Thailand Web Stat
ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ขยายพื้นที่ค้นหาเรือดำน้ำ "ไททัน" ออกซิเจนใกล้หมดวันนี้

ต่างประเทศ
22 มิ.ย. 66
01:16
3,910
Logo Thai PBS
ขยายพื้นที่ค้นหาเรือดำน้ำ "ไททัน" ออกซิเจนใกล้หมดวันนี้
อ่านให้ฟัง
07:21อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การค้นหาเรือดำน้ำ "ไททัน" เข้มข้นขึ้นทุกขณะ ท่ามกลางอากาศในเรือที่คาดเหลือไม่ถึง 20 ชั่วโมง และความท้าทายหลายประการที่ทีมค้นหาต้องเผชิญ ล่าสุดขยายพื้นที่ค้นหาเพิ่ม พร้อมยืนยันยังคงเป็นปฏิบัติการค้นหา 100%

วันนี้ (22 มิ.ย.2566) เว็บไซต์ Marine Traffic เผยภาพความเคลื่อนไหวของเรืออย่างน้อย 11 ลำ ที่เคลื่อนตัวอยู่บริเวณตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก ระหว่างภารกิจค้นหาเรือดำน้ำ "ไททัน" ที่สูญหายไประหว่างดำลงไปสำรวจซากเรือไททานิก ตั้งแต่วันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น จนถึงขณะนี้คาดไททันอาจมีอากาศสำหรับหายใจหลงเหลืออยู่ไม่ถึง 20 ชั่วโมงแล้ว ตามการคาดการณ์ก่อนนี้ที่ว่าอากาศจะหมดลงในช่วงเช้าตามเวลาท้องถิ่น ตรงกับเวลาประมาณ 17.00 น.ตามเวลาไทย

หน่วยยามชายฝั่งสหรัฐฯ ระบุว่า ขณะนี้เน้นค้นหาบริเวณที่ได้ยินเสียง หลังจากได้ยินเสียงทุบช่วงเช้าวันอังคารและวันพุธตามเวลาท้องถิ่น โดยพื้นที่ค้นหาขยายวงกว้างและกินบริเวณเป็น 2 เท่า ของรัฐคอนเนกติคัต สหรัฐฯ ซึ่งเวลานี้เจ้าหน้าที่ยืนยันว่า ยังคงเป็นปฏิบัติการค้นหา 100% พร้อมแสดงความกังวลเกี่ยวกับอาหารและน้ำภายในเรือ แต่ข้อมูลเดียวที่ทราบคือเรื่อง ออกซิเจน

แต่ผู้เชี่ยวชาญการดำน้ำ ระบุว่า การจะระบุตำแหน่งเสียงที่โซนาร์ตรวจพบ เสมือนการหาที่มาของเสียงกลองในคอนเสิร์ตใหญ่ ๆ เพราะในน้ำมีคลื่นที่อาจทำให้ยากต่อการระบุตำแหน่ง และต้องตัดเสียงรบกวนต่าง ๆ ออกไปให้ได้

เวลานี้ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติมองความเป็นไปได้ 2 แนวทางของเรือไททัน หลังจากขาดการติดต่อกับเรือ Polar Prince ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ผ่านมา ฉากทัศน์แรก คือ เรือลอยขึ้นมาแล้ว แต่ยังติดต่อไม่ได้ หรือ ฉากทัศน์ที่ 2 คือ เรือถูกกระแสน้ำก้นทะเลซัดไปติดบริเวณซากเรือไททานิก

อีกประเด็นหนึ่งซึ่งเป็นที่สนใจคือข้อกังขาเรื่องความปลอดภัยของตัวเรือไททัน โดยมีข้อมูลจากเอกสารของศาลในสหรัฐฯ เมื่อปี 2018 ที่ระบุว่า David Lochridge ผู้อำนวยการฝ่ายการปฏิบัติการทางน้ำของทางบริษัท OceanGate เคยแสดงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยของเรือเอาไว้ในรายงานการตรวจสอบในปีนั้น โดยระบุว่า เขาพบสิ่งที่น่ากังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยหลายข้อ รวมถึงวิธีการทดสอบลำตัวเรือที่ยังไม่ได้ทดสอบอย่างเหมาะสม นั่นคือการนำไปทดสอบภายใต้แรงดันสูง ๆ และวิเคราะห์ผลกระทบต่าง ๆ เพื่อดูว่าอาจเกิดปัญหาอะไรขึ้นได้บ้าง

"ไททัน" กับข้อกังขาด้านความปลอดภัย

Lochridge ให้ความสำคัญเรื่องของอันตรายและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับผู้โดยสารของไททัน เมื่อตัวเรือดำดิ่งลงไปถึงความลึกระดับยิ่งยวด แต่ว่าคำเตือนของเขาถูกเพิกเฉยและหลังจากมีการเรียกประชุมกับผู้บริหารของทางบริษัท เขากลับถูกให้ออกจากงาน

หลังจากนั้นทางบริษัท OceanGate ฟ้องร้องเขาข้อหาเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับและตัวเขาเองก็ฟ้องกลับในกรณีของการให้ออกจากงานอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งในภายหลังคดีความเหล่านี้ไกล่เกลี่ยกันได้และสิ้นสุดลงในที่สุด แต่ไม่ทราบรายละเอียดว่าไกล่เกลี่ยกันอย่างไรบ้าง

อีกกรณีหนึ่งเปิดเผยโดย the New York Times เป็นจดหมายที่สมาคมเทคโนโลยีทางน้ำ (Marine Technology Society - MTS) ส่งหาทางบริษัท OceanGate เมื่อเดือน มี.ค.ปี 2018 ที่ระบุว่า เรืองของทางบริษัทที่ยังคงอยู่ในขั้นตอนการทดลองอาจจะนำมาซึ่งผลในเชิงลบได้

ผลในเชิงลบครอบคลุมตั้งแต่ความเสียหายเล็กน้อยไปจนถึงระดับหายนะ ซึ่งสมาคมดังกล่าวเป็นการรวมตัวกันของบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีทางน้ำ มีทั้งวิศวกร ผู้พัฒนาเทคโนโลยี นักวิจัย นักการศึกษา รวมถึงกลุ่มผู้ออกนโยบายและอื่น ๆ

ทาง OceanGate ยังไม่ยอมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นด้านความปลอดภัยที่มีการหยิบยกมาพูดถึง 2 กรณี

ยานดำน้ำหรือเรือดำน้ำต่าง ๆ แม้จะไม่มีหน่วยงานรัฐคอยตรวจสอบรับรอง แต่มีหน่วยงานทางน้ำที่รับตรวจสอบและจัดอันดับประเภทเรือดำน้ำ เช่น สำนักงานเรืออเมริกัน - American Bureau of Shipping (ABS) หรือ หน่วยงานตรวจสอบระดับโลกอย่าง DNV ในนอร์เวย์ หรือสถาบันลอยด์แห่งลอนดอน ซึ่งเป็นแหล่งรวมของผู้รับประกันภัย

"ไททัน" ไม่เข้าตรวจสอบรับรองมาตรฐาน

หากผ่านการตรวจสอบเหล่านี้ อย่างน้อยเท่ากับว่าเรือจะต้องผ่านมาตรการความแข็งแรง ความเสถียร ความปลอดภัย และมีสมรรถนะเพียงพอในระดับหนึ่ง เพราะจะต้องตรวจสอบเรื่องการออกแบบ การต่อเรือ การทดสอบ และต้องตรวจสภาพเป็นประจำหลังใช้งานจริงไประยะหนึ่ง

แต่ OceanGate ระบุว่า การตรวจสอบโดยหน่วยงานต่าง ๆ ทำให้นวัตกรรมล่าช้าลง เป็นอุปสรรคต่อการนำไปทดลองใช้งานจริงเพื่อพัฒนานวัตกรรมได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากการไม่ส่งเรือเข้ารับการตรวจสอบรับรอง สิ่งที่แปลกเกี่ยวกับไททันยังมีอีก 2 ข้อ ตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านสมุทรศาสตร์ คือ

1. ไททันทำขึ้นจากวัสดุที่ค่อนข้างแปลกใหม่ สำหรับการเดินทางในทะเลลึก โดยลำตัวเรือหรือส่วนกลางที่ห่อหุ้มช่องว่างภายในซึ่งเป็นที่นั่งของผู้โดยสารทำจากคาร์บอนไฟเบอร์

คาร์บอนไฟเบอร์ ถือเป็นวัสดุที่แข็งแรงทนทานมาก ราคาถูกกว่าไทเทเนียมหรือเหล็กกล้า แต่สำหรับการเดินทางใต้ทะเลลึกหรือในเรือดำน้ำ ที่ต้องลงไปในความลึกมากๆ ใต้มหาสมุทร ยังไม่ค่อยมีการทดสอบใช้วัสดุนี้มากเท่าไรนัก

2. รูปร่างของไททัน ปกติแล้ว เรือดำน้ำที่ต้องลงไปใต้มหาสมุทรลึกมากๆ มักเป็นทรงกลม เพื่อให้รับแรงดันจากทุกด้านได้เท่าๆ กัน แต่ลำตัวเรือไททันกลับเป็นทรงกระบอก เท่ากับว่าจะรับแรงดันไม่เท่ากัน ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสี่ยงทำให้มีบางจุดเสียหายได้

"ไททัน" ถือเป็นเรือดำน้ำขนาดเล็ก เพียง 1 ใน 5 ลำของโลก ที่ดำลงไปสำรวจเรือไททานิก ในระดับความลึกกว่า 3,000 เมตร

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วิเคราะห์ : จับตาค้นหาเรือ "ไททัน" เทียบภารกิจกู้ภัยใต้ทะเลลึก

ทีมค้นหาเรือดำน้ำ "ไททัน" ตรวจพบเสียงดังทุก 30 นาที

เร่งค้นหายานดำน้ำ "ไททัน" สูญหายใต้ทะเล คลุมพื้นที่ 26,000 ตร.กม.

เร่งค้นหา "เรือดำน้ำ" พาเที่ยวชมซากไททานิก สูญหายใต้ทะเล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Failed to load player resources

Please refresh the page to try again.

ERROR_BYTEARK_PLAYER_REACT_100001

00:00

00:00

ให้คะแนนการอ่านข่าวนี้