ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เหรียญสองด้าน คลิปดื่มเหล้า "ปลด" พิธีกรตาบอด พ้นรายการทีวี

สังคม
25 ส.ค. 66
13:14
1,500
Logo Thai PBS
เหรียญสองด้าน คลิปดื่มเหล้า "ปลด" พิธีกรตาบอด พ้นรายการทีวี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

“ท็อฟฟี่ (คนตาบอด) ถูกปลดจากพิธีกรทีวี และโดนยกเลิกไปต่างประเทศ เพราะคลิปกินเหล้าที่ข้าวสาร ถือเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีกับรายการและคนพิการ”

ข้อความในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ของผู้ที่ใช้ชื่อว่า Worachat Cheang Thamrongvarangkul เพื่อนของ “ท็อฟฟี่” ชายตาบอด ถูกปลดพ้นจากการเป็นพิธีกรรายการทีวี “สื่อ ยอดนักสืบ” รายการแสดงความสามารถของคนพิการที่ได้รับทุนสนับสนุนมาจากสำนักงาน กสทช. และเป็นคนนำท็อฟฟี่ไปเที่ยวพร้อมดื่มเหล้าที่ถนนข้าวสาร โดยมีคลิปเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ จนเป็นที่มาของการถูกปลด

ต่อมาผู้ใช้เฟซบุ๊ก ว่า Worachat Cheang Thamrongvarangkul เขียนชี้แจงยืนยันว่า ในสัญญาการเป็นพิธีกรของท็อฟฟี่ ไม่ได้ระบุว่า ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ หรือห้ามไปถ่ายรายการกับช่องอื่น หากถ้ามีระบุในสัญญา ก็จะไม่ผลิตรายการรูปแบบนี้ออกมา แต่ที่ทำก็เพื่อต้องการสะท้อนให้เห็นว่า คนพิการตาบอด ก็สามารถใช้ชีวิตเที่ยว กิน ดื่ม เฉกเช่นเดียวกับคนปกติทั่วไปได้

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเปรียบเสมือนเหรียญสองด้าน ขณะที่กลุ่มคนพิการและผู้ทำงานเพื่อยกระดับคนพิการให้อยู่ในสถานะที่เหมือนคนปกติทั่วไป มองว่า เหตุใด “คนพิการดื่มเหล้า จึงกลายเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดี”

ขณะที่สังคมส่วนใหญ่ แม้จะไม่ขัดข้องในเรื่องการดื่มเหล้า แต่ด้วยการนำเสนอการดื่มเหล้าผ่านคลิปวิดีโอ ของพิธีกรคนตาบอด ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ทำให้เกิดคำถามถึงความเหมาะสมว่า อาจเข้าข่ายเป็นการชี้ชวน หรือผิดต่อกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือไม่

ปลดพ้นรายการต้องดูข้อห้ามในสัญญา

อรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์ สมาชิกศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ พุทธมณฑล ในฐานะคนพิการ ให้ความเห็นว่า ถ้ามีข้อห้ามระบุในสัญญาการเป็นพิธีกรรายการ “สื่อ ยอดนักสืบ” ท็อฟฟี่ ก็ต้องเคารพตามสัญญา แต่ถ้าไม่มีข้อห้ามในสัญญา เรื่องนี้ก็สะท้อนให้เห็นทัศนคติของสังคมและหน่วยงานที่เป็นเจ้าของทุนผลิตรายการได้เป็นอย่างดี นั่นคือทัศนคติที่ยังคงมองคนพิการอยู่ในกรอบของความน่าสงสารน่าเวทนา ไม่สามารถใช้ชีวิตแบบคนทั่วไปได้

“จากกรณีนี้ เห็นได้ว่า มุมมองเรื่องการกิน ดื่ม หรือการสูบบุหรี่ของคนพิการ ยังถูกมองว่าเป็นเรื่องผิดบาป ทั้งที่คนพิการก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง มีความต้องการ สามารถไปเที่ยวหาความสุข ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เหมือนคนอื่นๆ ตราบที่ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ไม่ใช้ยาเสพติด ไม่ขับรถหลังไปดื่มเหล้า แม้ทางรายการจะอธิบายว่า ไม่ใช่ ปลด แต่เป็นการทำโทษ ท็อฟฟี่ ที่มีคลิปไปเที่ยวและดื่มเหล้า ออกมาในสื่อ จึงอยากถามกลับว่า แล้วเขาทำอะไรผิด”

ในมุมมองของอรรถพล มองว่า การปลดท็อฟฟี่ คือ การสร้างบรรทัดฐานให้สังคมเข้าใจผิดคนพิการ และสร้างภาพลักษณ์ที่ผิดเพี้ยน ทำให้คนพิการถูกมองเป็นกลุ่มคนที่ต้องอยู่อย่างเจียมเนื้อเจียมตัว ต้องสุภาพเรียบร้อยตลอดเวลา เพื่อให้คนสงสาร และอยากให้ความช่วยเหลือ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว คนพิการก็มีความต้องการเหมือนคนทั่วไป เขาไม่ได้บวชเป็นพระ ไม่จำเป็นต้องรักษาศีล

“การปลดท็อฟฟี่ คือการส่งข้อความตอกย้ำว่า ถ้าคนพิการคนใด ไม่ได้ทำตัวสุภาพ ไม่อยู่ในสถานะที่น่าสงสาร ก็จะถูกเรียกสิทธิเสรีภาพในการใช้ชีวิตกลับคืนไปเมื่อไหร่ก็ได้ แล้วมาตรฐานความเป็นคนของคนพิการอยู่ตรงไหน” อรรถพล กล่าว

เขาย้ำว่า ไม่เฉพาะท็อฟฟี่เป็นคนตาบอดที่ถูกมองด้วยมุมที่เคร่งกว่า แม้แต่ตนซึ่งพิการเพราะถูกยิงจนต้องใช้วีลแชร์ เคยดื่มเหล้า สูบบุหรี่ แล้วก็มีคนทักว่า ไม่ควรใช้ชีวิตแบบนั้น บางคนถามว่า ทำไมยังดื่มยังสูบอยู่อีก ทั้งที่ร่างกายก็พิการแบบนี้ ทำให้สงสัยว่า เหตุใดคนพิการ จึงไม่สามารถใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการเหมือนคนทั่วไปได้

ขอเปิดพื้นที่สร้างอำนาจต่อรองในสังคม

อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่ง อรรถพล ก็มองเห็นประโยชน์ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะถือเป็นโอกาสที่คนพิการจะได้มีพื้นที่เพื่อเสนอมุมมองที่ “ท้าทาย” ต่อบรรทัดฐานเดิมๆของสังคมบ้าง

“ท็อฟฟี่ คนตาบอด มีคอนเทนต์ไปเที่ยวถนนข้าวสาร ดื่มเหล้า เต้นรำ คือข้อความสำคัญ ที่ถูกส่งออกไปเพื่อท้าทายบรรทัดฐานเดิมๆ ที่สังคมมีต่อคนพิการ เขากำลังทำให้สังคมเห็นความเป็นมนุษย์ของคนพิการ ทั้งที่การใช้ชีวิตจริงๆ ของคนพิการที่มีมานานแล้ว แต่สังคมไม่เคยเห็น และอาจกลายเป็นพื้นที่ให้สังคมยอมรับความแตกต่างหลากหลาย คือ ความต่างทางร่างกายแต่ใช้ชีวิตปกติได้ ถ้ามีสังคมประชาธิปไตยจริงๆ เราก็คงไม่ต้องถูกตีกรอบแบบนี้มาตั้งแต่แรก”

หากกล่าวถึงการนำเสนอมุมมองต่อคนพิการในมิติอื่นๆ ที่ไม่ใช่การขายความน่าสงสาร อรรถพล เห็นว่า รายการที่กำลังเป็นประเด็นอยู่นี้ แม้จะเป็นรายการที่เปิดพื้นที่ให้คนพิการมาแสดงความสามารถ แต่ก็ยังถูกนำเสนอด้วยการสร้างภาพลักษณ์ให้คนพิการต้องเป็นคนดี ต้องสุภาพ และสงสารเช่นเดิม ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ที่คนพิการถูกกดทับมาตลอดหลายสิบปี กระทั่งมีโซเชียลมีเดีย เป็นช่องทางให้คนพิการสามารถสื่อสารได้เองเกิดขึ้น

“ภาพลักษณ์ที่ทำให้คนพิการน่าเวทนาสงสาร คือสิ่งที่ถูกสื่อสารมวลชนนำเสนอผ่านรูปแบบที่ผมเห็นว่าเป็น “การโฆษณาชวนเชื่อ” โดยเฉพาะ ในยุคก่อนที่มีสื่อไม่มากนัก และยังถูกควบคุมผ่านกลไกของรัฐได้ทั้งหมด จนมีโซเชียลมีเดีย จึงมีคนที่เข้าใจเรื่องสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนพิการมาช่วยกันผลิตใหม่ๆ ที่สื่อสารได้ดีขึ้นมาก”

อรรถพล บอกว่า สื่อ ไม่จำเป็นต้องนำเสนอแต่ด้านที่น่าสงสารของคนพิการเสมอไป แต่ให้นำเสนอให้เห็นตัวตนของคนพิการในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง มีเฉดสีเทาหรือดำบ้างก็ได้ เราต้องการใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไป นั่นคือมุมมองที่จะช่วยทำให้เรามีอำนาจต่อรองทางสังคมได้เหมือนทุกคนอย่างแท้จริง มันจึงจะเป็นการปกป้องศักดิ์ศรีของคนพิการจริงๆ”

“เวลาคนพิการทำอาหารขาย เขาต้องการให้คนซื้อไป เพราะอยากกินอาหารของเขา ไม่ได้ต้องการให้ซื้อเพราะความสงสาร แต่ซื้อไปแล้วไม่กินของที่เขาขาย” อรรถพล ทิ้งท้าย

รศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว ผอ.สถาบันส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมสู่ความเป็นเลิศ มหาวิทยา ลัยวลัยลักษณ์

รศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว ผอ.สถาบันส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมสู่ความเป็นเลิศ มหาวิทยา ลัยวลัยลักษณ์

รศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว ผอ.สถาบันส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมสู่ความเป็นเลิศ มหาวิทยา ลัยวลัยลักษณ์

ร่างกายปกติ-พิการต้องใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน

ขณะที่ รศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว ผอ.สถาบันส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมสู่ความเป็นเลิศ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ให้ความเห็น โดยอ้างงานวิจัยไทยและต่างประเทศ ซึ่งมีข้อค้นพบทางวิชาการว่า การใช้สื่อหรือการนำเสนอเนื้อหาไปในทางการเชิญชวนให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือการโฆษณาจะมีผลทำให้เกิดการดื่มเพิ่มมากขึ้น

ข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ผู้พบเห็นโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา มีโอกาสดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น และผู้ที่ดื่มอยู่แล้วมีโอกาสเพิ่มพฤติกรรมการดื่มหนักขึ้นด้วย

ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรา 32 ระบุว่า “ห้ามชักจูงให้เกิดการดื่ม” ต้องยอมรับว่า ตัวบทของกฎหมายยังสามารถตีความได้หลายทาง

แม้ปัจจุบันคำว่า “ชักจูง” จะถูกตีความโดยหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายว่า ห้าม ดารา นักแสดง อินฟลูเอนเซอร์ หรือ ใครก็ตามที่เป็นบุคคลสาธารณะ จะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาการดื่มผ่านสื่อต่างๆ ได้ก็ตาม

รศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ ให้ความเห็นว่า ชายตาบอดที่ถูกปลดพ้นรายการทีวี หากถือว่าเป็นพนักงานคนหนึ่งของบริษัทก็ต้องไปดูกฎระเบียบ ข้อตกลงหรือสัญญาที่ผู้ว่าจ้างว่าทำกับพนักงานว่ามีข้อห้ามหรือไม่ เป็นเรื่องระหว่างนายจ้างและผู้ถูกจ้าง

ที่สำคัญ คือ ไม่ว่าจะมีแนวทางปฏิบัติกรณีนี้อย่างไร ก็ควรเป็นแนวทางที่ต้องปฏิบัติแบบเดียวกัน ทั้งคนพิการและผู้ที่มีร่างกายปกติ และไม่ควรนำความพิการมาเป็นหนึ่งในเกณฑ์การตัดสินใจ

รศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ ให้ข้อคิดว่า แม้จะมีการศึกษายืนยันว่า คอนเทนต์การดื่มเหล้าหรือการโฆษณาเหล้า มีผลต่อการตัดสินใจดื่มของคนทั่วไปจริง แต่ในกรณีที่คนพิการถูกให้ออกจากงาน ต้องไปดูข้อตกลงในการจ้างงานให้ชัดว่า มีข้อตกลงห้ามไม่ให้เขาทำหรือไม่ หรือการส่งผลต่อภาพลักษณ์ และต้องตีความอย่างไร ที่สำคัญคือ ต้องเป็นหลักเกณฑ์เดียวกันกับที่ใช้กับพิธีกรที่ไม่มีความพิการ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง