เนื้อหมูหรือไก่สดที่ไม่เน่าเป็นชิ้นๆ ให้แร้งกินได้ แต่ต้องไม่บังคับ หรือยัดอาหารเข้าปาก เนื่องจากอาจทำให้แร้งสำลักอาหารจนตายได้ เมื่อแร้งมีแรง ยกหัวได้ ให้พาไปพบสัตวแพทย์หรือส่งสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า หรือโทรแจ้งสายด่วน 1362
อ่านข่าวอื่น :
ปชช. แห่เที่ยวทั่วไทย! ตักบาตรส่งท้ายปี รอรับแสงแรกปีใหม่ 2567
โฆษกรัฐบาล ห่วง "ฉลองปีใหม่2567" อย่าหลงลืมความปลอดภัย
ทั่วโลกจัดเคาท์ดาวน์ปีใหม่ 2567 ไทม์สแควร์เตรียมปล่อยลูกบอลคริสตัลยักษ์ฉลอง