วันนี้ (11 พ.ค.2566) นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.ระบุภาพรวมการจัดการเลือกตั้งว่า ขณะนี้ กกต.ได้ส่งบัตรเลือกตั้งไปยัง 400 เขตแล้ว รวมทั้งได้ส่งบัตรลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า 7 พ.ค.ที่ผ่านมา ไปยังทั้ง 400 เขต ส่วนบัตรลงคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร จะทยอยส่ง
แจงคลิป จนท.กาบัตรลงคะแนน ข้อมูลเท็จ
เลขาธิการ กกต. กล่าวถึงกรณีพบการส่งต่อข้อมูลบิดเบือนทางอินเทอร์เน็ตว่า ขณะนี้ กกต.พบข่าวเท็จจำนวนมากในอินเทอร์เน็ต รวมทั้งกรณีการเผยแพร่คลิปที่อ้างว่าเจ้าหน้าที่ทำการลงคะแนนลงบนบัตรเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการบิดเบือนให้เข้าใจผิด เพราะความจริงแล้วเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) อยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ เซ็นต์ส่งมอบบัตรตามกฎหมายด้านหน้าซองและได้มีการบันทึกภาพต่าง ๆ ไว้เป็นหลักฐานในการทำงานเพื่อความโปร่งใส ทั้งนี้ขอทุกฝ่ายช่วยกันทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย อย่าใช้วิธีการบิดเบือนทำลายบรรยากาศเลือกตั้ง
ยืดเวลาเห็นชอบใช้งบกลางแก้ค่าไฟแพง
นายแสวง ยังระบุถึงกรณี ครม. เห็นชอบให้กระทรวงพลังงานได้รับการจัดสรรงบประมาณสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินจำเป็น เพื่อดำเนินมาตรการช่วยเหลือประชาชนจากปัญหาค่าไฟฟ้าราคาแพง โดย กกต. พิจารณาแล้วเห็นว่า กกต.ยังมีรายละเอียดและข้อคำถามที่ต้องการให้สำนักงบประมาณและกระทรวงพลังงานรายงานมาเพิ่มเติม ประกอบเป็นข้อมูลการพิจารณาของ กกต.ให้ครบถ้วนในประเด็นเกี่ยวกับเหตุผล ความจำเป็นเร่งด่วนและการดำเนินการตามระเบียบว่าด้วยบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง และ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง ในการขอใช้งบกลาง
ทั้งนี้ได้ทราบจากผู้แทนกระทรวงพลังงานว่า หากมีการพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้งภายในวันที่ 15 พ.ค.2566 ก็ไม่ส่งผลต่อความเร่งด่วนในการดำเนินการ จึงมีมติให้สำนักงบประมาณและกระทรวงพลังงาน ชี้แจงข้อมูลความเห็นดังกล่าวคาดว่าจะส่งมายัง กกต. ภายในวันพรุ่งนี้ (12 พ.ค.) เพราะเป็นเรื่องด่วน และให้สำนักงานนำเรื่องข้อมูลเข้าที่ประชุมในช่วงเช้าของวันที่ 15 พ.ค.2566
ปม "พิธา" ถือหุ้นสื่อ ต้องให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย
นายแสวง ระบุถึงกรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่น กกต. ตรวจสอบปมนายพิธา ถือหุ้นสื่อไอทีวี ว่า เรื่องนี้ต้องให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย โดยจะมีการพิจารณาในครั้งช่วง คือ ช่วงก่อนวันเลือกตั้ง หลังวันเลือกตั้งและช่วงประกาศผลเลือกตั้งไปแล้ว
เรื่องนี้เป็นการร้องในประเด็นคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้าม ถ้าก่อนวันเลือกตั้ง กกต.ตรวจสอบแล้วถึงว่า ไม่มีคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามจะต้องยื่นต่อศาลฎีกา แต่ถ้าผ่านพ้นวันเลือกตั้งไปแล้ว กรณีเห็นว่าไม่มีคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม กกต.อาจดำเนินคดีอาญา เพราะเป็นการรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง
กรณีที่ 3 ถ้าประกาศผลการเลือกตั้งไปแล้ว และถือว่าตัวผู้สมัครรู้อยู่แล้วว่าตัวเองไม่มีสิทธิแล้วมาสมัครก็ต้องดำเนินการรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ให้พ้นจากสมาชิกภาพ ซึ่งเคยดำเนินการมาแล้วหลังกรณีมีลักษณะนี้ กระบวนการทั้งหมดเลยเกิดความเป็นธรรมต่อผู้ร้องผู้ถูกร้อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เลือกตั้ง2566 : เปิด 46 หุ้นต้องห้าม! ที่นักการเมืองห้ามถือ
เตะตัดขา สกัด "พิธา" นั่งนายกฯ
เลือกตั้ง2566 : กกต.กำชับ ผอ.กกต.จังหวัด คุมเข้มเลือกตั้ง 14 พ.ค.