วันนี้ (30 พ.ค.2566) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จำเป็นต้องใช้มาตรการทางภาษีเป็นเครื่องมือบรรเทาผลกระทบจากภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น เพื่อลดแรงกดดันต่อราคาสินค้าและค่าครองชีพ
แต่ขณะนี้สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลง ส่งผลดีต่อฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฟื้นตัวและยังมีกรอบวงเงินกู้ สามารถบริหารจัดการราคาน้ำมันในประเทศได้ แต่หากต่ออายุมาตรการดังกล่าว ต้องนำเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณา เพราะมีผลผูกพันรัฐบาลใหม่และยังมีเวลาทบทวนในช่วง 2 เดือนข้างหน้า
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า กระทรวงการคลังดำเนินมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลมาอย่างต่อเนื่อง ระหว่างวันที่ 18 ก.พ.2565 - 20 ก.ค.2566 รวม 7 ครั้ง กระทบรายได้รัฐมากกว่า 158,000 ล้านบาท โดยฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฟื้นตัวดีขึ้นจากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก จากเดิมติดลบมากกว่า 120,000 ล้านบาท มาอยู่ที่ติดลบ 70,000 ล้านบาท
แต่ตั้งข้อสังเกตว่าค่าการตลาดที่ผู้ค้าน้ำมันได้รับสูงถึงลิตรละ 2-3 บาท เมื่อเทียบกับช่วงราคาน้ำมันแพงที่สามารถกำหนดค่าการตลาดได้ต่ำลิตรละ 50 สตางค์ จึงเห็นว่า กองทุนน้ำมันฯ สามารถบริหารจัดการภายในโครงสร้างราคาน้ำมันได้ และยังมีกรอบวงวงเงินกู้ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน จึงไม่จำเป็นต้องต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตดีเซล เพราะภาษีที่ควรจัดเก็บได้ควรนำไปพัฒนาประเทศมากกว่าอุดหนุนผู้ใช้น้ำมันบางส่วน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง