ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วิชาฟิสิกส์101 ถอดบทเรียนจากการถูกบีบอัด "ไททัน"

ต่างประเทศ
23 มิ.ย. 66
20:20
9,191
Logo Thai PBS
วิชาฟิสิกส์101 ถอดบทเรียนจากการถูกบีบอัด "ไททัน"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ยังไม่เป็นที่ยืนยันว่า "ไททัน" ถูกแรงดันน้ำที่ความลึกระดับเกือบ 4,000 ม. บีบอัดจนระเบิดหรือไม่ แต่น่าจะทำให้หลายคนอยากรู้จักคำว่า "การบีบอัดอย่างรุนแรงเฉียบพลัน" หรือ Implosion อย่างรุนแรงเฉียบพลัน เช่นกัน
Implosion เป็นกระบวนการที่วัตถุถูกทำลายโดยการยุบตัว หรือถูกบีบอัดลงบนตัวมันเอง
ตรงกันข้ามกับการระเบิดแบบ Explosion

Implosion คือความไม่สมดุลกันของแรงดันภายในที่ต่ำกว่าภายนอก จนทำให้แรงดันจากภายนอกปริมาณมากบีบอัดโครงสร้างจนยุบเข้าหาศูนย์กลาง ยกตัวอย่างเช่น การถูกบีบอัดของเรือดำน้ำไททัน ที่เกิดเหตุหลังจากขาดการติดต่อกับเรือแม่โพลาร์ พรินซ์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 มิ.ย.2566 ที่ผ่านมา หรือ การยุบตัวของดวงดาวที่เกิดจากแรงกดของแรงโน้มถ่วงของมันเอง

Implosion ไม่ใช่การระเบิด

หลายคนจะไม่คุ้นกับคำว่า Implosion แต่เมื่อลองถอด Prefix หรือคำนำหน้าศัพท์ "Im จะตรงข้ามกับ Ex" จะทำให้คนนึกไปถึงคำศัพท์ Explosion ที่แปลว่าการระเบิดจากด้านในสู่ด้านนอก เช่น ภาพระเบิดที่เคยเห็นกันตามภาพยนตร์ พอย้อนกับไปที่ Implosion จึงเข้าใจกันเองแบบง่ายๆ ว่า น่าจะเป็นการระเบิดที่เกิดจากด้านนอกเข้าสู่ด้านใน

ซึ่งก็ไม่ถูกเสียทั้งหมด และก็ไม่ได้ผิดความหมายไปทั้งหมดเช่นกัน

Implosion คือการบีบอัด โดยใช้แรงดันจากด้านนอกสู่ด้านใน นึกภาพการบีบกระป๋องน้ำอัดลมที่หมดแล้ว นั่นก็เรียกว่า Implosion หรือแม้กระทั่งธุรกิจการระเบิดตึกหรืออาคารเก่า ก็ใช้หลักการ Implosion เช่นกัน    

Stacy Loizeaux วิศวกรผู้ควบคุมการทำลายตึกบริษัท NOVA ให้คำจำกัดความถึงความหมายของ Implosion ว่า ในปัจจุบันไม่ค่อยมีคนใช้คำๆ นี้มากนัก มันเป็นคำศัพท์ในยุค 1960 แต่สำหรับการทำลายตึกหลักการของ Explosion หรือการระเบิดจากจุดศูนย์กลางวัตถุสู่ภายนอกนั้น เป็นเพียงขั้นตอนเล็กๆ ที่ก่อให้เกิดการบีบอัดแรงจากด้านนอกอาคารเข้าสู่ด้านใน 

สิ่งที่เราทำ ก็แค่ระเบิดจุดสำคัญของโครงสร้าง เช่น เสา แล้วก็ปล่อยให้แรงดันจากยอดตึกที่มีน้ำหนักมาก ทับส่วนที่อยู่ด้านล่างลงมา 

ไททันถูกบีบอัด ?

สำนักข่าว BBC อ้างอิงคำสัมภาษณ์จากผู้เชี่ยวชาญหลายคนระบุว่า ยังไม่เป็นที่สรุปว่า "ไททัน" ถูกบีบอัดอย่างรุนแรงจากความดันน้ำรอบเรือหรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนชี้ว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากโครงสร้างที่ไม่แข็งแรงในตัวถังด้านนอกเรือดำน้ำ 

มาตรวัดแรงดันใช้ได้หลายมาตรา รวมถึงมาตราที่เรียกว่า "ความกดอากาศ" หรือ Atmosphere (atm) โดยแรงกดดันที่ระดับผิวน้ำทะเลจะอยู่ที่ 1 atm หรือ เท่ากับแรงกด 10.33 ตัน/ตร.ม. 

แรงดันก็จะเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว ในทุกๆ ความลึกน้ำทะเล 10 เมตร

หากประเมินว่า ไททัน ใช้เวลา 2 ชั่วโมงลงไปถึงซากเรือไททานิกที่ความลึก 3,800 เมตร แต่สูญหายไปหลังลงไปใต้น้ำ 1 ชั่วโมง 45 นาที ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ไททัน อาจถูกบีบอัดอย่างรุนแรงเฉียบพลัน หรือ Implosion ที่ความลึก 3,000 เมตร

นั่นหมายความว่า แรงดัน ณ ความลึก 3,000 เมตร คิดเป็นแรงดันได้ 3,099 ตัน/ตร.ม.

ลองเทียบกันแบบนี้ วาฬสีน้ำเงิน สัตว์ที่ตัวใหญ่ที่สุดในโลก มีน้ำหนักมากที่สุด 200 ตัน/ตัว หมายความว่า ต้องให้วาฬสีน้ำเงินเรียงตัวกัน 15 ตัวแล้วพุ่งเข้าหา ไททัน ทุกทิศทาง  

ประเด็นเรื่องโครงสร้างของ ไททัน ที่ไม่แข็งแรงถูกยกเป็นข้อสงสัยอันดับหนึ่งในการสอบสวนถึงสาเหตุโศกนาฏกรรมการสูญเสียคน 5 คน โดยอดีตลูกจ้างโอเชียนเกตเคยเตือนเรื่องความปลอดภัยของ ไททัน แต่สุดท้ายกลับถูกไล่ออก

เช่นเดียวกับ ทอม แม๊ดด็อกส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อันเดอร์วอเตอร์ ฟอเรนสิก อินเวสติเกเตอร์ (Underwater Forensic Investigators) ที่เข้าร่วมในการสำรวจซากเรือไททานิค เมื่อปี 2005 อธิบายว่ายิ่ง ไททัน ลงไปใต้ทะเลลึกเท่าไหร่ แรงดันก็ยิ่งมหาศาล แม้แต่ข้อชำรุดเชิงโครงสร้างของเรือดำน้ำเพียงเล็กน้อย ก็ถือเป็นอันตรายได้

รอยรั่วเพียงเล็กน้อยจะก่อให้เกิดการบีบอัดอย่างรุนแรงในทันที

ที่มา : BBC

อ่านข่าวเพิ่ม : 

ภารกิจสุดหินกู้ "ไททัน" เมื่อแผนที่มหาสมุทรลึกลับกว่าแผนที่ดวงจันทร์

ที่มาที่ไปของ "ไททัน"

โศกนาฏกรรมซ้ำรอย สามีเหลน "2 ตายายไททานิก" ติดไททัน

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง