กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เตรียมแถลงข่าว การค้นพบไดโนเสาร์ตัวที่ 13 ของไทย ในวันที่ 26 ก.ค.นี้ ซึ่งเป็นผลงานวิจัยล่าสุดของ ดร.ศิตะ มานิตกุล จากศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับพิพิธภัณฑ์สิรินธร และฝั่งฝรั่งเศส โดยศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (Laboratoire de Géologie de l’Ecole Normale Supérieure, CNRS)
โดยไดโนเสาร์ที่พบตัวล่าสุดเพิ่งได้รับการตีพิมพ์เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา และเป็นตัวที่ 13 ของไทยชื่อว่า มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส Minimocursor phunoiensis gen. et sp. nov. โดยได้รับฉายาว่านักวิ่งตัวจิ๋วจากแหล่งภูน้อย จ.กาฬสินธุ์ เนื่องจากมีขนาดลำตัวเพียง 0.6 เมตร
โดยทีมวิจัยขุดค้นพบตัวอย่างชิ้นนี้เป็นหนึ่งในไดโนเสาร์ที่สมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทย ด้วยสภาพตัวอย่างที่เจอเป็นโครงกระดูกเรียงต่อกันแทบทั้งตัว จากแหล่งภูน้อย จ.กาฬสินธุ์ ยุคจูแรสซิกตอนปลาย (ประมาณ 150 ล้านปี)
ตัวอย่างต้นแบบนี้ใช้เวลาอนุรักษ์ตัวอย่างนานมากกว่า 5 ปี นับเป็นไดโนเสาร์ที่ตั้งชื่ออย่างเป็นทางการตัวแรกของหมวดหินภูกระดึง และเป็นไดโนเสาร์นีออร์นิธิสเชียนที่เก่าแก่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สำหรับชิ้นส่วนที่ค้นพบนั้นประกอบไปด้วย กระดูกลำตัว พร้อมขาและหางสภาพสมบูรณ์ กระดูกมือ และชิ้นส่วนกะโหลก ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุดที่เคยค้นพบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนี้ยังมีมีซากดึกดำบรรพ์ที่อ้างอิงถึง (referred specimens) ที่ถูกค้นพบเพิ่มเติมในพื้นที่ใกล้เคียง ประกอบด้วยชิ้นส่วนกรามล่างและขาซ้ายสภาพสมบูรณ์
ลักษณะเฉพาะของมินิโมเคอร์เซอร์ คือ ปุ่มกระดูกรูปสามเหลี่ยมบริเวณกระดูกโหนกแก้มขวา แผ่นกระดูกที่ยื่นออกมาจากกระดูกปีกสะโพก ริมขอบกระดูกบริเวณข้อต่อกระดูกก้นกบ และจำนวนข้อต่อนิ้วมือที่ไม่เหมือนกับไดโนเสาร์ชนิดใด
จากการวิเคราะห์ทางวงศ์วานวิวัฒนาการ (phylogenetic analysis) พบว่า มินิโมเคอร์เซอร์ ถูกจัดอยู่ในกลุ่มของนีออร์นิธิสเชียนแรกเริ่ม (basal neornithischian) หรือกลุ่มไดโนเสาร์กินพืชสะโพกคล้ายนกขนาดเล็ก โดยมินิโมเคอร์เซอร์มีความใกล้ชิดทางสายวิวัฒนาการกับไดโนเสาร์กลุ่มของนีออร์นิธิสเชียนแรกเริ่มอย่างเฮอฉินลู่ซอรัส มัลติเดนส์ (Hexinlusaurus multidens) และนาโนซอรัส อจิลิส (Nanosaurus agilis) ซึ่งล้วนปรากฏตัวในช่วงยุคจูแรสซิกตอนปลาย
มินิโมเคอร์เซอร์ถือได้ว่าเป็นไดโนเสาร์ชนิดแรกที่ได้รับการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการของหมวดหินภูกระดึง ซึ่งได้มีการค้นพบไดโนเสาร์และสัตว์ร่วมยุคหลากหลายชนิดในหมวดหินนี้ เช่น
- ไดโนเสาร์คอยาวกลุ่มมาเมนชิซอริด (mamenchisaurid)
- ไดโนเสาร์กินเนื้อกลุ่มเมเทรียแคนโธซอริด (metriacanthosaurid)
- ไดโนเสาร์หุ้มเกราะกลุ่มสเตโกซอร์ (stegosaurid)
- เทอโรซอร์กลุ่มแรมโฟรินคอยด์ (rhamphorynchoid)
- จระเข้ อินโดซิโนซูคัส โปเตโมสยามเอนซิส (Indosinosuchus potamosiamensis)
- ปลาโบราณ อีสานอิคธิส เลิศบุศย์ศี (Isanichths lertboosi)
บ่งบอกให้เห็นถึงความหลากหลายของสัตว์มีกระดูกสันหลังในช่วงยุคจูแรสซิกตอนปลายของประเทศไทย
ReferencesManitkoon et al., 2023. A New Basal Neornithischian Dinosaur from the Phu Kradung Formation (Upper Jurassic) of Northeastern Thailand. Diversity 15 (7): 851 https://www.mdpi.com/1424-2818/15/7/851
ไดโนเสาร์ไทย 13 สายพันธุ์
ไดโนเสาร์ไทย 13 สายพันธุ์