วันนี้ (5 มิ.ย.2566)นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้สัมภาษ์ไทยพีบีเอส ออนไลน์ว่า จากการพบโรคมาลาเรีย สายพันธุ์โนวไซ ระบาดในพื้นที่หมู่เกาะช้าง จ.ตราด โดยมีลิงเป็นตัวรังโรค จากนั้นเมื่อยุงก้นปล่องตัวเมียไปกัดลิง และมากัดคนทำให้เกิดโรคมาลาเรียสายพันธุ์โนวไซ ในคนได้
โดยจากการสอบสวนและเฝ้าระวังโรคของกรมอุทยานฯ และกรมควบคุมโรคติดต่อโดยแมลง สุ่มตรวจหาเชื้อจากยุงก้นปล่อง และพบตัวอย่างยุงที่เก็บได้บริเวณกลางสวนยางพารา ต.เกาะช้างใต้ เป็นยุงก้นปล่องในกลุ่มอะน็อคฟิลิส ไดรัส ซึ่งเป็น 1 ใน 5 สายพันธุ์ที่พบว่า เป็นพาหะนำโรคมาลาเรียในประเทศไทย
มาลาเรียสายพันธุ์โนวไซ แม้ยาปกติจะรักษาได้ แต่ความน่ากลัวของเชื้อมาลาเรียชนิดนี้ต้องเจาะเลือดตรวจเชื้อระบบ PCR เท่านั้น และยังมีอัตราการเสียชีวิตสูง เนื่องจากทำให้เม็ดเลือดแดงเกิดการแตกตัวไว จนทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะไตวายและเสียชีวิต

นายสัตวแพทย์ภัทรพล กล่าวอีกว่า เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติที่ทำงานกินนอนในป่า จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงมาก ทำให้นายอรรถพล เจริญชันษา รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานฯ จึงประสานงานกับกรมควบคุมโรคติดต่อโดยแมลง ในการร่วมมือป้องกันโรคมาลาเรียสายพันธุ์โนวไซ โดยล่าสุดได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนในการผลิตเสื้อกันยุงนาโน ซึ่งมีคุณสมบัติกันยุง
เสื้อกันยุงตัวนี้มีคุณสมบัติพิเศษคือเคลือบชุบน้ำยานาโน ป้องกันยุงได้ทุกชนิด ซักกี่ครั้งน้ำยาไม่หลุดลอก แต่เนื่องจากยังไม่มีเสื้อมุ้งกันยุง จึงต้องซื้อผ้ามุ้งมาสั่งตัดเป็นพิเศษ โดยจ้างชาวบ้านในการตัดเย็บแบบแขนยาวและมีฮูทคลุมในเวลานอน

เบื้องต้นจะมอบให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ใช้สวมใส่ในขณะปฎิบัติหน้าที่ในช่วงเวลากลางคืนที่ออกไปลาดตระเวน โดยจะนำร่องที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง จ.ตราด ซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดของมาเรียสายพันธุ์นี้ รวมทั้งแถบจ.ระนอง ตาก ราชบุรี จันทบุรี สงขลา และจะทยอยผลิตมอบให้ครบทุกแห่งทั่วประเทศ
โดย บางพื้นที่รอการตัดเย็บเสื้อกันยุงนาโน อาจใช้ลักษณะเป็นกองกลางสลับกันไปใช้ในการออกลาดตระเวนไปก่อน
นอกจากนี้ต้องให้คำแนะนำสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปเที่ยวป่า และเป็นพื้นที่ระบาดของมาลาเรียต้องติดตามสถานการณ์และป้องกันตัวเอง เพื่อลดความเจ็บป่วย นักท่องเที่ยว ควรป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด โดยการสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด ทายากันยุง และนอนในมุ้ง
อ่านข่าวเพิ่ม เตือนระวัง! ไข้มาลาเรียชนิด “โนวไซ” ติดต่อจากลิงสู่คนได้

สำหรับโรคไข้มาลาเรียสายพันธุ์โนวไซ (Plasmodium knowlesi) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานพบการระบาดเมื่อเดือนพ.ค.2565 โรคไข้มาลาเรียชนิดนี้ เป็นโรคไข้มาลาเรียที่ติดต่อจากลิงสู่คน โดยลิงที่เป็นสัตว์รังโรคในไทย ได้แก่ ลิงกัง ลิงวอก ลิงเสน ลิงแสม
และลิงอ้ายเงี๊ยะ
พบรายงานผู้ป่วยในไทยครั้งแรกเมื่อปี 2547 และพบปีละประมาณ 10 คนมาตลอด แต่ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2564 -31 มี.ค.2565 พบผู้ป่วยไข้มาลาเรียจากเชื้อชนิดนี้แล้ว 70 คน จังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จ.ระนอง สงขลา และตราด
โดยผู้ทีติดเชื้อมาลาเรียโนวไซ มีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น เหงื่อออกมาก ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรีย และแจ้งประวัติเข้าป่า เพื่อให้การรักษารวดเร็ว หากช้าอาจมีอาการแทรกซ้อนร้ายแรงและเสียชีวิตได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
จับยุงก้นปล่องบนเกาะช้างตรวจ "มาลาเรียโนวไซ"
สวนสัตว์สงขลาเตรียมจับ "ลิง" ตรวจหาเชื้อโรค-มาลาเรียโนวไซ