ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

บอร์ด รฟม.เคาะค่าโดยสารสายสีม่วง 20 บาท คาดเริ่ม 1 ธ.ค.นี้

เศรษฐกิจ
28 ก.ย. 66
20:36
3,387
Logo Thai PBS
บอร์ด รฟม.เคาะค่าโดยสารสายสีม่วง 20 บาท คาดเริ่ม 1 ธ.ค.นี้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
บอร์ด รฟม. มีมติเห็นชอบอัตรา​ค่าโดยสาร "รถไฟฟ้า​สายสีม่วง" 20 บาทตลอดสาย จ่อเสนอกระทรวงคมนาคม 29 ก.ย.นี้ และเริ่มวันแรก 1 ธ.ค.นี้ เบื้องต้น ใช้ได้เฉพาะผู้ถือบัตร EMV เท่านั้น

วันนี้ (28 ก.ย.2566) นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. มีมติเห็นชอบให้รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม หรือ MRT สายสีม่วง ช่วงคลองบางไผ่-เตาปูน กำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง 20 บาทตลอดสาย หรือเริ่มต้น 14 บาท สูงสุด 20 บาท เบื้องต้นจะใช้กับผู้ถือบัตรโดยสาร EMV เท่านั้น

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบหลักการกำหนดส่วนลดการเปลี่ยนถ่ายระบบระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง รถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต โดยจะเชื่อมต่อที่สถานีบางซ่อน และจะต้องเปลี่ยนถ่ายระบบ ณ สถานีบางซ่อน ภายในระยะเวลา 30 นาที และใช้บัตรโดยสารใบเดียวกัน

ขณะที่ รฟม.เตรียมเสนอเรื่องดังกล่าวไปยังกระทรวงคมนาคม ในที่ 29 ก.ย. ก่อนที่จะเสนอไปที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป คาดจะเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.นี้

และหลังจากเปิดให้บริการนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย รฟม.จะใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี เพื่อประเมินผลการดำเนินงาน ทั้งด้านตัวเลขผู้โดยสาร รายได้ รวมถึงจุดคุ้มทุนที่ รฟม.ไม่ต้องชดเชยรายได้ในอนาคตด้วย

ขณะที่นโยบายดังกล่าว คาดว่าจะทำให้รายได้จากค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงของ รฟม. ลดลงประมาณร้อยละ 60 หรือวงเงินปีละ 190 ล้านบาท แต่คาดว่า จำนวนผู้โดยสารสายสีม่วงจากเพิ่มขึ้นประมาณวันละ 10,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 17 จากปกติมีผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 56,000 คน เพิ่มเป็นวันละ 66,000 คน

นายภคพงศ์ กล่าวว่า การเดินทางเฉลี่ยของผู้โดยสารนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 8 สถานี จากจำนวนทั้งหมด 16 สถานี ค่าโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 23 บาท ขณะที่การเดินทางข้ามสายระหว่างสายสีม่วงกับสายสีแดง ที่สถานีบางซ่อน ปัจจุบันยังมีจำนวนไม่มาก หรืออยู่ที่ประมาณ 100-200 คนต่อวัน

สำหรับเรื่องการแบ่งรายได้ นายภคพงศ์ กล่าวว่า จะใช้วิธีการเก็บจากสถานีต้นทาง คือ หากผู้โดยสารขึ้นใช้บริการเริ่มต้นที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง รฟม. จะเป็นผู้รับรายได้ในส่วนนั้นไป หากผู้โดยสารขึ้นจากรถไฟฟ้าสายสีแดง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะเป็นผู้นับรายได้ในส่วนนั้นไปเช่นกัน โดยทั้งหมดนี้จะให้บริการผ่านระบบ EMV หรือการใช้บริการผ่านบัตรเครดิต และบัตรเดบิต เท่านั้น ไม่รับเงินสด หรือใช้ระบบเหรียญแบบในปัจจุบัน

ส่วนรายได้ที่ลดลงไปนั้น รฟม. จะต้องแจ้งไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อขอลดการนำส่งรายได้แผ่นดินจากส่วนแบ่งรายได้สัมปทานสายสีน้ำเงิน และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึง รฟม. ได้ตีมูลค่าของผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 5 ด้าน ประกอบด้วย การประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง, ประหยัดเวลาในการเดินทาง, ค่าความสุข, ลดการสูญเสียวการเกอดอุบัติเหตุทางถนน และลดการปล้อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ปีละประมาณ 900 ล้านบาท

รฟม.จะนำมาชดเชยรายได้จากผู้โดยสารสายสีม่วง ซึ่งที่ผ่านมา รฟม. จะนำส่งรายได้ไปยังกระทรวงการคลัง อยู่ที่ประมาณ 20-25% ต่อปีของกำไรสุทธิ กล่าวคือ ปี 2563 รฟม. นำส่งรายได้อยู่ที่ 300 ล้านบาท, ปี 2564 นำส่งรายได้อยู่ที่ 467 ล้านบาท, ปี 2565 นำส่งรายได้อยู่ที่ 311 ล้านบาท ส่วนในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 มีรายได้ที่จะต้องนำส่งอยู่ที่ประมาณ 223 ล้านบาท

ส่วนนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน นายภคพงศ์ กล่าวว่า โดยเบื้องต้น รฟม. ได้มีการหารือร่วมกับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ซึ่งทางเอกชนอยู่ระหว่างประเมินตัวเลขเกี่ยวกับการชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปจากนโยบายดังกล่าว นอกจากนี้ ได้รับทราบจากกระทรวงคมนาคม โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างตั้งคณะกรรมการเพื่อเจรจาร่วมกับภาคเอกชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง