ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"นักวิชาการ" เห็นพ้อง "รัฐธรรมนูญ" ใหญ่กว่า "ข้อบังคับ"

การเมือง
20 ก.ค. 66
12:27
2,006
Logo Thai PBS
"นักวิชาการ" เห็นพ้อง  "รัฐธรรมนูญ"  ใหญ่กว่า "ข้อบังคับ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"นักนิติศาสตร์ - นักรัฐศาสตร์" ให้ความเห็นกรณีเสนอชื่อนายกฯ ซ้ำไม่ได้ พร้อมตั้งสังเกตถึงมติรัฐสภาว่า "ข้อบังคับ" จะมีศักดิ์ใหญ่กว่า "รัฐธรรมนูญ" หรือไม่

จากกรณีที่ที่ประชุมรัฐสภา ลงมติเสียงข้างมาก 395 เสียง เห็นว่า ไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เข้าสู่การโหวตเลือกนายกฯได้อีกครั้ง ทำให้มีความเห็นจากนักวิชาการทั้งนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์จำนวนมาก ที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีดังกล่าวโดยสรุปได้ ดังนี้ 

อ่านข่าว "วันนอร์" นัดประชุมโหวตนายกฯ อีก 27 ก.ค. ย้ำเสนอชื่อ "พิธา" ไม่ได้แล้ว

ศ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มองว่า ที่ประชุมรัฐสภานำข้อบังคับการประชุมมาทำให้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเป็นง่อย ทั้ง ๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดการเลือกนายกไว้เป็นการเฉพาะแล้ว พร้อมแนะนำยื่นต่อผู้ตรจการแผ่นดิน หรือ ศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่ามติรัฐสภาขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ 

ผศ.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า คงจะมีแต่ประเทศไทย ที่อ้าง "กฎเกณฑ์ที่ไม่ใช่กฎหมาย" อย่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภาไปใหญ่เหนือกว่า "กฎเกณฑ์ที่เป็นกฎหมายสูงสุด" อย่างรัฐธรรมนูญ และ ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาได้กลายเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศไทยไปเสียแล้ว 

ขณะที่ ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แชร์ข้อความของ นายบวรศักดิ์ พร้อมโพสต์ข้อความระบุ รัฐธรรมนูญมีศักดิ์ทางกฎหมายสูงกว่าข้อบังคับการประชุมของรัฐสภาอย่างแน่นอน 

การเสนอชื่อบุคคลเพื่อให้รัฐสภามีมติให้ความเห็นชอบเพื่อดำรงตำแหน่งนายกฯ เป็นการดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 ประกอบมาตรา 272

นอกจากนั้นข้อบังคับการประชุมรัฐสภาพ.ศ. 2563 เอง ในหมวดเก้าว่าด้วยเรื่องการพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ได้แยกเรื่องนี้ออกไว้เป็นการเฉพาะ และกำหนดไว้เป็นการพิเศษว่า การเสนอชื่อดังกล่าวต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถ้าคำนวณจากจำนวนเต็ม 500 ก็จะพบว่าการเสนอชื่อนี้ต้องมีผู้รับรองถึง 50 คน 

โปรดสังเกตว่าบทบัญญัติมาตรา 157 และมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญก็ดี บทบัญญัติของข้อบังคับการประชุมรัฐสภาหมวด 9 ก็ดี ไม่ปรากฏคำว่า “ญัตติ” อยู่ในที่ใด

ในขณะที่การเสนอญัตติทั่วไปตามข้อ 29 แห่งข้อบังคับการประชุมรัฐสภาพ.ศ. 2563 กำหนดว่าต้องมีสมาชิกรัฐสภารับรองไม่น้อยกว่าสิบคน จึงเห็นการแยกแยะความแตกต่าง และความสำคัญของสองเรื่องนี้ออกจากกันโดยชัดเจน

ดังนี้จึงเห็นได้ว่า การเสนอชื่อบุคคลเพื่อให้รัฐสภามีมติให้ความเห็นชอบเพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นการดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ประกอบกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภาหมวดเก้า ซึ่งกำหนดวิธีการขั้นตอนไว้โดยเฉพาะ ไม่มีเหตุผลทางกฎหมายใดที่จะนำบทบัญญัติ จากข้อบังคับการประชุมรัฐสภากรณีการเสนอญัตติทั่วไปมาปรับใช้แก่กรณี

 

อ่านข่าว นักวิชาการฟันธง "เพื่อไทย" กี่ฉากทัศน์ก็ไร้ก้าวไกล  

ด้าน ศ.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ว่า "เสียงข้างมากในรัฐสภามีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ !" 

นอกจากนี้ยังระบุว่า ให้ตีความ ม.272 และหากไม่แน่ใจว่า การตีความขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็สามารถส่งศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยได้ 

นอกจากนี้ ศ.ไชยันต์ ยังเห็นว่า การได้มาซึ่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ต่างจาก 2540 และ 2550 ตรงที่ 2540 และ 2550 ยอมให้มีนายกฯเสียงน้อยกว่าครึ่งสภาได้ หากไม่ได้นายกฯที่เสียงเกินครึ่ง จึงไม่ต้องเสนอชื่อซ้ำ แต่ให้เสนอชื่อคนที่ได้คะแนนสูงสุด แม้ไม่เกินครึ่งสภาสามารถนำรายชื่อขึ้น ทูลเกล้าฯ ได้เลย

แต่ รัฐธรรมนูญ 2560 นั้นไม่ให้ เมื่อไม่ให้ จึงเสนอชื่อเดิมได้ซ้ำซาก จนกว่าจะได้ โดยหวังว่า เมื่อเวลาผ่านไป เงื่อนไขการตัดสินใจจะเปลี่ยนไปด้วย และภายใต้หลักการแบบนี้ ประเทศยุโรปบางประเทศจึงใช้เวลาจัดตั้งรัฐบาลนานมาก

เช่นเดียวกับ รศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุูกระบุว่า ส.ว.หลายท่านออกมาบอกว่า เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯรอบที่สองในวันที่ 19 ก.ค.2566 ไม่ได้ เพราะข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 กำหนดว่า “ญัตติใดตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน”

ขอเรียนว่าท่าน ส.ว. เข้าใจ "คลาดเคลื่อน" ไปมากครับ เพราะข้อ 41 อยู่ในข้อบังคับหมวด 2 ส่วนที่ 2 เรื่องการเสนอญัตติ ดังนั้น “ญัตติ” ที่ตกไปแล้วที่เสนอซ้ำไม่ได้ตามข้อ 41 จึงหมายถึงญัตติตามข้อบังคับหมวด 2 ส่วนที่ 2 นี้เท่านั้น ซึ่งข้อ 29 กำหนดว่า “ญัตติท้ังหลายต้องเสนอล่วงหน้าเป็นหนังสือต่อประธานรัฐสภา และ ต้องมีสมาชิกรัฐสภารับรองไม่น้อยกว่า 10 คน”

ส่วนการเสนอชื่อนายกฯ ไม่ว่าจะเป็นใครก็แล้วแต่ ไม่ใช่การเสนอญัตติ หากเป็นเรื่อง กระบวนการได้มาซึ่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 159 บัญญัติว่า ต้องมี ส.ส.ให้ความเห็นชอบอย่างน้อย 1 ใน 10 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ซึ่งก็คือ 50 คน ไม่ใช่แค่ 10 คนเหมือนเสนอญัตติ

 

อีกทั้งข้อบังคับการประชุมรัฐสภาเรื่องการให้ความเห็นชอบนายกฯ ก็อยู่หมวด 9 ไม่ใช่หมวดเดียวกันกับการเสนอญัตติ การนำเอาข้อ 41 มาอ้างว่า โหวตเห็นชอบนายกฯคนเดิมรอบ 2 ไม่ได้ จึงผิดโดยสิ้นเชิง

เห็นว่าเป็นเรื่องประหลาดที่ท่าน “สมาชิกวุฒิสภา” มาเสนออะไรแบบนี้ เพราะมันเท่ากับเป็นการเอาข้อบังคับการประชุมรัฐสภามาอยู่เหนือรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด แล้วยังเป็นการเอามาใช้แบบผิด ๆ ถูก ๆ โดยสมาชิกวุฒิสภา ซึ่่งสังคมคาดหวังว่าน่าจะมี “วุฒิ” มากกว่านี้

สรุป คือ เสนอชื่อพิธารอบ 2 ได้ครับ ส่วนเสียงจะได้ถึงหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ท่านประธานรัฐสภาชี้ขาดได้เลย โดยที่ไม่ต้องมีการลงมติตีความข้อบังคับ หรือลงมติงดเว้นใช้ข้อบังคับ เพราะการเสนอชื่อนายกฯ ไม่ใช่ญัตติครับ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

"สุทิน" วิเคราะห์ 3 แนวทาง โอกาส 8 พรรคตั้งรัฐบาล  

ผลโหวตนายกฯ รอบ 2 : เช็กเสียงโหวตเสนอ "พิธา" ซ้ำ 8 พรรคร่วม-สว. คะแนนหายไป 7 เสียง  

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง