ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มท.1 ชี้ยังไม่ได้ข้อยุติ รอ พม.เคาะเกณฑ์ปรับจ่าย "เบี้ยผู้สูงอายุ"

สังคม
14 ส.ค. 66
18:21
888
Logo Thai PBS
มท.1 ชี้ยังไม่ได้ข้อยุติ รอ พม.เคาะเกณฑ์ปรับจ่าย "เบี้ยผู้สูงอายุ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
มท.1 ให้รอ คกก.ผู้สูงอายุแห่งชาติ พม.เคาะเกณฑ์ปรับจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ ย้อนถามคนอย่างผมควรได้ด้วยไหม หลังสื่อถามดรามาพิสูจน์ความจน ตอก "วิโรจน์" คุณเข้าใจผิด หลังแซะลักไก่ทำช่วงรัฐบาลรักษาการ ยืนยันตอนนี้ยังไม่ยุติ ตอบไม่ได้ว่าตัด-ไม่ตัด

วันนี้ (14 ส.ค.2566) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการมหาดไทย ชี้แจงถึงกรณีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยผู้สูงอายุ ว่า เรื่องเงินดูแลผู้สูงอายุ จริง ๆ แล้ว เป็นเรื่องของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่เป็นเจ้าของเรื่อง โดยมีคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ เป็นผู้พิจารณาในเรื่องนี้ตามหลักเกณฑ์

แต่งบประมาณส่วนนี้ นำมาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จ่าย จึงเกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทย เป็นที่มาว่าโดยกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะจ่ายได้นั้น กระทรวงมหาดไทยจะต้องออกระเบียบเพื่อที่ให้ดำเนินการได้

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า เคยมีปัญหาเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็จ่ายเงินตามปกติให้กับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ลงทะเบียนแล้ว แต่เกิดประเด็นว่ากรมบัญชีกลางท้วงคนที่มีรายได้ส่วนอื่นจากของรัฐ จะรับอีกไม่ได้ ในช่วงนั้นก็มีการแก้ไขปัญหากัน สรุปว่าที่จ่ายไปแล้วก็ไม่เรียกคืน ที่เรียกคืนไปแล้วเราก็ไปจ่ายเงินคืนให้เหมือนเดิม

"ตอนนี้จะจ่ายอย่างไรนั้น จึงอยู่ที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเป็นคนกำหนด หลังจากนั้นมหาดไทยก็จะไปออกให้สอดคล้องกับที่กำหนดมา ขณะนี้ก็จะต้องบอกไป เพราะไม่ฉะนั้นเขาจะทำตัวไม่ถูก บอกว่าให้จ่าย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องรอเกณฑ์ต่าง ๆ จากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ"

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ส่วนที่บางคนไปเข้าใจผิดว่าตัดหรือไม่ตัดเบี้ยนั่นไม่ใช่ แต่บอกไปเพื่อที่จะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้จ่ายได้ ส่วนจะจ่ายได้อย่างไรนั้นต้องรอดูจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับเงื่อนไขเวลา แต่อยู่ที่ว่าคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติจะกำหนดออกมาเมื่อใดอย่างไร

ส่วนกรณีโซเชียลมีดรามาถึงการพิสูจน์ความจนนั้น พล.อ.อนุพงษ์ ระบุว่า มีวิธีคิดได้หลายแบบ ก่อนจะย้อนถามว่าถ้าคนอย่างผมได้ด้วยเนี้ยคุณว่ายุติธรรมหรือไม่ ตนเองก็เป็นข้าราชการเกษียณแล้ว มีบำนาญ คิดว่าควรได้หรือไม่

ผมมีบำนาญ 60,000 กว่าบาท คุณคิดว่าผมควรได้ไหม นั่นแหละเป็นสิ่งที่เขาจะพิจารณาว่าคนแบบใดไม่ควรได้ คนแบบใดควรได้

รมว.มหาดไทย ย้ำว่า เป็นเรื่องที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเป็นคนกำหนดเรื่องนี้ มหาดไทยก็ออกระเบียบให้สอดคล้องเท่านั้นเอง อย่ามองด้านเดียวว่าไปตัดสิทธิ สรุปแล้วจะตัดไม่ตัดอย่างไรอยู่ที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติจะกำหนดเกณฑ์มา แต่ตนเองคิดว่าต้องตัดในบางคน ยกตัวอย่างตนเองที่ไม่ควรได้เงินในส่วนนี้

ส่วนกรณีที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ออกมาแสดงความเห็นว่าเป็นการลักไก่ทำช่วงรัฐบาลรักษาการ พล.อ.อนุพงษ์ ระบุว่า ตอนนี้ยังไม่มีการทำอะไรเลย จนกว่าคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติจะกำหนดหลักเกณฑ์

ส่วนระหว่างนี้ก่อนที่จะมีระเบียบจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติออกมา ท้องถิ่นจะทำอย่างไรนั้น พล.อ.อนุพงษ์ ระบุว่า ถ้าไปถึงวันนั้นแล้วยังไม่มีระเบียบออกมา ก็ต้องหารือกันเพราะถ้าจ่ายไปแล้วไปเรียกคืนก็จะวุ่นวายอีก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง