ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"สาธารณรัฐภารัต" โลกโจษจัน หรือ "อินเดีย" จะเปลี่ยนชื่อประเทศ ?

ต่างประเทศ
6 ก.ย. 66
14:43
4,183
Logo Thai PBS
"สาธารณรัฐภารัต" โลกโจษจัน หรือ "อินเดีย" จะเปลี่ยนชื่อประเทศ ?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
คำว่า "ปธน.ภารัต" ในจดหมายเชิญร่วมงานเลี้ยงการประชุมสุดยอด G20 ถูกนำมาใช้แทนคำว่า "ปธน.อินเดีย" แม้ทางรัฐบาลบอกว่าชื่อนี้เป็นอีกชื่อทางการของอินเดีย แต่ทางฝ่ายค้านกล่าวว่านี่คือความพยายามเบี่ยงประเด็นจากความล้มเหลวการบริหารราชการแผ่นดิน

เมื่อวันที่ 5 ก.ย.2566 สำนักข่าว AP รายงานว่า รัฐบาลของ นายกฯ นเรนทรา โมดี ได้เปลี่ยนชื่อ "อินเดีย" เป็นคำว่า "ภารัต" ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤตในจดหมายเชิญร่วมรับประทานอาหารค่ำ ที่ทางรัฐบาลอินเดียจัดเพื่อต้อนรับเหล่าผู้นำทั่วโลกในการประชุมสุดยอด G20 ที่อินเดียเป็นเจ้าภาพในวันที่ 9-10 ก.ย.นี้ 

โดยการเปลี่ยนชื่อดังกล่าว ถูกระบุไว้ท้ายตำแหน่งประธานาธิบดีคนปัจจุบันของอินเดีย คือ Droupadi Murmu 

จดหมายเชิญร่วมรับประทานอาหารในการประชุม G20

จดหมายเชิญร่วมรับประทานอาหารในการประชุม G20

จดหมายเชิญร่วมรับประทานอาหารในการประชุม G20

รัฐบาลอยากลบประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคม

เรื่องนี้สร้างกระแสเชิงบวกและลบระดับประเทศเป็นอย่างมาก สมาชิกของพรรค Bharatiya Janata Party (BJP) ของ นายกฯ นเรนทรา โมดี ฝ่ายรัฐบาล ออกมาให้การสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงชื่อของประเทศ เขาให้เหตุผลว่าชื่อ "อินเดีย" ถูกตั้งในสมัยที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ และเป็นสัญลักษณ์ของการเป็นทาส จากที่ในอดีต อังกฤษปกครองอินเดียประมาณ 200 ปี จนกระทั่งประเทศได้รับเอกราช พ.ศ.2490

รัฐบาลของโมดี มีความพยายามอย่างมากที่จะลบประวัติศาสตร์ที่เคยตกอยู่ใต้อาณานิคมของอังกฤษ ข้อมูลจากนิตยสาร Outlookindia ระบุว่าในปี 2565 หลังการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ นายกฯ โมดี ได้เปลี่ยนชื่อย่านใจกลางกรุงนิวเดลี จาก ราชบาท หรือ Kingsway ซึ่งเป็นชื่อดั้งเดิมตั้งแต่ยุคอาณานิคมเป็น Kartavya Path ที่แปลว่าเส้นทางแห่งหน้าที่ 

ราจีฟ จันทรเซการ์ รมช.ไอทีของอินเดีย ให้สัมภาษณ์ผ่านสำนักข่าว ANI ว่า 

สภาสงสัยทุกเรื่อง แต่ผมไม่มีปัญหาอะไร
ประเทศเราคือ "ภารัต" ไม่เห็นต้องสงสัยอะไรเลย 

อ่าน : กระแสทวงคืน “เพชรโคอินัวร์” และ “เพชรคัลลินัน”

ฝ่ายค้านชี้รัฐบาลกลัวกลุ่ม INDIA 

ผู้นำอาวุโสในสภาคองเกรสอินเดียกล่าวว่า การกระทำของพรรค BJP กำลังสร้างความแตกแยกในประเทศ เช่นเดียวกับ มะมะตา พยานาร์จี มุขมนตรีรัฐเบงกอลตะวันตกที่ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนชื่อ อินเดีย เป็น ภารัต โดยระบุว่า ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเปลี่ยนชื่อประเทศ เพราะโลกก็รู้จักเราในนามของ อินเดีย มานานแล้ว 

ปัจจุบันมีการรวมกลุ่มของ 26 พรรคการเมืองคลื่นลูกใหม่ที่รวมตัวกันในนาม "แนวร่วมเพื่อการพัฒนาแห่งชาติอินเดีย"  หรือ INDIA (Indian National Developmental Inclusive Alliance) ตั้งขึ้นเพื่อโค่นล้มอำนาจของนายกฯ นเรนทรา โมดี ที่ครองอำนาจยาวนานตั้งแต่ปี 2557 

เอ็มเค สตาลิน หัวหน้าคณะรัฐมนตรีของรัฐทมิฬนาฑู ทวีตผ่าน X ว่า เหตุผลที่รัฐบาล BJP พยายามใช้ชื่อ ภารัต แทน อินเดีย เพียงเพราะพวกเขาไม่พอใจที่พรรคฝ่ายค้านและกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลรวมกลุ่มกันและใช้ชื่อ อินเดีย 

รัฐบาลบอกว่าจะเปลี่ยนแปลงอินเดียมา 9 ปีแล้ว แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนได้แค่ชื่อ  

Bharat และ India 1 ชาติ 2 ชื่อ  

บทความที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Open Page ในปี 2557 ระบุว่า มีไม่กี่ประเทศในโลกที่มีชื่อ 2 ชื่อ ชื่อหนึ่งมีเอกสารตามรัฐธรรมนูญ และอีกชื่อหนึ่งอาจเป็นคำแปลภาษาอังกฤษสำหรับผู้ที่ไม่สามารถออกเสียงได้

คนที่พูดภาษาอังกฤษหรือภาษายุโรปอื่นๆ มักจะมีปัญหาในการออกเสียงชื่อตะวันออก ดังนั้นในอดีตพวกเขาจะเปลี่ยนชื่อตามความสะดวกและพวกเราก็ยอมรับสิ่งเหล่านั้นโดยปริยาย 

ชื่อ Bharat หรือ ภารัต มาจากพระนามของกษัตริย์ "ภารตะ" ทรงเป็นบรรพบุรุษของชาวอินเดียทั้งมวล ดังนั้นชื่อ "ภารัต" จึงเป็นสัญลักษณ์ของชาติที่สืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์ภารตะ และถูกใช้เป็นชื่อทางการของ "สาธารณรัฐอินเดีย" โดยระบุไว้ในรัฐธรรมนูญของอินเดีย มาตราแรก เมื่อวันที่ 26 ม.ค.2493

อินเดีย คือ ภารัต เป็นสาธารณรัฐ
India, that is Bharat, shall be a Union of States.

ดังนั้นชื่อเรียกประเทศอินเดีย และ ภารัต จึงใช้อย่างเป็นทางการเท่าเทียมกัน โดยชาวอินเดียมักเรียกประเทศตนว่า ภารัต มากกว่าเพราะให้ความหมายทางวัฒนธรรม ส่วนชาวต่างชาติมักใช้คำว่า อินเดีย 

ส่วนคำว่า อินเดีย มาจากคำว่า "สินธุ" ในภาษาสันสกฤต แต่ชาวกรีกโบราณในยุคก่อน ไม่สามารถออกเสียง S หรือ H ได้ คำว่าสินธุจึงถูกออกเสียงเพี้ยนเป็น อินดุ และเรียกคนหรือพื้นที่บริเวณนั้นว่า อินเดีย 

ที่มา : Aljazeera, AP, India today, The Hindu  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง