วันนี้ (29 พ.ค.2566) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออก โดยคาดว่าในเดือน มิ.ย.นี้ จะมีผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่มสูงขึ้น
ตั้งแต่เดือน ม.ค.2566 พบผู้ป่วยสะสม 16,650 คน สูงกว่าปีที่ผ่านมาหลายเท่าตัว จากเดิมในปี 2562 พบการระบาดสูง และการระบาดลดลงช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ก่อนกลับมาระบาดอีกครั้งในปีนี้ ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 17 คน แบ่งเป็นผู้ชาย 7 คน ผู้หญิง 10 คน ในจำนวนนี้ผู้เสียชีวิตอายุน้อยสุด 2 ปีและอายุมากสุด 51 ปี ปัจจัยการเสียชีวิตส่วนใหญ่ เป็นผู้สูงอายุ คนที่มีโรคประจำตัว มีภาวะอ้วน รวมถึงการวินิจฉัยที่ล่าช้าและแนวโน้มการป่วยพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก
ลักษณะอาการไข้เลือดออก ช่วงแรกจะวินิจฉัยได้ยาก เพราะมีอาการคล้ายโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยมักไปซื้อยามากินเอง ซึ่งยาที่ห้ามกินหากป่วยเป็นไข้เลือดออกคือ กลุ่มยาแอสไพรินและยาไอบรูโพรเฟน เนื่องจากเป็นกลุ่มยาที่ทำให้กระตุ้นเกิดเลือดออกได้ง่ายขึ้นและเสียชีวิตได้
อาการป่วยไข้เลือดออก เช่น ไข้สูงช่วง 3 วันแรก จากนั้นในวันที่ 4 ไข้ลดลง มีผิวแดง หน้าแดง ตาแดง ผิวแห้งและหิวน้ำบ่อย หากอาการไม่ดีขึ้นให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาไข้เลือดออกโดยเฉพาะ ซึ่งปัจจุบันเป็นการตรวจด้วยชุดตรวจเร็ว NS1 โดยการเจาะเลือดและสามารถรู้ผลในทันที
ส่วนปัจจัยสำคัญในการแพร่ระบาดของไข้เลือดออก คือ แหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย สธ.จึงกำชับให้สาธารณสุขจังหวัดสำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยเฉพาะวัด โรงเรียน สถานที่ราชการและโรงงาน
ขณะที่จังหวัดที่มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสูงในช่วง 4 สัปดาห์ ล่าสุดมี 5 จังหวัดแรกที่พบผู้ป่วยสูง ได้แก่ น่าน ตราด ชุมพร จันทบุรีและตาก ส่วน 10 จังหวัดพื้นที่เสี่ยงระบาด ได้แก่ ตาก ปทุมธานี สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร จันทบุรี ตราด ภูเก็ต สงขลา นราธิวาสและสตูล ซึ่งกรมควบคุมโรคได้แนะนำให้พื้นที่ดังกล่าวจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินโรคไข้เลือดออก
สำหรับกรณีชาวกะเหรี่ยงบางกลอยที่เสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออก นพ.โอภาส ระบุว่า ได้รับรายงานแล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติม
อ่านข่าวอื่นๆ
"ไข้เลือดออก" ระบาดปีนี้ป่วยแล้ว 1.5 หมื่นคน เสียชีวิต 13 คน
"SAVE บางกลอย" ตั้งคำถาม สปสช. กรณี "กิ๊ป" ป่วยเสียชีวิตไร้ จนท.ดูแล
โควิด-19 ระบาดสูง กทม.-ปริมณฑล สธ.ชี้คนไม่เคยติดเชื้อมาก่อน เสี่ยงติดรอบนี้