ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

EP.4 The Last Karen : กะเหรี่ยงรุ่นสุดท้าย

สังคม
26 ต.ค. 66
16:28
560
Logo Thai PBS
EP.4 The Last Karen : กะเหรี่ยงรุ่นสุดท้าย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ท้ากรมอุทยานฯ จัดสรรที่ป่าให้กะเหรี่ยงทำไร่หมุนเวียนพร้อมทำวิจัยเปรียบเทียบกับเกษตรแปลงเดี่ยว

"พวกเราต่างก็มองเห็นอนาคตแบบเดียวกัน นั่นคือ การสูญสิ้นเผ่าพันธุ์กะเหรี่ยงในประเทศไทย"

พฤ โอโดเชา ปราชญ์ชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ป่าภาคเหนือ เดินทางจาก อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ มาที่ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี เพื่อหารือกับเพื่อนชาวกะเหรี่ยงในผืนป่าตะวันตกที่ป่าแก่งกระจาน ถึงแนวทางและโอกาสที่พวกเขายังพอจะต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิการทำกินในรูปแบบวิถีชีวิตดั้งเดิมได้ นั่นคือ "ไร่หมุนเวียน"

อีกภาคส่วนหนึ่งของขบวนการต่อสู้เพื่อพิทักษ์ "วิถีกะเหรี่ยง" ในครั้งนี้ คือ ทีมทนายความที่เคยต่อสู้ในคดีเผาบ้านชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยมาตั้งแต่ปี 2554 ประกอบด้วย วราภรณ์ อุทัยรังษี ,ทิพย์วิมล ศิรินุพงศ์ และแสงชัย รัตนเสรีวงษ์ ซึ่งได้เริ่มออกเดินทางไปในสมรภูมิการต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวกะเหรี่ยงครั้งใหม่ ด้วยการนำพาให้ชาวกะเหรี่ยงจากทางเหนือมาพบกับเพื่อนร่วมเชื้อชาติในผืนป่าตะวันตก

การพบกันครั้งนี้เกิดจากกรณีที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ออก "พระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์การอยู่อาศัยหรือทำกินในโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ" ซึ่งมีลักษณะโครงการคล้ายเป็นการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับผู้ที่อยู่อาศัยในเขตอุทยานแห่งชาติ แต่มีหลายเงื่อนไขที่ทำให้เกิดข้อกังวลว่า" นี่อาจเป็นกฎหมายที่จะล้างเผ่าพันธุ์ชาวกะเหรี่ยง" เพราะหลักสำคัญที่ซ่อนอยู่ภายใต้กฎหมายนี้คือ ห้ามทำไร่หมุนเวียน... จากประเด็นเหล่านี้

- อุทยานฯ ออกสำรวจให้ประชาชนที่อยู่ในเขตอุทยานลงชื่อร่วมโครงการจัดสรรที่ดินทำกินในเขตอุทยานฯ ครอบครัวละ 1 แปลง (ไม่เกิน 20 ไร่)
- จัดสรรที่ดินให้ชั่วคราวครั้งละ 20 ปี จากนั้นพิจารณาว่าจะให้ต่อหรือไม่
- ที่ดินที่ถูกจัดสรรให้ จะต้องทำกินต่อเนื่องทุกปี ห้ามเว้นว่าง (ไม่สอดคล้องกับการทำไร่หมุนเวียน)
- ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องลงชื่อยอมรับว่า ได้สิทธิทำกินพราะอยู่มาก่อนมติ ครม. 30 มิ.ย.2541 หรือ อยู่มาก่อนมีนโยบายทวงคืนผืนป่าของ คสช.ปี 2557
- เมื่อลงชื่อร่วมโครงการ มีความหมายว่า อยู่ในเขตอุทยานมาก่อนปี 2541 หรือ 2557 เท่านั้น ซึ่งเท่ากับ ยอมเสียสิทธิดั้งเดิมที่เคยยืนยันว่า เป็นชุมชนที่อยู่มาก่อนประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ
- ถ้าไม่ลงชื่อเข้าร่วมโครงการ และยังยืนยันทำไร่หมุนเวียน จะถูกจับกุมดำเนินคดีฐานบุกรุกป่าอนุรักษ์และทำให้โลกร้อน

"แต่ถ้าเรายอมรับ ยอมลงชื่อเข้าร่วมโครงการ เราก็จะทำไร่หมุนเวียนไม่ได้อีกต่อไป นั่นเท่ากับจิตวิญญาณในการอยู่กับป่าและดูแลรักษาป่าของชาวกะเหรี่ยงจะหมดไปในรุ่นนี้"

"ถ้าไม่สู้ พวกเราก็จะเป็นกะเหรี่ยงรุ่นสุดท้าย" 

การพบปะกันของชาวกะเหรี่ยงหนองหญ้า ปล้อง แห่งป่าตะวันตก และ พฤ โอโดเชา จากเชียงใหม่ เกิดขึ้นเมื่อ 20-21 ตุลาคม 2566

พฤ โอโดเชา เล่าถึงการพบปะกันครั้งนี้ไว้อย่างน่าสนใจ

"ที่เชียงใหม่บ้านผม พวกเราชาวกะเหรี่ยงส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในป่า การดำรงอยู่ของเราคือยังพยายามอยู่แบบดั้งเดิม การเกษตรเราก็ทำไร่หมุนเวียน แต่พอเจ้าหน้าที่รัฐมาบอกให้เปลี่ยนไปทำในรูปแบบอื่น คือ ห้ามทำไร่หมุนเวียน ต้องถางให้โล่งเตียน ต้องทำต่อเนื่องทุกปี พวกเราก็ไม่รู้จะทำยังไง ถ้าบ้านไหนอยู่ในอุทยานฯอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ก็จะยอมรับไปเพราะกลัวจะถูกจับ หรืออย่างบ้านผมอยู่ในเขตที่เตรียมประกาศอุทยาน ก็ยังงงๆกันอยู่ว่าจะทำอย่างไร"

"ถ้าถามว่า ทำไมคนกะเหรี่ยงต้องกลัว ทำไมไม่กล้าสู้กับรัฐ ... มีคนบอกว่า ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซามีชีวิตเหมือนถูกจองจำอยู่ในเรือนจำที่ใหญ่ที่สุดในโลก  ชาวกะเหรี่ยงในประเทศไทยก็ไม่ต่างกัน พวกเราจะเข้า-ออกบ้านเรา ก็ต้องผ่านด่านอุทยาน ทุกตีนดอยมีด่านอยู่ ไม่ว่าจะด่านอุทยานฯ ,ด่าน ตชด. ,ด่านความมั่นคง ซึ่งหมายความว่า ฝ่ายรัฐรู้ความเคลื่อนไหวของเราทุกอย่าง ยิ่งพอมารับรู้ถึงเหตุการณ์ที่บิลลี่ พอละจี ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยหายตัวไป โดยครั้งสุดท้ายที่ถูกพบเห็นคือถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวที่ด่านของอุทยานฯ กะเหรี่ยงทุกที่ก็ยิ่งกลัวที่จะไปเรียกร้องอะไร"

จากการพูดคุยกับชาวกะเหรี่ยงที่หนองหญ้า ปล้อง เพชรบุรี มองว่า พวกเขาพยายามจะฟื้นคืนชีพวิถีกะเหรี่ยง เพราะที่นี่เหมือนจะมีบางส่วนที่ถูกทำให้ต้องออกจากวิถีไปแล้ว แต่พอมีปัญหาเรื่องกฎหมายใหม่นี้ขึ้นมา ชาวกะเหรี่ยงที่เพชรบุรีกลับมาร่วมกันสู้อย่างมีแนวทางที่น่าสนใจด้วย ซึ่งมันทำให้ทางฝั่งเชียงใหม่รู้สึกมีความหวังขึ้นมา

พฤ โอโดเชา เล่าถึงสิ่งที่พวกเขาคุยกัน ก่อนจะพัฒนามาเป็นข้อเสนอต่อรัฐ

สำหรับแนวทางที่ถูกนำมาหารือและกลายเป็นความเห็นร่วมกันระหว่างชาวกะเหรี่ยงหนองหญ้าปล้อง พฤ โอโดเชา และทีมทนายความ คือแนวทางที่ชุมชนชาวกะเหรี่ยงจะรวมตัวกันเพื่อไปยื่นข้อเรียกร้องกับกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ,กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้แก้ไขร่างพระราชกฤษฎีกาฯ โดยขอให้ กำหนดพื้นที่เกษตรแปลงรวม ให้ชุมชนได้ทำไร่หมุนเวียน

"เราอยากให้กรมอุทยาน กล้ารับข้อเสนอของเรา" วราภรณ์ หนึ่งในทีมทนายความ กล่าว ..

ข้อเสนอคือ อุทยานฯ ควรจัดสรรพื้นที่ให้ในแต่ละชุมชนมีจุดที่เรียกว่า พื้นที่เกษตรแปลงรวม ให้ชาวกะเหรี่ยงที่ยังคงต้องการทำไร่หมุนเวียน ยังสามารถทำกินตามวิถีเดิมที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นภูมิปัญญาการดูแลรักษาป่าอย่างยั่งยืนต่อไปได้

วราภรณ์ อุทัยรังษี ย้ำว่า ชาวกะเหรี่ยงควรสามารถที่จะเลือกได้ว่า จะรับสิทธิในรูปแบบที่อุทยานฯเสนอให้ หรือ รับสิทธิในรูปแบบการทำเกษตรแปลงรวม และในระหว่างนั้น สามารถทำการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบว่า การทำเกษตรในรูปแบบของอุทยานฯกับไร่หมุนเวียน รูปแบบไหนสามารถดูแลรักษาป่าได้กว่ากัน

"ผลการศึกษาของนักวิชาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ระบุชัดว่า การทำไร่โดยทิ้งให้ที่ดินฟื้นตัวเองในวงรอบ 7 ปี ตามแบบที่ชาวกะเหรี่ยงสืบ ทอดกันมาอย่างยาวนาน ถือเป็นช่วงเวลาที่แร่ธาตุในดินจะกลับมาสมบูรณ์ที่สุด สามารถดูดซับคาร์บอนได้ดีที่สุด แต่ถ้าเว้นไว้ประมาณ 5 ปี จะยังคงต้องใช้ปุ๋ยบำรุงดิน"

ดังนั้น จึงขอท้าทายกับกรมอุทยานฯ ว่าหากมีเป้าหมายในการดูแลรักษาป่า ก็ควรแก้ไขพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ ให้มีพื้นที่ทำเกษตรแปลงรวมได้ แล้วให้นักวิชาการมาทำการศึกษากันแบบปีต่อปีไปเลย เปรียบเทียบตั้งแต่ปีที่ 1 ไปถึงปีที่ 7 เปรียบเทียบระหว่างแปลงที่เว้นวรรคไป 7 ปี กับแปลงที่ทำต่อเนื่องทุกปี แล้วมาดูกันว่า รูปแบบไหนช่วยรักษาป่าดีกว่ากัน

"แต่จะทำเช่นนี้ได้ อุทยานฯก็ต้องยอมยกเลิกเงื่อนไขบางข้อไปก่อน โดยเฉพาะการระบุว่าจะได้ครอบครัวละ 1 แปลง และต้องทำเกษ๖รต่อเนื่องบนที่ดินที่จัดสรรไว้โดยห้ามเว้นวรรค" วราภรณ์ เรียกร้องให้กรมอุทยานฯ รับข้อเสนอนี้อย่างเป็นรูปธรรม

เห็นด้วย ถ้าหนองหญ้าปล้องได้พื้นที่สำหรับทำเกษตรแปลงรวมเพื่อเปรียบเทียบกับเกษตรแบบที่อุทยานฯให้เราทำ ก็จะกลายเป็นประโยชน์กับชุมชนในพื้นที่อื่นๆไปด้วย

พฤ โอโดเชา ให้ความเห็นและยืนยันว่า นี่จะเป็นหนึ่งในประเด็นที่จะนำกลับไปพูดคุยกับชุมชนกะเหรี่ยงในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อให้มีแปลงรวมที่อุทยานฯรับรองให้แบบข้อเสนอนี้ที่ภาคเหนือ และหากเกิดขึ้นได้จริงก็ยังอาจจะเป็นทางออกของของความขัดแย้งระหว่าง ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย กับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ด้วย

คนไทยเห็นภาพคนบางกลอยถูกเผาบ้านใช่ไหม และ 10 ปีต่อมา มันถึงกลายเป็นกระแส SAVE บางกลอย จนคนจำนวนมากรู้จักปู่คออี้ ผู้นำชาวกะเหรี่ยงอายุกว่า 100 ปี ได้รู้จักบิลลี่ ชาวกะเหรี่ยงที่ถูกทำให้หายตัวไปหลังออกมาต่อสู้เพื่อขออยู่ในบ้านตัวเอง จนมีคนรุ่นใหม่ร่วมออกมาขับเคลื่อนเรียกร้องสิทธิให้ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย

พฤ โอโดเชา บอกว่า อยากเปรียบเทียบให้เห็นว่า หากพระราชกฤษฎีกาของกรุมอุทยานฯ มีผลบังคับใช้ในทุกอุทยานเมื่อไหร่ จะมีชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่ถูกขับไล่ออกไปจากบ้านเกิดของตัวเองอีกนับไม่ถ้วน และจะมีบางกลอย 2 3 4 5 6 .... ต่อไปเรื่อยๆ นอกจากนี้จะมีคนกะเหรี่ยงที่ถูกบังคับให้ทำกินในรูปแบบใหม่เต็มไปหมด เหมือนที่คนบางกลอยถูกไล่ลงมาอยู่ที่ลานหินจนต้องเปลี่ยนตัวเองไปเป็นแรงงานในเมือง

"แม้ไม่ได้ใช้ไฟมาเผาบ้าน ... แต่ชุมชนและวิถีกะเหรี่ยงทั่วประเทศไทย จะอยู่ในสภาพที่เหมือนถูกเผาขับไล่จนไม่สูญสิ้นเผ่าพันธุ์" พฤ โอโดเชา ทิ้งท้าย

รายงานโดย : สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

EP.1 The Last Karen : กะเหรี่ยงรุ่นสุดท้าย กลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกบีบให้เปลี่ยนวิถีทำกิน

EP.2 The Last Karen : กะเหรี่ยงรุ่นสุดท้าย ยอมเลิกทำไร่หมุนเวียน 

EP.3 The Last Karen : กะเหรี่ยงรุ่นสุดท้าย สิทธิชอบธรรมของผู้ดูแลป่า

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง