วันนี้ (15 ก.ย.2566) กระทรวงแรงงาน และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หารือกันเพื่อรับฟังข้อเสนอจากภาคเอกชนถึงแนวทางขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ยืนยันว่า จะมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแน่นอน เพราะอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นมาก แต่ไม่ใช่ตัวเลข 400 บาททั่วประเทศ เพื่อไม่ให้กระทบทั้งอุตสาหกรรมและการผลิต เพราะจะเป็นการขึ้นแบบก้าวกระโดดร้อยละ 10 จากค่าแรงขั้นต่ำปัจจุบัน 328-354 บาท โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีจะไปต่อไม่ได้ และไม่ให้เกิดการลักลั่นทางรายได้สำหรับกลุ่มแรงงานใหม่และแรงงานเก่า โดยการขยับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะต้องให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อ
กระทรวงแรงงานหารือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถึงแนวทางขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
ดังนั้น การขึ้นค่าแรง 400 บาทจะเป็นการจ่ายตามทักษะ หรือ Pay by skill เน้นแรงงานไทย หรือเป็นกลุ่มแรงงานที่มีการเพิ่มทักษะแล้ว ซึ่งหลังจากหารือกับทั้งนายจ้างและลูกจ้างแล้วจะกำหนดรายละเอียดอีกครั้งว่าจะปรับขึ้นในภาคอุตสาหกรรมไหนได้บ้าง และจะนำไปหารือในคณะกรรมการไตรภาคี คาดว่าจะสรุปตัวเลขการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำได้ภายในเดือน พ.ย. เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่
ขณะที่นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า หลังจากหารือทำให้ภาคเอกชนสบายใจมากขึ้นว่ารัฐบาลจะไม่ขึ้นค่าแรงทั่วประเทศ 400 บาท เพราะจะเป็นอัตรากระชากที่กระทบต่อธุรกิจอย่างมาก หรือบางกลุ่มต้องย้ายฐานการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น ประมงและแปรรูปอาหารทะเล
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ และนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน
ประธาน ส.อ.ท. ระบุอีกว่า หากขึ้นค่าจ้าง 400 บาทจะทำให้อุตสาหกรรมฯ ที่จ่ายค่าจ้าง 328 บาท ต้นทุนจะสูงขึ้นร้อยละ 19-20 และอุตสาหกรรมฯที่จ่าย 354 บาท ต้นทุนจะสูงขึ้นร้อยละ 13 ดังนั้นการใช้กลไกไตรภาคีมาพิจารณาการขยับขึ้นค่าจ้างจะเป็นกลไกที่เหมาะสม
รายงานข่าวจากที่ประชุม พบว่า ภาคเอกชนได้นำเสนอการคำนวณอัตราเงินเฟ้อปี 2566 คาดว่าจะอยู่ราวร้อยละ 2-3 หากรัฐบาลจะปรับเพิ่มค่าจ้างให้อีก มีความเป็นไปได้ว่าจะขยับขึ้นให้สูงกว่าเงินเฟ้อเล็กน้อย เพื่อลดผลกระทบค่าครองชีพ จึงคาดว่าค่าจ้างที่จะขยับขึ้นจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3-4
ปัจจุบัน 45 อุตสาหกรรมในสภาอุตสาหกรรมฯ มีประมาณ 25 อุตสาหกรรมที่จ่ายค่าแรงสูง 600-900 บาทอยู่แล้ว เหลืออีก 20 อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นและจ่ายค่าแรงตามค่าแรงขั้นต่ำ ขณะที่แรงงานทั้งระบบมีอยู่ 40.3 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงานในระบบประกันสังคมประมาณ 12 ล้านคน โดย 5-6 ล้านคนอยู่ในภาคอุตสาหกรรม และเป็นแรงงานข้ามชาติ 2.7 ล้านคน ที่เหลือเป็นแรงงานนอกระบบ
อ่านข่าวอื่นๆ
"พิพัฒน์" มอบนโยบาย 8 ข้อ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เร่งปรับค่าแรง 400 บาท
"เศรษฐา" ยันดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 ไม่กู้เงิน-ขอเวลา 1 เดือนแจงแหล่งที่มา